ฝุ่นเกินมาตรฐานทั่วกทม.! กรมควบคุมมลพิษ แนะผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจเลี่ยงกิจกรรมนอกอาคาร
กรมควบคุมมลพิษ ชี้ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ในกทม.เกินค่ามาตรฐานในทุกพื้นที่ ส่วนดัชนีคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์สีส้ม (เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ) แนะผู้ที่มีโรคประจำตัวระบบทางหายใจหรือโรคหัวใจและหลอดเลือด ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมนอกอาคาร
สืบเนื่องจากกระแสข่าวดังในโซเชี่ยวเกี่ยวกับสภาพอากาศในกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีลักษณะคล้ายหมอกลงจัดปกคลุมไปทั่วบริเวณ โดยเพจดังในเฟสบุ๊คอย่าง ความรู้สนุก ๆ แบบหมอแมว ได้ออกมาโพสต์ว่า “ตกลงที่อากาศ 2-3 วันนี้ ขมุกขมัวมันไม่ใช่หมอก แต่มัน คือ PM2.5 สินะ PM 2.5 คือ ฝุ่นอนุภาคขนาดจิ๋ว ที่สามารถผ่านขนจมูก ขี้มูก โพรงจมูก คอ หลอดลมใหญ่ ขนพัดโบก เสมหะ หลอดลมเล็ก หลอดลมย่อย ไปตกที่ถุงลมได้โดยตรง ดังนั้น มันสามารถพาอะไรก็ตามที่อยู่ในตัวมัน เช่น หากเป็นฝุ่นที่มีสารเคมี ก็เอาสารเคมีไป ตกในปอดได้” ซึ่งข้อความดังกล่าวส่งผลให้ประชาชนเกิดความแตกตื่นและมีการแชร์ต่อๆ กันไปจนกระจายทั่วโลกออนไลน์
ล่าสุด ทางเพจ กรมควบคุมมลพิษ ได้ออกมาชี้แจงกรณีดังกล่าวว่า กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผย กทม.เกิดสภาพอากาศนิ่ง และชั้นอากาศผกผันใกล้พื้นดิน ทำให้มลพิษทางอากาศเกิดการสะสมตัวในปริมาณมาก ผลการตรวจวัดฝุ่นละออง PM 2.5 ใน กทม.เกินค่ามาตรฐานในทุกพื้นที่ ฝุ่นละออง PM 10 ยังไม่เกินค่ามาตรฐาน แหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศหลัก ได้แก่ การจราจร รองลงมาคืออุตสาหกรรม และการเผาในที่โล่ง
โดย นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า สถานการณ์มลพิษทางอากาศ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล วันที่ 24 มกราคม 2561ผลการตรวจวัดฝุ่นละออง PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานในทุกพื้นที่ (ค่ามาตรฐาน 50 มคก/ลบม.) ในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ณ 12.00 ณ วันที่ 24 มกราคม 2561 อยู่ในช่วง 54 – 85 มคก./ลบ.ม. สูงสุดที่ริมถนนอินทรพิทักษ์ เขตธนบุรี สมุทรปราการ 59 – 71 มคก./ลบ.ม. และสมุทรสาคร 114 มคก./ลบ.ม.
สำหรับผลการตรวจวัดฝุ่นละออง PM10 ยังไม่เกินค่ามาตรฐาน (ค่ามาตรฐาน 120 มคก/ ลบม.) ซึ่งมีแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศหลักของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ได้แก่ การจราจร รองลงมาคืออุตสาหกรรม และการเผาในที่โล่ง ประกอบกับเกิดสภาพอากาศนิ่ง ลมสงบ และชั้นอากาศผกผันใกล้พื้นดิน ทำให้มลพิษทางอากาศเกิดการสะสมตัวในปริมาณมาก ปรากฏการณ์นี้จะพบเป็นบางวันในช่วงฤดูหนาว ถึงต้นฤดูร้อน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ระดับ PM 2.5 สูงขึ้นผิดปกติในช่วงนี้
นางสุณี กล่าวว่า จากข่าวที่แชร์ในเว็บเพจต่างๆ ซึ่งเป็นรูปจากเว็บไซต์ http://aqicn.org/ ให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง เว็บไซต์ดังกล่าวใช้ค่าเฉลี่ย 1 ชั่วโมง เทียบกับดัชนีคุณภาพอากาศของ U.S. EPA ซึ่งต้องใช้ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงในการเทียบ จึงทำให้การรายงานดัชนีคุณภาพอากาศของเว็บไซต์ดังกล่าวอยู่ในช่วงสีแดง (มีผลกระทบต่อสุขภาพ) ข้อเท็จจริง หากใช้ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง จะอยู่ในเกณฑ์สีส้ม (เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ)
อย่างไรก็ตามมีข้อแนะนำสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว ระบบทางหายใจหรือโรคหัวใจและหลอดเลือด ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมภายนอกอาคาร และขอความร่วมมือเจ้าของยานพาหนะดูแล รักษาเครื่องยนต์ให้อยู่ในสภาพดีและไม่ปล่อยควันดำ และถ้าเป็นได้ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล หันไปใช้ระบบขนส่งมวลชนก็จะช่วยสถานการณ์และลดระดับความรุนแรงของสถานการณ์ได้