FSMART เหนื่อย! ธปท.ไฟเขียวร้านโชห่วยทำ”แบงก์กิ้งเอเย่นต์”ส่อกระทบรายได้โอนเงินปีละ300ลบ.

FSMART ระส่ำ! บริการโอนเงิน "ตู้บุญเติม" ส่อชะงัก หลัง ธปท.ไฟเขียว "แบงก์กิ้งเอเย่นต์" เบื้องต้นคาดกระทบรายได้ค่าธรรมเนียมเกือบ 300 ลบ.


สืบเนื่องจากกรณีที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมเปิดให้ร้านขายของชำ (โชห่วย) และร้านค้าสะดวกซื้ออย่างเซเว่นอีเลฟเว่น (7-11) สามารถเป็นตัวแทนธนาคาร หรือ Banking Agent เพื่อให้บริการด้านการเงินได้ในอนาคต เพื่อเป็นการขยายธุรกรรมทางการเงิน ทั้งรับเงิน ฝากเงิน ถอนเงิน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมประกาศหลักเกณฑ์การเป็นตัวแทนธนาคาร

ทั้งนี้ ประเด็นดังกล่าวส่งผลให้เกิดความกังวลว่าจะกระทบต่อจำนวนผู้ใช้บริการตู้ “บุญเติม” ของ บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ FSMART ผู้ให้บริการเติมเงินโทรศัพท์มือถือประเภทเติมเงินล่วงหน้า (Pre-paid) และบริการชำระเงินออนไลน์ ผ่านเครื่องรับชำระเงินอัตโนมัติ (ตู้เติมเงิน) ที่อาจจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

โดยเฉพาะในส่วนของจำนวนผู้ใช้บริการโอนเงิน ซึ่งก่อนหน้านี้กำลังได้รับความนิยมจากความสะดวกสบายที่สามารถทำธุรกรรมได้ตลอด 24 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม คาดว่าภายหลังจากการร้านสะดวกซื้อเปิดทำธุรกรรมทางการเงินอาจจะได้รับความนิยมมากกว่าตู้ “บุญเติม” เนื่องจากการให้บริการ Banking Agent จะมีพนักงานที่ผ่านการอบรมการทำธุรกรรมทางการเงินเป็นผู้ดำเนินรายการให้กับลูกค้า ซึ่งจะมีความผิดพลาดน้อยกว่า

อีกทั้งมีความสะดวกสบายกว่าเมื่อเทียบกับการดำเนินรายการผ่านตู้ “บุญเติม” ที่จะต้องดำเนินการด้วยตนเองทุกขั้นตอน ขณะที่ Banking Agent จะไม่ประสบกับปัญหาเครื่องไม่รับธนบัตรบางธนบัตรอย่างที่ตู้เติมเงินอัตโนมัติทั่วไปประสบมาตลอด

ทั้งนี้ จากตรวจสอบข้อมูลของ ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” พบว่า ในส่วนของบริการโอนเงินบัญชีธนาคารของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ผ่านตู้บุญเติมมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2560 บริษัทมียอดมูลค่าการโอน รวม 4,052 ล้านบาท และจำนวนรายการโอน รวม 5,799,045 รายการ

โดยมีการโอนเฉลี่ย 23,353 รายการต่อวัน ขณะที่เดือนธันวาคม 2559 มีการโอนเฉลี่ย 5,378 รายการต่อวัน เพิ่มขึ้นถึง 334% ต่อปี นอกจากนี้มีธุรกรรมการโอนเงินในปี 2559 จำนวน 0.6 ล้านรายการ ขณะที่ในปี 2560 เพิ่มขึ้นมาเป็น 5.8 ล้านรายการ ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนที่ สูงถึง 864% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน

ทั้งนี้ บริษัทคิดอัตราค่าธรรมเนียมในส่วนของการโอนเงินตั้งแต่ 30 บาท จนถึง 70 บาท ตามยอดการโอนเงิน ดังนั้นเท่ากับว่ารายได้ค่าธรรมเนียมโดยเฉลี่ยของปี 2560 เมื่อนำมาคำนวณกับจำนวนการโอน 5,799,045 รายการต่อปี เท่ากับว่าบริษัทจะมีรายได้จากส่วนดังกล่าวประมาณ 289 ล้านบาท หรือคิดเป็น 8.61% ของรายได้รวมจากธุรกิจหลักในปี 2560 ซึ่งอยู่ที่ 3,365 บาท โดยคำนวณจากค่าธรรมเนียมเฉลี่ยที่ 50 บาท (ไม่รวมส่วนแบ่งรายได้ผู้วางตู้เติมเงิน)

ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมการโอนคิดเป็น 16.53% เมื่อเทียบกับรายได้จากการให้บริการผ่านตู้บุญเติม (Service Charge) ซึ่งอยู่ที่ 1,748 ล้านบาท 

ทั้งนี้จากตัวเลขของรายได้ที่อาจจะลดลงตามจำนวนดังกล่าว จึงเป็นที่น่าจับตาว่า หาก ธปท. ประกาศหลักเกณฑ์การเป็นตัวแทนธนาคาร และมีผลบังคับใช้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ภายหลังจากร้านสะดวกซื้อเริ่มให้บริการธุรกรรมทางการเงินจะส่งผลให้ประชาชนจะหันไปใช้บริการโอนเงินกับร้านสะดวกซื้อแทนการใช้บริการจากตู้ “บุญเติม” มากน้อยเพียงใด และประเด็นดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของบริษัทมากน้อยขนาดไหน

นอกจากนี้ยังเป็นที่น่าติดตามว่า FSMART จะมีวิธีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ หรือปรับค่าธรรมเนียมลดลงเพื่อเป็นการรักษาฐานลูกค้าเอาไว้หรือไม่ อย่างไรก็ตามหากมีความคืบหน้าในประเด็นดังกล่าวทางทีมงาน ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์ จะรายงานให้ทราบในครั้งต่อไป

กราฟแสดงการเติบโตของจำนวนการทำรายการปี 2560

(ข้อมูลจากคำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ ประจำปี สิ้นสุด 31 ธ.ค. 2560)

อนึ่งเมื่อวันที่ 16 ก.พ.2561 ที่ผ่านมา นางสาวดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่าจะมีการประกาศหลักเกณฑ์การเป็นตัวแทนธนาคาร ในเร็วๆ นี้ หลังจากนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. ลงนามเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยแบงก์กิ้งเอเย่นต์จะเป็นการขยายธุรกรรมทางการเงิน ทั้งรับเงิน ฝากเงิน ถอนเงิน ให้ประชาชนได้เข้าถึงการให้บริการจากตัวแทนธนาคาร เช่น ร้านค้าขายของชำ และร้านสะดวกซื้ออย่าง เซเว่นอีเลฟเว่น เป็นต้น

ทั้งนี้ ร้านค้าที่จะได้รับอนุญาตให้เป็นตัวแทนธนาคาร จะต้องมีระบบควบคุมที่ดี เพราะการดำเนินลักษณะนี้มีความเสี่ยง การเลือกตัวแทนธนาคารของ ธปท. ก็จะดูจากอยู่แผนธุรกิจของแต่ละตัวแทนธนาคารที่เสนอเข้ามาประกอบด้วย

Back to top button