ก.ล.ต.ชงแบงก์ชาติ-คลัง-ปปง.ออกเกณฑ์กำกับ ICO รู้ผลกุมภาพันธ์นี้!

ก.ล.ต.ชงแบงก์ชาติ-คลัง-ปปง.ออกเกณฑ์กำกับ ICO หลังปิดเฮียริ่ง 22 ม.ค.ที่ผ่านมา คาดได้ข้อสรุปหลักเกณฑ์กุมภาพันธ์นี้!


นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ผลการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการกำกับดูแลไอซีโอ (ICO) ที่เป็นหลักทรัพย์ ภายหลังให้ผู้เกี่ยวข้องร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านหลากหลายช่องทางเป็นเวลาประมาณ 3 เดือน โดยสิ้นสุดระยะเวลารับฟังความคิดเห็นไปเมื่อ 22 มกราคมที่ผ่านมานั้น ผู้แสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการกำกับดูแล ICO ที่เป็นหลักทรัพย์โดยก.ล.ต.

ทั้งนี้ ก.ล.ต. จะเริ่มจากการทดลองเปิดช่องทาง ICO ที่มีลักษณะเป็น “ส่วนแบ่งร่วมลงทุน” ซึ่งไม่ใช่หลักทรัพย์ที่มีอยู่แล้วอย่างหุ้นหรือตราสารหนี้  รวมทั้งเห็นด้วยกับการกำหนดให้ต้องระดมทุนดังกล่าวผ่าน ไอซีโอ พอร์ทัล ที่ ก.ล.ต. ยอมรับ  โดยเปิดให้เสนอขายไอซีโอต่อผู้ลงทุนสถาบัน กิจการร่วมลงทุน นิติบุคคลร่วมลงทุน และผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ

ส่วนกรณีผู้ลงทุนรายย่อย ก.ล.ต.ได้รับความเห็นหลากหลายเกี่ยวกับความเหมาะสมของการจำกัดวงเงินลงทุนใน ICO ซึ่ง ก.ล.ต. จะนำความเห็นจากทุกฝ่ายมาประกอบการพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้เหมาะสมยิ่งขึ้นต่อไป

ทั้งนี้ ก.ล.ต. จะนำเสนอผลการรับฟังความเห็นนี้ต่อคณะกรรมการกำกับตลาดทุนและคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ขณะที่หลักเกณท์ดังกล่าวจะต้องได้รับความเห็นจากธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และกระทรวงการคลัง โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปเกี่ยวกับแนวทางในการกำกับดูแลที่ชัดเจนภายในเดือนกุมภาพันธ์

นอกจากนี้ นายรพี ระบุว่า การระดมทุนผ่าน ICO ปัจจุบันยังมีความเสี่ยงสูงมากคิดเป็นประมาณ 95% ขณะที่ขณะนี้ยังไม่มีการกำกับดูแล ICO ในประเทศไทย

อย่างไรก็ตามขณะนี้เริ่มมีผู้สนใจเข้าลงทุนใน ICO มากขึ้น โดยขณะนี้มีประกอบการสนใจเข้าเป็น ICO Portal ที่เข้ามาคุยกับก.ล.ต.แล้ว 5 ราย โดย ICO Portal นั้นจะเป็นตัวช่วยเพื่อช่วยคัดกรอง ICO ในตลาดแรก ซึ่งทำหน้าที่คล้าย FA (วาณิชธนกิจ) ขณะที่มีบริษัทสนใจทการระดมทุนผ่าน ICO ประมาณ 15 ราย (ICO Issuers)

“ก.ล.ต.ขอย้ำว่า เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีการกำกับดูแล ICO ตลอดจน ICO ส่วนใหญ่เป็นธุรกรรมข้ามประเทศ  ประชาชนจึงมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับความคุ้มครองและการเยียวยาตามกฎหมาย

นอกจากนี้ ประชาชนควรทำความเข้าใจลักษณะโครงการที่มาระดมทุนและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน และควรตระหนักว่า การลงทุนในไอซีโอเป็นการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพซึ่งแม้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงหากโครงการประสบความสำเร็จ แต่ก็มีความเสี่ยงสูงมากที่จะเสียเงินลงทุนทั้งจำนวนได้เช่นกัน และยังอาจมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาและการขาดสภาพคล่องของดิจิทัลโทเคน ความเสี่ยงด้านไซเบอร์ รวมทั้งการถูกฉ้อโกงหรือหลอกลวงจากผู้มีเจตนาทุจริตด้วย” นายรพีกล่าว

 

อนึ่งก่อนหน้านี้ บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART แจ้งข่าวผ่านระบบสารสนเทศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่ากำลังอยู่ระหว่างการเตรียมระดมทุนด้วยดิจิทัล โทเคน “JFin” Coin ต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก (Initial Coin Offering: ICO) รวมมูลค่าระดมทุน 660 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการระดมทุนไปพัฒนาระบบสินเชื่อแบบดิจิทัล (Digital Lending Platform) ของบริษัทย่อยด้วยเทคโนโลยี Blockchain ซึ่งจะเริ่มเสนอขายครั้งแรกในวันที่ 1 มี.ค.2561

ส่งผลให้ นางทิพยสุดา ถาวรามร รองเลขาธิการ ก.ล.ต.เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียดในเรื่องดังกล่าวที่เพียงพอ จึงยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า ICO ดังกล่าวจะมีลักษณะที่เข้าข่ายเป็น ICO  ที่เป็นหลักทรัพย์หรือไม่ ทั้งนี้ หากเป็นการระดมทุนที่เข้าข่ายเป็นหุ้นหรือหุ้นกู้ ผู้ออกก็มีหน้าที่ต้องดำเนินการขออนุญาตจาก ก.ล.ต. ตามปกติ

อย่างไรก็ตาม ก.ล.ต.ขอให้ผู้ลงทุนใช้วิจารณญาณศึกษารายละเอียด เพื่อให้เข้าใจอย่างชัดเจนก่อนตัดสินใจลงทุน เนื่องจากข้อมูลที่ปรากฏยังไม่มีความชัดเจนว่าผู้ลงทุนจะได้รับผลประโยชน์ในด้านใด

นอกจากนี้ ก.ล.ต. เห็นว่าการที่บริษัทจดทะเบียนมีการเผยแพร่ข่าว ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนอย่างเพียงพอ เป็นสิ่งที่บริษัทจดทะเบียนควรต้องใช้ความระมัดระวัง เนื่องจากอาจมีผลต่อราคาหรือการซื้อขายหุ้นของบริษัทด้วย

Back to top button