จัดอันดับ 11 แบงก์ไทยโชว์งบฯปี 60 TISCO กำไรหรูสุด ฟาก KTB วูบหนักตั้งสำรองอ่วม!

จัดอันดับ 11 แบงก์ไทยโชว์งบฯปี 60 TISCO กำไรหรูสุด ฟาก KTB วูบหนักตั้งสำรองอ่วม!


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ทำการรวบรวมผลประกอบการกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยงวดไตรมาส 4/60 และปี 2560 สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธ.ค.2560 เทียบกับผลประกอบการช่วงเดียวของปีก่อนมานำเสนอ โดยครั้งนี้ได้รวบรวมผลประกอบการกลุ่มธนาคารมาได้ทั้งหมด 11 แห่ง ประกอบด้วย TISCO,TCAP,TMB,BAY,KKP,BBL,LHBANK, SCB, KBANK,KTB และCIMBT โดยเรียงลำดับกำไรสุทธิปี 60 เพิ่มขึ้นสูงสุดไปน้อยสุด

โดยหุ้นทั้งหมดแบ่งเป็นกลุ่มที่ทำกำไรเพิ่มขึ้น 6 ตัว คือ ประกอบด้วย TISCO,TCAP,TMB,BAY,BBL และ KKP  ส่วนอีก 4 ตัวเป็นกลุ่มที่ทำกำไรลดลงคือ LHBANK,SCB,KBANK และ KTB ขณะที่อีก 1 ตัว คือ CIMBT พลิกมีกำไรสุทธิ

ขณะเดียวกันหากสำรวจสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) ปี 2560 เมื่อเทียบกับปี 2559 จะพบว่า KBANK,BAY,TMB,TISCO, KKP และ CIMBT ปรับตัวลดลง ซึ่งตรงนี้ได้สะท้อนให้เห็นว่าธนาคารได้มีการรบริหารสินเชื่อได้อย่างดีเยี่ยม ส่วน BBL,KTB,SCB,LHBANK และ TCAP สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยดังตารางประกอบ

สำหรับธนาคารที่มีผลกำไรปี 2560 เพิ่มขึ้นโดดเด่น คือ บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO โดยผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 4/60 เพิ่มขึ้นเป็น 1,522.00 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 1,293.00 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 17.71%

ส่วนผลประกอบการปี 2560 มีกำไรสุทธิ 6,090.01 ล้านบาท เทียบงวดเดียวกันปี 2559 มีกำไรสุทธิ 5,005.89 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 21.66%  เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ และรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจากธุรกิจหลัก ประกอบกับค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญที่ลดลงจากปีก่อนหน้า รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจากความสามารถในการรักษาอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อรวม

อีกทั้งการบริหารจัดการต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ รวมกับการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยจากธุรกิจสินเชื่อที่รับโอนจากธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) หรือ SCBT อีกทั้ง รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจากธุรกิจหลักปรับตัวเพิ่มขึ้น 18.3% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าจากทุกภาคธุรกิจ

 

ส่วนธนาคารทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TCAP ทำผลงานโดดเด่นเช่นกัน โดยผลการดำเนินงานไตรมาส 4/60 เพิ่มขึ้นเป็น 1,936.00 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 1,693.00  ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 14.35 % ส่วนผลประกอบการปี 2560 มีกำไรสุทธิ 7,001.17  ล้านบาท เทียบงวดเดียวกันปี 2559 มีกำไรสุทธิ 6,012.73 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 16.44% เนื่องจากบริษัทมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น

 

ด้านธนาคารที่ทำกำไรลดลงมากสุดในกลุ่มคือ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ผลการดำเนินงานไตรมาส 4/60 ลดลงเป็น 4,824.00  ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 8,620.00 ล้านบาท หรือลดลง 44.04% ส่วนผลประกอบการปี 2560 มีกำไรสุทธิ 22,445.40 ล้านบาท เทียบงวดเดียวกันปี 2559 มีกำไรสุทธิ 32,304.75  ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 30.52%

