เปิด 5 หุ้นโบรกฯปันผลสูงปรี๊ด! ลุ้นเทรดคึกรับอานิสงส์วอลุ่มซื้อขายทะลักตลาดหุ้นไทย

เปิด 5 หุ้นโบรกฯ ปันผลสูงปรี๊ด! ลุ้นเทรดคึกรับอานิสงส์วอลุ่มซื้อขายทะลักตลาดหุ้นไทย


จากกรณีข่าวบนหนังสือพิมพ์ข่าวหุ้นธุรกิจ ฉบับวันที่ 29 ม.ค.61 โดย นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัยหลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ปีนี้หุ้นกลุ่มโบรกเกอร์น่าจะปรับตัวดีขึ้น เพราะได้รับแรงหนุนจากปริมาณการซื้อขาย (วอลุ่ม) ที่เพิ่มขึ้นมาก แม้อุตสาหกรรมจะยังเผชิญกับการแข่งขันด้านค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (คอมมิชชั่น) แต่เชื่อว่าวอลุ่มที่เพิ่มขึ้นน่าจะเข้ามาช่วยชดเชยรายได้ที่ลดลงได้

ขณะที่โบรกเกอร์ต่างๆ มีการปรับตัวเพื่อรองรับการแข่งขันที่เกิดขึ้น เช่น มีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อมาผลักดันรายได้ให้เพิ่มสูงขึ้นจากเดิม และลดการพึ่งพิงรายได้จากค่าคอมมิชชั่น

นอกจากนี้ หุ้นในกลุ่มโบรกเกอร์เป็นหุ้นที่จ่ายปันผลค่อนข้างดี ดังนั้นในช่วงนี้ถือว่าเป็นจังหวะที่เหมาะสมในการเข้าลงทุนหุ้นกลุ่มโบรกเกอร์ ซึ่งกลยุทธ์การลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้แนะนำให้นักลงทุนเลือกตัวหุ้นที่ดูมีพื้นฐานที่ดี และมีการจ่ายเงินปันผลที่อยู่ในระดับสูง

ด้านนางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า เมื่อมีนวัตกรรมเข้ามาแข่งขันเพิ่มมากขึ้น บริษัทหลักทรัพย์ที่ปรับตัวไม่ทัน อาจจะเหนื่อยนิดหน่อย แต่ไม่ตาย เพราะยังมีลูกค้าใหม่ที่ต้องการเข้ามาลงทุนอีกจำนวนมาก และไม่ได้กังวลเรื่องการแข่งขันลดค่าคอมมิชชั่นมากนัก แต่กังวลว่าจะพาโบรกเกอร์ให้ไปสู่ยุค 4.0 ได้อย่างไร

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีนักลงทุนมาเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นประมาณ 1 ล้านบัญชี แต่เคลื่อนไหวประมาณ 4-5 แสนบัญชีเท่านั้น ในขณะที่กองทุนรวมมีมากถึง 5 ล้านบัญชี ในอนาคตจะหันมาลงทุนในหุ้นมากขึ้น ที่สำคัญการมีเทคโนโลยีที่ดีจะช่วยให้นักลงทุนเข้าถึงข้อมูล ช่วยในการเรียนรู้ ทำให้เกิดการลงทุนง่ายและมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ตลาดทุนไทยจะมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก แต่บริษัทหลักทรัพย์และคนในอุตสาหกรรมนี้จะต้องเร่งพัฒนา ปรับรูปแบบในการให้บริการ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด

ส่วนกรณีที่เกรงว่า AI (ปัญญาประดิษฐ์) จะมาแย่งงานนักวิเคราะห์ ผู้แนะนำการลงทุน (IC) ไม่น่ากังวล เนื่องจาก AI ไม่สามารถเข้ามาทำงานแทน IC ได้ทั้งหมด นักวิเคราะห์มองอนาคตได้ ไปพบผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน รู้เรื่องการลงทุน และคาดการณ์กำไรได้

ขณะที่ AI รู้เรื่องในอดีต แต่นักวิเคราะห์ต้องผสมผสานผลิตภัณฑ์การลงทุน และต้องทำงานเชิงลึกมากขึ้น รวมถึงนักกลยุทธ์ต้องคิดและนำเสนอบริการแปลกใหม่ให้กับลูกค้า เพื่อเพิ่มมูลค่าอีกระดับหนึ่ง ส่วน IC จะต้องยกระดับให้มีการพัฒนาไปตามลูกค้า ได้ใบอนุญาตใหม่ ขายของได้มากขึ้น เช่น Investment Planner

ขณะเดียวกัน นายสมชาย กาญจนเพชรรัตน์ กรรมการผู้จัดการอาวุโส ธุรกิจหลักทรัพย์บุคคล บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ทิศทางของธุรกิจหลักทรัพย์ในปี 2561 มีแนวโน้มที่ฟื้นตัวขึ้น หลังจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศส่งสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน ส่งผลให้ภาพรวมการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ฯมีทิศทางที่ดีขึ้น จึงเป็นปัจจัยหนุนที่ทำให้ธุรกิจหลักทรัพย์มีแนวโน้มขยายตัวขึ้น

ส่วนทิศทางการแข่งขันถึงจะมีความรุนแรงจากผู้เล่นรายใหม่อยู่บ้าง แต่เป็นการแข่งขันในเรื่องของสินค้า และบริการที่เพิ่มเข้ามามากขึ้น ขณะเดียวกัน ในปีหน้าจะมีการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาใช้ในธุรกิจโบรกเกอร์ ซึ่งถือเป็นการเพิ่มทางเลือกให้นักลงทุนมากขึ้น

ขณะที่นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. เปิดเผยว่า ทาง ก.ล.ต.ได้ส่งหนังสือไปยังบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทุกแห่ง เพื่อให้เตรียมความพร้อมเกี่ยวกับมาตรฐานบัญชีใหม่ หรือ IFRS9 และพบว่า บล.ต่างๆ ต่างก็มีความพร้อม และไม่น่าจะมีแห่งไหนที่จะมีปัญหา โดยนายรพี กล่าวยอมรับด้วยว่า การจะให้บริษัทหลักทรัพย์แต่ละแห่งควบรวมกิจการนั้นเป็นเรื่องยาก

ทั้งนี้จากการตรวจสอบข้อมูลโดยทีมข่าว “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” พบว่า จากข้อมูล ณ วันที่ 26 ม.ค. 61 บริษัท ทรีนีตี้ วัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ TNITY ให้อัตราเงินปันผลตอบแทนที่ 9.56%, บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) MBKET ให้อัตราเงินปันผลตอบแทนที่ 7.83%

ส่วน บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KGI ให้อัตราเงินปันผลตอบแทนที่ 7.60%, บริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) หรือ CNS ให้อัตราเงินปันผลตอบแทนที่ 6% และบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) หรือ FSS ให้อัตราเงินปันผลตอบแทนที่ 4.11%

ตารางแสดงลำดับบริษัทหลักทรัพย์ที่ให้อัตราเงินปันผลตอบแทนสูงสุดไปน้อยสุด

คลิกที่รูปเพื่อขยายขนาด

*Dividend Yield ของ บล.ทรีนีตี้ คิดจากมูลค่าเงินปันผล/หุ้น ของงวดปี 59 แต่สำหรับงวด 9 เดือนแรกปี 60 มีผลขาดทุนสุทธิ 15.97 ลบ.

Back to top button