โผล่ชื่อ “ทัตซึยะ” ร่วมวงสินเชื่อฉาว GL กระอัก! มูลค่าฟ้อง GLH สูงเกินทุน

โผล่ชี่อ 3 บอร์ด GLH “ทัตซึยะ-มุเนะโอะ-เรจิส มาร์แต็ง” นั่งควบบอร์ด GL ส่อเข้าข่ายเกี่ยวพันคดีธุรกรรมฉ้อฉลร่วมกับ GLH ด้วย แถมปัญหา JTA ฟ้องเรียกคืนหุ้นกู้ 5,760 ล้านบาท สูงเกินกว่าทุนจดทะเบียน GLH ที่มีเพียง 5,160 ล้านบาท ส่งผล GL หนีไม่พ้นต้องร่วมรับความเสี่ยงด้วย


สืบเนื่องจากกรณี J Trust Co., Ltd. (J Trust) หรือกลุ่มเจทรัสต์ ดำเนินการทางกฎหมายกับบริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) หรือ GL และบุคคลอื่นในประเทศไทย ประเทศสิงคโปร์และเกาะบริติชเวอร์จิ้น

โดยเรียกร้องการชำระคืนด้วยการยกเลิกสัญญาการลงทุนและการจองซื้อหุ้นกู้แปลงสภาพ 180 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 5,760 ล้านบาท กับ GL และกรรมการที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยื่นฟ้องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และกองปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ECD) ต่อ GL และนายมิทซึจิ โคโนชิตะ อดีตประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GL

นอกจากนี้ JTA ได้ยื่นฟ้องต่อ Group Lease Holdings Pte. Ltd. บริษัทย่อยของ GL จดทะเบียนในประเทศสิงคโปร์ พร้อมยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวต่อศาลแห่งประเทศสิงคโปร์ และศาลแห่งประเทศสิงคโปร์ได้มีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องดังกล่าว

โดยศาลแห่งประเทศสิงคโปร์ได้สั่งห้าม GLH ไม่ให้ดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของตนที่อยู่ในประเทศสิงคโปร์ หรือจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินออกจากประเทศสิงคโปร์ ในมูลค่าไม่เกิน 180 ล้านเหรียญสหรัฐ

จากการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมของ ข่าวหุ้นธุรกิจ” พบว่า นอกจากคณะกรรมการของ GLH จะมีรายชื่อของนายมิทซึจิ โคโนชิตะ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ GLH แล้ว ยังปรากฏรายชื่อนายทัตซึยะ โคโนชิตะ, นายมุเนะโอะ ทาชิโร่, นายเรจิส มาร์แต็ง ดำรงตำแหน่งกรรมการของ GLH (อ้างอิงตามหนังสือชี้แจงของ GL เกี่ยวกับประเด็นข้อสังเกตของผู้สอบบัญชีกรณีเงินให้กู้ยืมและดอกเบี้ยค้างรับ เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2560) ที่ชี้แจงผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จากข้อมูลปัจจุบัน พบว่า กรรมการทั้ง 3 ราย ยังดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการและกรรมการ GL อีกด้วย

ดังนั้นเท่ากับว่าการทำธุรกรรมฉ้อฉลของ GLH นั้นเกี่ยวข้องโดยตรงกับคณะกรรมการของ GL ถึง 3 รายด้วยกัน ซึ่งการทำธุรกิจการเงินจะต้องผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการก่อนที่จะเข้าทำรายการ จึงเป็นที่น่าจับตากรณีที่เกิดขึ้นกับ GLH จะมีผลในเรื่องของจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจของผู้บริหารหรือไม่

ขณะเดียวทุนจดทะเบียนของ GLH เท่ากับ 214.45 ดอลลาร์สิงคโปร์ คิดเป็น 161 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 5,160 ล้านบาท (อ้างอิงตามหนังสือชี้แจงเกี่ยวกับประเด็นข้อสังเกตของผู้สอบบัญชีกรณีเงินให้กู้ยืมและดอกเบี้ยค้างรับเมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2560 ของ GL ที่ชี้แจงผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย) จึงเท่ากับว่ามูลค่าเรียกค่าเสียหายที่ทางกลุ่ม J Trust ฟ้องร้องมากกว่าทุนจดทะเบียน GLH ประมาณ 600 ล้านบาท ทำให้มีความเสี่ยงว่า GL อาจต้องมีการตั้งสำรองส่วนเกินดังกล่าวหรือไม่

