จับตา! ร้านค้าชุมชนขนเงินตุนสินค้า HMPRO-GLOBAL-ROBINS รับ”รูดปรื๊ดประชารัฐ”
HMPRO-GLOBAL และ ROBINS เด้งรับมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยระยะที่ 2 ผ่าน ธ.ก.ส. และออมสิน 18 โครงการ วงเงิน 35,679 ล้านบาท หลังครม.อนุมัติ ให้เงินทุนหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจขนาดเล็ก และเพิ่มค่าใช้จ่ายซื้อสินค้าจาก 300 บาท เป็น 500 บาท ดันจีดีพีโต 0.06% ต่อปี โบรกฯ ให้ราคาเป้าหมาย HMPRO เป้า 14.10 บาท
นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริหารการลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสิน เปิดเผยว่า มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เฟส 2 คาดว่าจะส่งผลดีต่อกลุ่มการบริโภค โดยการกระตุ้นกำลังซื้อระดับล่าง และกลุ่มเกษตรกร ได้แก่ หุ้นบริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ HMPRO, บริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ GLOBAL และบริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน) หรือ ROBINS
ด้าน นายอภิสิทธิ์ รุจิเกียรติกำจร ประธานกรรมการ GLOBAL เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 61 เติบโตประมาณ 10% ระดับเดียวกับปี 60 ที่คาดว่ารายได้จะเติบโต 10% จากปี 59 ที่มีรายได้ 19,474.11 ล้านบาท เนื่องจากมีสาขาเพิ่มขึ้นเป็น 55 สาขาตามแผนที่วางไว้
ขณะเดียวกัน บล.เออีซี ระบุในบทวิเคราะห์ แนะ “ซื้อ” หุ้น HMPRO จากผลดำเนินงานที่ยังมีโมเมนตัมโตต่อเนื่อง บวกกับราคาหุ้นปัจจุบันยังมีอัพไซด์ จากมูลค่าพื้นฐานปี 61 ที่ 14.10 บาท
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์กล่าวด้วยว่า หุ้นค้าปลีกดังกล่าวจะได้รับประโยชน์จากผู้ประกอบการที่เป็นร้านค้าในชุมชนต่างๆ จะเข้ามาซื้อสินค้าแล้วจะนำไปขายให้กับคนในชุมชนที่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ
ขณะเดียวกัน วานนี้ (9 ม.ค.) ครม.มีมติออกมา ทำให้หุ้น HMPRO ราคากระโดดขึ้นมาทันทีและมาปิดตลาดที่ 14.00 บาท เพิ่มขึ้น 0.70 บาท เปลี่ยนแปลง 5.26% มูลค่าการซื้อขาย 1,357 ล้านบาท ส่วนหุ้น GLOBAL ปิดตลาด 17.90 บาท เพิ่มขึ้น 0.40 บาท เปลี่ยนแปลง 2.29 บาท มูลค่าซื้อขาย 142.6 ล้านบาท
โดย นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบในหลักการมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยระยะที่ 2 โดยสั่งการให้ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ดำเนิน 6 มาตรการ 18 โครงการ ซึ่งใช้งบประมาณจากการทำบัญชีโครงการตามนโยบายของรัฐ หรือ PSA รวมทั้งหมด 35,679 ล้านบาท เบื้องต้นเชื่อว่าจะมีผู้มีรายได้น้อยได้ประโยชน์ 4.7 ล้านราย
พร้อมกันนี้ยังได้อนุมัติเพิ่มเติมสำหรับค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจากเดิม 200 บาท จะได้เพิ่มเป็น 300 บาท และคนที่เคยได้ 300 บาท จะเพิ่มเป็น 500 บาท สำหรับผู้ที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาตนเองในครั้งนี้ด้วย โดยให้มีผลในเดือนมีนาคม 61
โดยธนาคารออมสินนั้นมีวงเงินช่วยเหลือรวมกว่า 12,000 ล้านบาท ประกอบด้วย สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้มีรายได้น้อยรายละไม่เกิน 50,000 บาท เพื่อใช้เป็นเงินในการสร้างอาชีพเสริม หรือหารายได้เพิ่ม เช่น การทำธุรกิจแฟรนไชส์ เปิดร้านค้าสตรีทฟู้ด และธุรกิจโฮมสเตย์ ซึ่งจะทำให้กลุ่มคนเหล่านี้มีเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจขนาดเล็กของตนเองได้มากขึ้น
ขณะเดียวกันธนาคารออมสินยังส่งเสริมวินัยการออม ด้วยการสนับสนุนการออมของผู้ที่มีรายได้น้อย นอกจากนี้ภาคเอกชนที่มีรายจ่ายจากการจ้างผู้มีรายได้น้อยทำงานและจ่ายค่าอบรมต่อเนื่อง จะสามารถนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาหักลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่าเป็นระยะเวลา 2 ปี หรือถึงธันวาคม 62
ด้าน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ได้มีมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่มีรายได้น้อย ด้วยการผ่อนปรนดอกเบี้ย หลักประกัน วงเงินกู้ และการขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ 3 มาตรการ 9 โครงการ วงเงินรวม 95,000 ล้านบาท คือ มาตรการลดภาระหนี้สินทั้งในและนอกระบบ 5 โครงการ
โดยประกอบด้วย โครงการการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของผู้มีรายได้น้อย ซึ่งคาดว่าจะรับภาระดอกเบี้ยแทนผู้มีรายได้น้อย 3,847 ล้านบาท โครงการชำระดีมีคืนวงเงินรวม 4,620 ล้านบาท โครงการแก้ไขหนี้นอกระบบของเกษตรกรและบุคคลในครัวเรือนวงเงินสินเชื่อ 19,000 ล้านบาท โครงการสินเชื่อสนับสนุนกองทุนหมู่บ้านเพื่อแก้ไขหนี้นอกระบบ วงเงิน 1,000 ล้านบาท และโครงการสนับสนุนสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินระยะที่ 2 วงเงิน 10,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ มีมาตรการการพัฒนาตนเอง ผ่านโครงการให้ความรู้ทางการเงินแก่เกษตรกรลูกค้า และโครงการเงินฝากกองทุนทวีสุข กองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. โดยมีกลุ่มเป้าหมายผู้ออม 90,000 ราย การพัฒนาอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ 2 มาตรการ คือ โครงการสินเชื่อชุมชนปรับเปลี่ยนการผลิต เพื่อพัฒนาอาชีพ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนและเงินลงทุนในการพัฒนาอาชีพ วงเงินในการดำเนินการ 4,875 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส.จำนวน 3.50% ต่อปี ระยะเวลารวม 3 ปี รวมเป็นเงิน 4,725 ล้านบาท
โดยให้ ธ.ก.ส.เสนอขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง และขอสนับสนุนการฝึกอบรมอีกปีละ 50 ล้านบาท รวม 3 ปี 150 ล้านบาท โดยเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2561-2566 และโครงการสินเชื่อเพื่อพัฒนาอาชีพของผู้มีรายได้น้อย โดยมีกลุ่มเป้าหมาย 4 แสนราย วงเงินสินเชื่อ 2 หมื่นล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน ให้รายละไม่เกิน 50,000 บาท คิดดอกเบี้ยเงินกู้ 6 เดือนแรก 0% จากนั้นคิดอัตราดอกเบี้ย MRR ที่ปัจจุบันอยู่ที่ 7%
ส่วน นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. เปิดเผยว่า หากสามารถดำเนินการมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยได้ตามเป้าหมายจะช่วยสนับสนุนและกระตุ้นอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ได้ประมาณ 0.06% ต่อปี