ลือสนั่น! “พิชญ์” ทุ่ม 2.6 พันลบ.แปลง JAS-W3 พบกำไรสะสมเหลือเพียบ จับตาข่าวดีปันผลหนัก
วงในระบุ “พิชญ์” ใช้สิทธิแปลง JAS-W3 เป็นหุ้น JAS 747.81 ล้านหุ้น พร้อมรับทันที 3 เด้ง เริ่มด้วยปันผลจากกำไรสะสม 0.46 บาท แถมได้ส่วนราคาหุ้นในกระดาน และมีโอกาสรับเงินปันผลพิเศษจากการขายสินทรัพย์เข้า JASIF ภายในปีนี้ อีก 2-4 บาท
จากกรณีบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS แจ้งรายงานการใช้สิทธิแปลงสภาพใบสำคัญแสดงสิทธิในการจองซื้อหุ้นสามัญบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 3 หรือ JAS-W3 เป็นหุ้นสามัญประจำงวดวันที่ 29 ธ.ค. 2560 รวมทั้งสิ้น 679,216,181 หน่วย คิดเป็นมูลค่าการแปลงสภาพกว่า 2.6 พันล้านบาท ส่งผลให้มีจำนวนหุ้นสามัญที่เกิดจากการใช้สิทธิรอบนี้รวมทั้งสิ้น 747,817,010 หุ้น
ด้านแหล่งข่าวจากวงการตลาดทุน เปิดเผยกับทีมข่าว “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า เบื้องต้นมีแนวโน้มที่ผู้ใช้สิทธิแปลงสภาพครั้งนี้ คือ นายพิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JAS และผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ของบริษัทฯ โดยมองว่าช่วงที่ผ่านมา นายพิชญ์ ได้แสดงความต้องการถือครองหุ้น JAS เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนได้ชัดเจนมากขึ้นหลังจากนายพิชญ์ได้ประกาศทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ (Tender Offer) หุ้น JAS เมื่อช่วงปี 2559 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ นายพิชญ์จะได้รับประโยชน์หลังการแปลงสิทธิ JAS-W3 ครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในส่วนของการรับเงินปันผลที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนหุ้นที่ถือครองอยู่มากขึ้น ซึ่งโดยปกติ JAS มักประกาศจ่ายเงินปันผลหลังประกาศผลการดำเนินงานประจำปีโดยทันที
ขณะที่ประเด็นข้างต้น ถือเป็นเรื่องน่าจับตามองอย่างยิ่งหากว่า นายพิชญ์เป็นผู้แปลงสิทธิ JAS-W3 ในครั้งนี้จริง โดยคาดการณ์ว่า การจ่ายเงินปันผลที่กำลังจะมีการประกาศนั้นจะออกมาในอัตราที่สูงกว่าที่เคยเกิดขึ้น ซึ่งจะประกอบด้วยส่วนที่มาจากผลการดำเนินงานปกติ และกำไรสะสม (Retained Earnings) บางส่วนหรือว่าเต็มจำนวน
จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า ผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนแรกปี 2560 ที่ผ่านมา JAS มีรายได้รวมทั้งสิ้น 1.37 หมื่นล้านบาท และมีกำไรสุทธิจำนวน 1.78 พันล้านบาท ขณะที่บริษัทฯมีจำนวนหุ้นก่อนหน้าการแปลงสิทธิครั้งล่าสุดอยู่ราว 6.35 พันล้านหุ้น ส่งผลให้มีกำไรสุทธิต่อหุ้นอยู่ที่ 0.28 บาท โดยจากนี้ต้องรอติดตามผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 4 ที่กำลังจะมีการประกาศออกมาในเร็วๆ นี้ ซึ่งหากปรากฏตัวเลขกำไรออกมาได้ก็จะส่งผลให้มีกำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้น และหมายถึงโอกาสที่บริษัทฯจะสามารถจ่ายเงินปันผลได้สูงขึ้นด้วย
ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานตัวเลขกำไรสะสมของ JAS พบว่า ปัจจุบันบริษัทฯมีกำไรสะสมที่ยังไม่ได้จัดสรรอยู่ราว 3.32 พันล้านบาท ถือเป็นประเด็นสำคัญว่าจะมีการนำเอากำไรสะสมดังกล่าวมาจ่ายปันผลด้วยหรือไม่และเท่าไหร่ ซึ่งแหล่งข่าวรายเดียวกันมองว่า มีโอกาสสูงที่คณะกรรมการบริษัทฯจะพิจารณาอนุมัติให้มีการจ่ายปันผลจากกำไรสะสมบางส่วน หรือว่าเต็มจำนวนด้วย เนื่องจากบริษัทฯได้รับเงินจากการแปลงสิทธิ JAS-W3 ครั้งนี้ไปกว่า 2.6 พันล้านบาทแล้ว ส่งผลให้มีความจำเป็นในการรักษาระดับ “รีเทนด์ เอิร์นนิ่ง” ลดลง อีกทั้งยังมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดอีกจำนวนราว 1.34 พันล้านบาท
โดยตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา JAS เคยจ่ายปันผลจากกำไรสะสมมาแล้วทั้งสิ้น 4 ครั้งด้วยกัน ครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2559 จำนวน 0.15 บาท ถัดมาวันที่ 9 ธ.ค. 2559 จำนวน 0.15 บาท ต่อมา 25 พ.ค. 2560 จำนวน 0.25 บาท และครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2560 จำนวน 0.20 บาท ซึ่งคิดเป็นการจ่ายเงินปันผลจากกำไรสะสมรวมกันทั้งสิ้น 0.75 บาทในระยะเวลาประมาณ 17 เดือน
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีรายงานอย่างเป็นทางการว่า นายพิชญ์เป็นผู้แปลงสิทธิดังกล่าวหรือไม่ รวมถึงยังไม่มีรายงานว่า JAS จะมีการจ่ายเงินปันผลจากกำไรสุทธิงวดปี 2560 หรือจากกำไรสะสมด้วยเท่าไหร่ เนื่องจากต้องรอการประกาศผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 4 แล้วเสร็จ และคณะกรรมการบริษัทฯยังต้องพิจารณาอนุมัติอีกด้วย
ทั้งนี้ จากการประเมินเบื้องต้นหากว่าจะมีการจ่ายปันผลจากกำไรสะสมเกิดขึ้นจริง ผู้ถือหุ้น JAS มีโอกาสได้รับเงินปันผลสูงสุดราว 0.46 บาทต่อหุ้น จากการนำเอาตัวเลขกำไรสะสมที่ยังไม่ได้จัดสรร จำนวน 3.32 พันล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นหลังการแปลงสิทธิ JAS-W3 ราว 7.42 พันล้านหุ้น โดยไม่รวมถึงเงินปันผลจากกำไรสุทธิ
นอกเหนือจากประเด็นเรื่องเงินปันผลจากกำไรสุทธิ และ/หรือเงินปันผลจากกำไรสะสม แหล่งข่าวรายเดียวกันมองด้วยว่า นายพิชญ์ยังได้รับประโยชน์จากส่วนต่างมูลค่าหุ้น (Capital Gain) หลังการแปลงสิทธิเป็นหุ้นสามัญ JAS ด้วย โดยบริษัทฯได้ทำการออก JAS-W3 มาในช่วงต้นปี 2558 จำนวนราว 3.5 พันล้านหน่วย โดยจัดสรรในอัตรา 2.04 หุ้นเดิมต่อ 1 วอร์แรนต์ (หน่วย) ซึ่งขณะนั้นนายพิชญ์ถือหุ้น JAS อยู่ราว 1.84 พันล้านหุ้น ส่งผลให้ได้รับการจัดสรร JAS-W3 ไปถึงประมาณ 900 ล้านหน่วยโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ต่อมาในปี 2559 ช่วงนายพิชญ์อยู่ระหว่างการทำคำเสนอซื้อหุ้น JAS และใบสำคัญแสดงสิทธิ JAS-W3 ได้มีการเข้าซื้อวอร์แรนต์เพิ่มเติมเข้ามาราว 650 ล้านหน่วยที่ต้นทุน 3.68 บาทต่อหน่วย และยังได้ซื้อผ่านการทำคำเสนอซื้ออีกราว 315.31 ล้านหน่วยที่ราคาเดียวกัน ส่งผลให้นายพิชญ์เคยถือครอง JAS-W3 สูงสุดที่ประมาณ 1.98 พันล้านหน่วย
ทั้งนี้ ราคาการแปลงสิทธิ JAS-W3 เป็นหุ้นสามัญ JAS อยู่ที่ 3.904 บาท ที่อัตรา 1 วอร์แรนต์ ต่อ 1.101 หุ้น หากเปรียบเทียบจากราคาปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (5 ม.ค.) ของหุ้น JAS ที่ระดับ 7.40 บาท กับต้นทุนเฉลี่ย JAS-W3 ของนายพิชญ์ซึ่งมีทั้งได้รับมาแบบไม่มีค่าใช้จ่าย และการทำรายการซื้อ พบว่า นายพิชญ์มีกำไรทางบัญชีอยู่ในระดับที่สามารถจูงใจให้ใช้สิทธิการแปลงได้
อนึ่ง เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2560 นายพิชญ์ได้ทำรายการขาย JAS-W3 ให้กับบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด หรือ SCBS จำนวน 650 ล้านหน่วยผ่านการซื้อขายขนาดใหญ่ (Big Lot) จำนวน 8 รายการ ได้รับเงินทั้งสิ้นราว 2.21 พันล้านบาท ซึ่งเบื้องต้นมีการตั้งข้อสังเกตว่า นายพิชญ์ได้ใช้เงินจำนวนดังกล่าวสำหรับการแปลงสิทธิวอร์แรนต์บางส่วนในครั้งนี้หรือไม่ โดยมูลค่าการแปลงสิทธิทั้งหมดอยู่ที่กว่า 2.6 พันล้านบาท
พร้อมกันนี้ปีนี้ JAS มีแนวโน้มการจ่ายปันผลพิเศษจากการขายสินทรัพย์ในบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (TTTBB) ให้กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (JASIF) มูลค่า 5-7 หมื่นล้านบาทที่คาดว่าจะบันทึกกำไรจากการขายสินทรัพย์ดังกล่าวประมาณ 1.20-2.50 หมื่นล้านบาท ทำให้ JAS มีโอกาสจ่ายเงินปันผลพิเศษขั้นต่ำหุ้นละ 2-4 บาท
ดังนั้นหากอ้างอิงข้อมูลการถือครองหุ้นล่าสุดของนายพิชญ์ 4,295 ล้านหุ้น บวกกับที่ใช้สิทธิแปลงสภาพ JAS-W3 เข้ามาอีก 747.81 ล้านหุ้น ส่งผลให้นายพิชญ์มีหุ้น JAS ในมือรวมทั้งสิ้น 5,000 ล้านหุ้น จึงเท่ากับมีโอกาสได้เงินจากปันผลพิเศษเป็นมูลค่าถึง 10,000-20,000 ล้านบาท