โดยผลการดำเนินงานประจำปี 60 มีกำไรลดลง เนื่องจากธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลง 1,188 ล้านบาท (ร้อยละ 1.37) ซึ่งผลกระทบส่วนใหญ่เกิดจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate : MRR) ลงร้อยละ 0.50 ในช่วงกลางเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา รวมทั้งธนาคารได้ตั้งสำรองหนี้สูญหนี สงสัยจะสูญฯ เพิ่มขึ้นจำนวน 11,404 ล้านบาท (ร้อยละ 34.11%) จากปี 2559

อย่างไรก็ตามจากข้อมูลที่ธนาคารกรุงไทยแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วยการระบุว่า ในไตรมาส 4/2560 มีหนี้เสียเพิ่มขึ้นจากสินเชื่อลูกค้าขนาดใหญ่กลุ่มหนึ่งนั้น จากการตรวจสอบพบว่าน่าจะเป็นบริษัท โนวา สตีล จำกัด ที่กรุงไทยให้การสนับสนุนสินเชื่อก้อนใหญ่อยู่

เนื่องจากที่ผ่านมา โนวา สตีล มีผลประกอบการขาดทุนมาโดยตลอด ล่าสุดปี 2559 ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ 492.22 ล้านบาท มีขาดทุนสุทธิ 595.58 ล้านบาท และมีหนี้สินหมุนเวียนอยู่ที่ 3.93 พันล้านบาท ส่วนสินทรัพย์หมุนเวียนมีอยู่เพียง 2.71 พันล้านบาท หรือมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน และอาจเข้าข่ายเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ

 

ด้านธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT ผลการดำเนินงานไตรมาส 4/60 ขาดทุนลดลงเป็น  169.00 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 1,428.00 ล้านบาท หรือลดลง 88.16% ส่วนผลประกอบการปี 2560 พลิกมีกำไรสุทธิ 384.90 ล้านบาท เทียบงวดเดียวกันปี 2559 ขาดทุนสุทธิ 629.53 ล้านบาท

เนื่องจากบริษัทมีรายได้จากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 ส่วนใหญ่มาจากรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิจำนวน 308.9 ล้านบาทหรือร้อยละ 18.9 และรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน รวมทั้งการลดลงของสำรองหนี้สงสัยจะสูญร้อยละ 19.5

ส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) อยู่ที่ 10.7 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้น (NPLs Ratio) อยู่ที่ร้อยละ 4.8 ลดลงเมื่อเทียบกับ ณ วันที่ 31 ธ.ค.59

 

ด้านบล.ยูโอบี เคย์เฮียน  ระบุในบทวิเคราะห์ว่า กำไรกลุ่มธนาคารลดลงมากกว่าคาด ธนาคารพาณิชย์ 10 แห่ง จาก 11 แห่ง ได้เริ่มประกางบการเงินปี 60 ทั้งนี้ ธนาคาร 10 แห่งมีกำไรสุทธิปี 60 รวมอยู่ที่ 168,164 ล้านบาท โดยกำไรสุทธิรวม 11 แห่ง ของปี 59 อยู่ที่ 199,000 ล้านบาท โดยธนาคาร SCB และ KBANK ลดลงมากที่สุด โดยสาเหตุหลักเนื่องจากการตั้งสำรองเพิ่มเพื่อรองรับมาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS 9 ในขณะที่ CIMBT, TISCO, BBL กำไรเพิ่มขึ้น 161%, 41.71%, และ 3.8% ตามลำดับ

 

ส่วนบล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า วันศุกร์(19 ม.ค.)ที่ผ่านมา ยังคงเห็นแรงขายของหุ้นในกลุ่มธนาคารตอบรับการรายงานงบฯไตรมาส 4/60 โดยเฉพาะ KBANK งบฯต่ำกว่าคาดมาก รวมทั้ง KKP และ TCAP เช่นกัน โดยมีรายละเอียดดังนี้

KBANK กำไรสุทธิ ไตรมาส4/60 อยู่ที่ 5.70 พันล้านบาท ต่ำกว่าคาด 42% โดยลดลงถึง 39.8% เทียบไตรมาสก่อนหน้า และ 44.3% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน จากค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯ ที่สูงกว่าคาดมาก ซึ่งเป็นการตั้งสำรองฯ รองรับมาตรการฐาน ใหม่ (IFRS 9) ทีเข้มงวด ขณะที่ NPL ต่อสินเชื่อรวมยังทรงตัว ส่วนรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิและ NIM เติบโต แต่รายได้ค่าธรรมเนียมฯ ต่ำกว่าคาด ผลกระทบจากธุรกรรม digital banking และบริการ PromptPay และรายได้จาก bancassurance ที่ชะลอตัวลง

