สรุปภาวะตลาดต่างประเทศวานนี้

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 6 ก.พ.61


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์ก ปิดดีดตัวขึ้นกว่า 500 จุดเมื่อคืนนี้ (6 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนเข้าช้อนซื้อเก็งกำไรหลังจากดาวโจนส์ดิ่งลงอย่างหนักติดต่อกัน 2 วันทำการก่อนหน้านี้ โดยหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มสินค้าผู้บริโภคพุ่งขึ้นนำตลาด ขณะที่นักลงทุนจับตาการโหวตร่างงบประมาณของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ เพื่อหลีกเลี่ยงการชัตดาวน์ หรือการปิดหน่วยงานของรัฐ

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 24,912.77 จุด พุ่งขึ้น 567.02 จุด หรือ +2.33% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,695.14 จุด เพิ่มขึ้น 46.20 จุด หรือ +1.74% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,115.88 จุด เพิ่มขึ้น 148.36 จุด หรือ +2.13%

ตลาดหุ้นลอนดอน ปิดในแดนลบติดต่อกันเป็นวันที่ 6 เมื่อคืนนี้ (6 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด เพื่อสกัดการดีดตัวขึ้นของเงินเฟ้อ หลังจากตัวเลขจ้างงานและค่าแรงพุ่งขึ้นเกินคาดในเดือนม.ค.

ทั้งนี้ ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,141.40 จุด ร่วงลง 193.58 จุด หรือ -2.64%

ตลาดหุ้นยุโรป ปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (6 ก.พ.) โดยตลาดยังคงได้รับแรงกดดันจากความวิตกกังวลที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด เพื่อสกัดการดีดตัวขึ้นของเงินเฟ้อ หลังจากตัวเลขจ้างงานและค่าแรงในสหรัฐมีการขยายตัวแข็งแกร่งกว่าที่คาดการณ์ไว้

ดัชนี Stoxx Europe 600 ร่วงลง 2.4% ปิดที่ 372.79 จุด

ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 12,392.66 จุด ร่วงลง 294.83 จุด หรือ -2.32% ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,161.81 จุด ลดลง 124.02 จุด หรือ -2.35% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,141.40 จุด ลดลง 193.58 จุด หรือ -2.64%

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์ก ปิดลบเมื่อคืนนี้ (6 ก.พ.) โดยได้รับแรงกดดันจากการคาดการณ์ที่ว่า สต็อกน้ำมันดิบรายสัปดาห์ของสหรัฐจะปรับตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ สัญญาน้ำมันดิบยังร่วงลงหลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การผลิตน้ำมันในสหรัฐ

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 76 เซนต์ หรือ 1.2% ปิดที่ 63.39 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 76 เซนต์ หรือ 1.1% ปิดที่ 66.86 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์ก ปิดลบเมื่อคืนนี้ (6 ก.พ.) โดยทองคำปิดในแดนลบติดต่อกันเป็นวันที่ 3 เนื่องจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ยังคงสร้างแรงกดดันต่อราคาทองคำ นอกจากนี้ การดีดตัวขึ้นของตลาดหุ้นสหรัฐยังส่งผลให้นักลงทุนลดการถือครองทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 7 ดอลลาร์ หรือ 0.5% ปิดที่ 1,329.50 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 9.1 เซนต์ หรือ 0.5% ปิดที่ 16.58 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 1.20 ดอลลาร์ หรือ 0.1% ปิดที่ 994.30 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. ร่วงลง 30.45 ดอลลาร์ หรือ 2.9% ปิดที่ 1,002.50 ดอลลาร์/ออนซ์

สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (6 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงขานรับกระแสคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้ในปีนี้ หลังจากตัวเลขจ้างงานและค่าแรงในสหรัฐขยายตัวมากกว่าคาด อย่างไรก็ตาม ดอลลาร์ซึ่งถือเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยในตลาดการเงินของสหรัฐนั้น ได้ลดแรงบวกในระหว่างวัน หลังจากดัชนีดาวโจนส์และดัชนีหลักๆของตลาดหุ้นนิวยอร์กดีดตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง

ยูโรอ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.2391 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2400 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.3958 ดอลลาร์ จากระดับ 1.4001 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7887 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7901 ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลารอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 109.36 เยน จากระดับ 109.71 เยน แต่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 0.9361 ฟรังก์ จากระดับ 0.9356 ฟรังก์

Back to top button