 

ขณะที่นายทัตซึยะ โคโนชิตะ ประธานกรรมการ GL ออกมาชี้แจงผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2561 ที่ผ่านมาว่า การยกเลิกการลงทุนของ J Trust Asia Pte. Ltd. (JTA) ในหุ้นกู้แปลงสภาพของบริษัทและการดำเนินการทางกฎหมายกับบริษัทและบุคคลอื่นๆ ในประเทศไทย ประเทศสิงคโปร์และเกาะบริติช เวอร์จิ้นนั้น การดำเนินการทางกฎหมายของ JTA กับบริษัททั้งหมด ไม่ได้มีผลทำให้การประกอบธุรกิจของบริษัทจะต้องหยุดชะงัก

ทั้งนี้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจการค้าได้ตามปกติ ตลอดจนกระบวนการทางกฎหมายเหล่านั้น อยู่ระหว่างช่วงเริ่มต้น โดยที่ศาลไม่ได้มีคำวินิจฉัยในเนื้อหาของข้อพิพาท

ขณะที่คำสั่งของศาลไม่ได้ห้าม GLH ดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินในทางที่เป็นการค้าอันปกติและโดยสมควรด้วยเหตุที่การค้าปกติของ GLH นั้น รวมถึงการบริหารจัดการเงินและการลงทุนของบริษัทในบริษัทในเครือต่างๆ ในทวีปเอเชีย GLH จึงยังคงจะสามารถทำธุรกรรมต่างๆ ในทางที่เป็นการค้าอันปกติได้

นอกจากนี้ยังมีการโต้แย้งว่า คำสั่งห้ามดังกล่าว ศาลแห่งประเทศสิงคโปร์ ได้ออกคำสั่งให้แก่ JTA สืบเนื่องมาจากการร้องขอของ JTA โดยฝ่ายเดียว ซึ่งหมายความว่า ศาลได้ออกคำสั่งห้ามดังกล่าว โดยพิจารณาแต่เพียงคำร้องของ JTA เท่านั้น โดยไม่ได้รับฟังพยานหลักฐาน หรือข้อโต้แย้งใดๆ ของ GLH นอกจากได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นความจริงแล้วแต่อย่างใด เนื่องจากในการพิจารณาสำหรับการออกคำสั่งดังกล่าว ศาลยังไม่ได้วินิจฉัย ในเนื้อหาแห่งคดีว่ามีการกระทำฉ้อฉลตามข้อกล่าวอ้างหรือไม่

นอกจากนี้คำสั่งนั้นไม่มีผลบังคับต่อทรัพย์สินของบริษัทในประเทศไทย เนื่องจากบริษัทไม่ใช่บุคคลที่ถูกฟ้องในกระบวนการทางกฎหมายที่กล่าวมาข้างต้น และไม่ใช่บุคคลที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งห้ามดังกล่าว ดังนั้นบริษัทจึงขอยืนยันว่าคำสั่งดังกล่าวจะไม่ทำให้ธุรกิจของบริษัทต้องหยุดชะงัก ธุรกิจของบริษัทจะยังดำเนินต่อไป

นอกจากนี้กรณีนายทัตซึยะชี้แจงอีกว่า การถูกยื่นฟ้องนั้นไม่มีผลบังคับต่อทรัพย์สินของบริษัทในประเทศไทย ขณะที่ปัจจุบันนี้บริษัทไม่ได้มีสถานะเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ตามงบแสดงฐานะทางการเงินบริษัท ล่าสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2560 ที่เปิดเผยต่อสาธารณชน มูลค่าสินทรัพย์รวมทั้งหมดของบริษัท มีมากกว่าจำนวนหนี้สินรวมทั้งหมดของบริษัท

รวมทั้งการดำเนินธุรกิจของบริษัท มิได้ประสบปัญหาทางการเงินหรือขาดสภาพคล่องแต่อย่างใด กรณีนี้จึงยังไม่เข้าหลักเกณฑ์การขอฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายล้มละลาย และไม่มีเหตุผลหรือความจำเป็นใด ที่บริษัทต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ จากการตรวจสอบข้อมูลของ “ผู้สื่อข่าว” พบข้อมูลเพิ่มเติมว่า มูลค่าที่ JTA ฟ้องร้อง GLH อยู่ที่ 180 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 5,760 ล้านบาท (ณ อัตราแลกเปลี่ยน 32.56 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ)

 

Back to top button