Anti-dumping ส่อทำพิษ! จับตาหุ้นแผงโซลาร์แบกต้นทุนเพิ่ม เสี่ยงกระทบกำไรระยะยาว
Anti-dumping ส่อทำพิษ! จับตาหุ้นแผงโซลาร์แบกต้นทุนเพิ่ม เสี่ยงกระทบกำไรระยะยาว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังที่”ทรัมป์” ลงนามบังคับใช้มาตรการเรียกเก็บภาษีโซลาร์เซลล์และเครื่องซักผ้าซึ่งจะมีผลในวันที่ 7 ก.พ.นี้ ประเด็นดังกล่าวส่งผลให้มีการคาดการณ์จากนักวิเคราะห์ว่า จะเป็นปัจจัยลบต่อกลุ่มผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ (Solar Panel) และเครื่องใช้ไฟฟ้า
โดยเฉพาะบริษัทที่อยู่ในตลาดหุ้นไทย อาทิ บริษัท โซลาร์ตรอน จำกัด (มหาชน) หรือ SOLAR,บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG ซึ่งเป็นผู้ผลิต ขายและติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยแผงโซลาร์เซลทุกรูปแบบ ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งบริษัท กันยงอีเลคทริก จำกัด (มหาชน) หรือ KYE ผู้ผลิตและส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านภายใต้เครื่องหมายการค้า มิตซูบิชิ
ด้านบล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ทรัมป์ฯ หันมาใช้นโยบายกีดกันการค้าแผงโซลาร์เซลล์ และ เครื่องใช้ไฟฟ้า หลังจากที่สหรัฐได้รับการผ่อนปรนต่องบประมาณขาดดุลปีใหม่จนถึงวันที่ 8 ก.พ. ทำให้หน่วยงานภาครัฐสามารถกลับมาทำงานตามปกติได้ระยะหนึ่ง แต่คงต้องติดตามผลการพิจารณาของวุฒิสภาฯ อีกครั้ง แต่ประธานาธิบดีทรัมป์ฯ ก็มิได้หยุดเฉยๆ หันมาทบทวนโยบายการค้าและกีดกัน (Anti-dumping: AD) สินค้านำเข้ารอบใหม่ 2 รายการสินค้าคือ แผงโซลาร์เซลล์ (Solar Panel) โดยมีการปรับภาษีนำเข้าคิดที่ 30% ในปีแรก, 25% ในปีที่ 2, 15% ปีที่ 3 และ 15% ในปีที่ 4 จากปัจจุบัน ไม่เสียภาษี
ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆ มากน้อยตามสัดส่วนที่ส่งออกไปสหรัฐ โดยแผงโซลาร์เซลล์ (Solar panel) แต่ละปีสหรัฐนำเข้าราว 13.3 พันล้านเหรียญฯจากทั่วโลก โดยประเทศที่สหรัฐนำเข้าแผงโซล่าเซลส่วนใหญ่อยู่ในแถบเอเซีย หลักๆ มาจากมาเลเซียมากที่สุดราว 36% ของยอดนำเข้าแผงโซล่าเซลล์ทั้งหมดของสหรัฐ รองลงมา คือเกาหลีใต้ราว 21%, เวียดนาม 9.1%
สำหรับไทยแม้สหรัฐจะนำเข้าลำดับที่ 4 ราว 9% แต่พบว่ามูลค่าส่งออกแผงโซล่าของไทยไปสหรัฐ แต่ละปีราว 421.1 ล้านเหรียญฯ ซึ่งในจำนวนนี้ส่งออกคิดราว 48% ไปสหรัฐ ผลกระทบโดยรวมคิดราว 0.2% ของยอดส่งออกรวมทั้งหมด ผู้ส่งออกไทยที่ได้รับผลกระทบ คือ SOLAR และ SPCG ผู้ผลิต ขายและติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยแผงโซล่าเซลทุกรูปแบบ ทั้งในและต่างประเทศ
โดยเครื่องซักผ้าแต่ละปีสหรัฐนำเข้าราว 1,710 ล้านเหรียญฯจากทั่วโลก โดยประเทศที่สหรัฐนำเข้าเครื่องซักผ้า คือ เวียดนาม สัดส่วนสูงสุดราว 31.4% ของยอดนำเข้าเครื่องซักผ้าทั้งหมด รองลงมาคือไทยราว 22.8%, เกาหลีใต้ 14.8%
