QTC มั่นใจปี 61 เทิร์นอะราวด์ ปักธงรายได้แตะ 1 พันลบ. รับยอดขายหม้อแปลงโต
QTC มั่นใจปี 61 เทิร์นอะราวด์ ปักธงรายได้แตะ 1 พันลบ. รับยอดขายหม้อแปลงโต เดินหน้าประมูลงานการไฟฟ้าต่อเนื่องทั้งราชการและเอกชน
นายพูลพิพัฒน์ ตันธนสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ QTC เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่ารายได้ในปี 2561 จะอยู่ที่ประมาณ 900-1000 ล้านบาท จากการรับรู้รายได้การขายหม้อแปลงจากงานเอกชน ขายต่างประเทศ งานโซล่าร์สหกรณ์ และการรับรู้รายได้จากธุรกิจพลังงานเต็มปี หลังจากซื้อกิจการ L-SOLAR รวมถึงโครงการโรงไฟฟ้ามินบู เฟส 1 ที่จะเปิดดำเนินการขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในกลางปี 2561
สำหรับธุรกิจการผลิตและจำหน่ายหม้อแปลงในปี 2561 บริษัทมีแผนทำการตลาดอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ลาว และกัมพูชา โดยเฉพาะหม้อแปลง AMORPHOUS ซึ่งสามารถช่วยลดการใช้พลังงานลงถึง 30% ของการใช้พลังงานปกติของผู้ประกอบการ
อีกทั้งยังช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าสู่ชั้นบรรยากาศ อันเป็นต้นเหตุของปัญหาโลกร้อนในปัจจุบัน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของบริษัทในด้าน CSR
ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทมียอดขายหม้อแปลงในมือ (backlog) จำนวน 200 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้ในปี2561 อีกทั้งยังมีแผนการเข้าประมูลงานการไฟฟ้าภูมิภาค (กฟภ), การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) อย่างต่อเนื่อง
“ในปี 61 ผลงานของบริษัทจะมีการปรับตัวที่ชัดเจนมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีการแข่งขันค่อนข้างสูงในเรื่องของราคา ซึ่งในปี61 บริษัทจะมีการทำการตลาดเชิงรุกในส่วนของหม้อแปลง AMORPHOUS ที่มีความโดดเด่นในเรื่องของประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างดี พร้อมเตรียมเข้าประมูลงานของหน่วยงานราชการและภาคเอกชนเพื่อให้ได้งานเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่มีงานอยู่ในมือแล้วกว่า 200 ล้านบาท” นายพูลพิพัฒน์ กล่าว
สำหรับการลงทุนในธุรกิจพลังงานในขณะนี้ บริษัท คิวทีซี โกลบอล เพาเวอร์ จำกัด (QTCGP) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ QTC ที่ถือหุ้น 100% ในบริษัท แอล โซล่าร์ 1 จำกัด เพื่อลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญา 8 เมกะวัตต์ ที่อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยคาดว่าปี 61 จะมีรายได้ประมาณ 140 ล้านบาท
ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบู ที่เมียนมาร์ ขนาดกำลังการผลิต 220 เมกะวัตต์ นั้น คาดจะเสร็จสิ้นและพร้อมเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ระยะที่ 1 ขนาดการผลิต 50 เมกะวัตต์ในช่วงกลางปี 2561 และรับรู้รายได้ในไตรมาส 3/2561
อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าการเจรจาการลงทุนโครงการในอนาคต เช่น โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนในปี 2561 อย่างน้อย 1 โครงการ เพื่อสร้างความมั่นคงของการรับรู้รายได้ให้กับบริษัทในระยะยาว