KTC ติดเทอร์โบ! ซิ่งแรงกว่า 10% ทุบ “ออลไทม์ไฮ” รับกำไรปี 60 โตกระฉูด

KTC ติดเทอร์โบ! ซิ่งแรงกว่า 10% ทุบ "ออลไทม์ไฮ" รับกำไรปี 60 โตกระฉูด ล่าสุด ณ เวลา 10.24 น. อยู่ที่ 214 บาท บวก 20.50 บาท หรือ 10.59% สูงสุดที่ 222 บาท ต่ำสุดที่ 205 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 380.61 ล้านบาท ด้าน โบรกฯ เชียร์ซื้อ คาดปี 61 กำไรโตต่อเนื่อง


ผุ้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้น บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC ล่าสุด ณ เวลา 10.24 น. อยู่ที่ 214 บาท บวก 20.50 บาท หรือ 10.59% สูงสุดที่ 222 บาท ต่ำสุดที่ 205 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 380.61 ล้านบาท

ทั้งนี้ ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น หลังจาก KTC ประกาศผลการดำเนินงานประจำปี 2560 โต 32% มาที่ 3.30 พันล้านบาท จากปีก่อนมีกำไร 2.49 พันล้านบาท นอกจากนี้ราคาหุ้นยังสูงสุดนับตั้งแต่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เมื่อวันที่ 28 ต.ค.2545

ด้าน บล.เออีซี ระบุในบทวิเคราะห์ ปรับคำแนะนำจาก “ถือ” เป็น “ซื้อ” KTC และปรับราคาเป้าหมายเป็น 214.50 บาทต่อหุ้น โดยกำไรไตรมาส 4/60 KTC มีกำไรสุทธิ 939 ล้านบาท โตเด่น 46.7% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนทำจุดสูงสุดใหม่รายไตรมาส

โดยมีปัจจัยหนุนจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิโต 10% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแม้บรรยากาศจับจ่ายซบเซาในช่วงไว้อาลัย แต่บริษัทยังสามารถรักษาระดับการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อรวมได้ที่ 7% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน (บัตรเครดิต โต 5%เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน, สินเชื่อส่วนบุคคล โต 13% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน) สอดคล้องกับปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรและจำนวนฐานสมาชิกที่โตได้ดีกว่าอุตสาหกรรม สะท้อนความสำเร็จของการดึงดูดลูกค้าด้วยจุดเด่นด้านกิจกรรมการตลาดที่โดนใจ

รวมทั้งรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยโต 5.9% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน หนุนด้วยรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการที่เพิ่มขึ้น 3.9% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปริมาณธุรกรรมที่สูงขึ้นตามขนาดพอร์ตลูกหนี้ รวมทั้งมีรายได้จากหนี้สูญรับคืนโต 19.5% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังคุณภาพของสินทรัพย์ปรับตัวดีขึ้นตามศก. ไทยที่ฟื้นตัว

ขณะเดียวกัน Cost to Income Ratio ปรับลดลงจาก 41.6% ในช่วงไตรมาส 4/59 เหลือ 40.5% จากการใช้งบการตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลให้ปี 60 KTC มีกำไรสุทธิ 3,304 ล้านบาท โต 32.5% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้มีมุมมองบวกต่อ KTC มากขึ้น โดยแม้จะเริ่มรับรู้ผลลบของมาตรการคุมหนี้ภาคครัวเรือนของธปท. แล้วตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4/60 แต่บริษัทได้เตรียมแผนรับมือด้วยแผนรักษายอดใช้จ่ายผ่านบัตรและจำนวนขอสินเชื่อใหม่ ด้วยการเพิ่มวงเงินให้กับลูกค้าเดิมและเน้นขยายฐานลูกค้าในกลุ่มที่มีรายได้สูงกว่า 3 หมื่นบาท/เดือน ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากเกณฑ์จัดชั้นวงเงินของลูกหนี้รายใหม่ตามระดับรายได้

รวมถึงเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงและกิจกรรมการตลาดของสินเชื่อส่วนบุคคล (Spread สูงกว่าบัตรเครดิต) เพื่อชดเชย Asset Yield ที่ลดลง จากการปรับลดเพดานดอกเบี้ยที่เก็บจากบัตรเครดิตลงจาก 20% เหลือเพียง 18% นอกจากนี้ด้านคุณภาพสินทรัพย์คาดจะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ Credit Cost มีโอกาสลดลง และหนี้สูญรับคืนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

อีกทั้งด้วย Coverage Ratio ที่สูงถึง 589% จึงคาดจะไม่มีการกันสำรองหนี้เพิ่มเมื่อเริ่มปรับใช้ IFRS 9 ดังนั้นเพื่อสะท้อนถึงปัจจัยบวกดังกล่าว เราจึงปรับประมาณการณ์กำไรสุทธิตั้งแต่ปี 2561 ขึ้นเฉลี่ยปีละ 29.1% โดยภายใต้ประมาณการณ์ใหม่คาดปี 2561 KTC จะมีกำไรสุทธิ 3,574 ล้านบาท โต 8.2% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

นอกจากนี้ยังกลับมาชอบธุรกิจของ KTC หลังผลกระทบเกณฑ์ใหม่ของธปท. น้อยกว่าคาด กอปรกับ ความเร็วในการปรับตัวของบริษัทน่าประทับใจ และคาดจ่ายเงินปันผลจากกำไรปี 2560 หุ้นละ 5 บาท คิดเป็น Div.Yield ราว 2.65%

Back to top button