สำหรับไทยพบว่ามูลค่าส่งออกเครื่องซักผ้าของไทยไปสหรัฐแต่ละปีราว 518.2 ล้านเหรียญฯ ซึ่งในจำนวนนี้ส่งออกคิดราว 34% ไปสหรัฐ ผลกระทบโดยรวมคิดราว 0.21% ของยอดส่งออกรวม ผู้ส่งออกไทยที่ได้รับผลกระทบ คือ KYE ผู้ผลิตและส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านภายใต้เครื่องหมายการค้า มิตซูบิชิ อย่างไรก็ตามผู้ผลิตส่วนใหญ่อยู่นอกตลาด
โดยรวมการส่งออกไปสหรัฐทั้ง 2 รายการคิดราวประเภทละ 0.2% ของยอดส่งออกรวมทั้งหมด แต่ ต้นทุนการส่งออกที่เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ทำให้ประสิทธิภาพการทำไรของธุรกิจส่งออกน่าจะชะลอตัวลงในปี 2561 ซึ่งถือเป็น Sentiment เชิงลบต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นระยะกลาง-ยาว
ขณะที่วานนี้(24ม.ค.)ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐ ได้ลงนามบังคับใช้มาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าเครื่องซักผ้าขนาดใหญ่สำหรับใช้ในที่พักอาศัยและแผงพลังงานแสงอาทิตย์ โดยมาตรการดังกล่าวจะช่วยปกป้องผู้ผลิตในสหรัฐ แต่จะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตจากจีนและเกาหลีใต้
ทรัมป์กล่าวในขณะลงนามบังคับใช้มาตรการดังกล่าวว่า “เรากำลังนำธุรกิจกลับคืนสู่สหรัฐเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี” ขณะที่เจ้าหน้าที่การค้าสหรัฐระบุว่า มาตรการดังกล่าวจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 7 ก.พ.นี้
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2545 ที่รัฐบาลสหรัฐออกมาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ
สำนักงานตัวแทนการค้าสหรัฐ (USTR) ระบุว่า แผงพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นสินค้าที่ผู้ผลิตจีนมีความได้เปรียบในการแข่งขันนั้น จะถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราสูงถึง 30% เป็นเวลา 4 ปี
ส่วนเครื่องซักผ้าขนาดใหญ่สำหรับใช้ในที่พักอาศัย ซึ่งเป็นสินค้าหลักของผู้ผลิตจากเกาหลีใต้ เช่น ซัมซุงและแอลจี จะถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 20% สำหรับการนำเข้า 1.2 ล้านเครื่องแรก และสำหรับจำนวนที่เพิ่มขึ้นจากนี้ จะถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราสูงถึง 50% เป็นเวลา 3 ปี
ขณะที่ราคาหุ้น SPCG อยู่ที่ระดับ 11.36 น. อยู่ที่ระดับ 24.70 บาท บวก 0.30 บาท หรือ 1.23% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 319.28 ล้านบาท ส่วน SOLAR ณ เวลา 11.40 น. อยู่ที่ระดับ 1.90 บาท ราคาหุ้นไม่เปลี่ยนแปลง ด้วยมูลค่าซื้อขาย 1.74 ล้านบาท และ KYE ณ เวลา 11.40 น. อยู่ที่ระดับ 478.00 บาท บวก 2.00 บาท หรือ 0.42% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 0.23 ล้านบาท
อนึ่งมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping: AD) เป็นมาตรการทางการค้าที่ประเทศผู้นำเข้าใช้เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในที่ได้รับความเสียหาย หรือมีแนวโน้มที่จะได้รับความเสียหายจากการทุ่มตลาดอันเกิดจากการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศที่ไม่เป็นธรรม