นอกจากนี้ ยังเห็นผลกระทบจากรายได้สุทธิของธุรกิจประกันชีวิต (MTL) ที่อ่อนแอลง งจากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น  แม้ค่าใช้จ่ายดำเนินงานเร่งตัวขึ้นแต่ยังต่ำกว่าที่คาดไว้ โดยรวมปี 2560 กำไรสุทธิลดลง 14.5%เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน จึงปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 2561-62 ลงเล็กน้อย แต่กำไรสุทธิปี 2561 ยังเติบโตได้ถึง 24.0%เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน  ส่วน Fair Value คงเดิมที่ 250 บาท  จึงยังแนะนำซื้อ ราคาหุ้นได้ตอบรับผลการดำเนินที่ต่ำกว่าคาดแล้ว

KKP กำไรสุทธิงวดไตรมาส 4/60 อยู่ที่ 1.3 พันล้านบาท ต่ำกว่าคาด 20% โดยลดลง 24%เทียบไตรมาสก่อนหน้า และ10%เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน จากค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น หลักๆ เป็นการบันทึกขาดทุนจากการปรับมูลค่าและบันทึกขาดทุนจากการขาย NPA

ขณะที่รายได้จากดอกเบี้ยรับลดลง แต่ยังได้รายได้ค่าธรรมเนียมฯ มาช่วยหนุน ส่วนคุณภาพสินทรัพย์ยังอยู่ในเกณฑ์ดี NPL ลดลงต่อเนื่อง โดยรวมกำไรสุทธิทั้งปี 2560 อยู่ที่ 5.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.4%เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้

ฝ่ายวิจัยมีการปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 2561-62 เล็กน้อยจากการปรับลดสมมติฐานรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอื่นๆ ลง ภายหลังประมาณการ คาดกำไรสุทธิปีนี้เติบโต 13.2% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 10.3% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ในปีหน้า โดย Fair Value ใหม่อยู่ที่ 90 บาท (จากเดิม 91 บาท) ขณะที่คาด Div.Yield ยังสูงถึง 6 % จึงคงแนะนำซื้อ

TCAP กำไรสุทธิไตรมาส 4/60 ตามคาดที่ 1.93 พันล้านบาท เติบโต 8.2%เทียบไตรมาสก่อนหน้า และ 14.3%เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นระดับกำไรที่สูงสุดในรอบ 18 ไตรมาส หนุนมาจากการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียมฯ, รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอื่นๆ  ขณะที่ค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่ลดลง

นอกจากนี้ยังได้ประโยชน์จาก Effective tax rate ที่ลดลง (ผลบริษัทย่อยขาดทุนในอดีต) ช่วยชดเชยคุณภาพสินเชื่อที่ลดลง  โดยรวมกำไรสุทธิปี 2560   7.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.43%เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน  ส่วนปี 2561-62 คาดยังเติบโตได้ 12.5% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 2.7% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ( tax shield ที่ลดลง)  ยังคงประมาณการและ fair value ที่ 65 บาท (Div Yield  4%)

โดยรวมมีธนาคาร 9 แห่งที่ฝ่ายวิจัยศึกษา ทำกำไรสุทธิไตรมาส 4/60 รวม 3.68 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าคาดราว 12.9% โดยเฉพาะ KBANK และ SCB ทำกำไรได้ต่ำกว่าคาดมาก ส่วน BBL และ BAY ต่ำกว่าคาดเล็กน้อย ขณะที่ TMB ทำกำไรได้ดีกว่าคาด ทั้งนี้ กำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารที่ต่ำกว่าคาด อาจกระทบต่อประมาณการกำไรตลาดฯ ปี 2560 เพราะกำไรกลุ่มธนาคารคิดเป็นกว่า 20% ของกำไรสุทธิทั้งตลาด

*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ การตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button