ก.พลังงาน ยังไม่ฟันธงการเปิดปิโตรเลียมเดือนมิ.ย.นี้ รอกฤษฎีกาตรวจร่างกฎหมาย
กระทรวงพลังงานเผยไม่แน่ใจสามารถเปิดปิโตรเลียม 21 ได้ทันเดือนมิ.ย.นี้ หรือไม่ เหตุรอกฤษฎีกาตรวจร่างกฎหมาย
สำนักข่าวอินโฟเควสท์รายงานว่า นายคุรุจิต นาคารทรรพ รักษาราชการแทนปลัดกระทวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะสามารถเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 21 ได้ทันเดือนมิ.ย.นี้หรือไม่ แม้ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.)อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่…) พ.ศ….และร่างแก้ไขพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่…) พ.ศ…. เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หากไม่มีประเด็นแก้ไขเพิ่มเติม ก็จะนำส่งไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาแก้ไขกฎหมายต่อไป
โดยการร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม จะมีการแก้ไขในบางมาตราเพื่อเพิ่มทางเลือก โดย ครม.อาจพิจารณาให้สิทธิการสำรวจเป็นระบบสัมปทาน หรือแบ่งปันผลผลิต (PSC) โดยการแก้ไขจะอิงกับกฎหมายองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย พ.ศ.2533 โดยครม.จะพิจารณาว่าแปลงสำรวจเดิมที่เคยออกประกาศจำนวน 29 แปลงนั้นจะใช้ระบบใดในการให้สิทธิสำรวจและผลิต ซึ่งจะต้องพิจารณาตามเหตุและผล
พร้อมทั้งยืนยันว่าการเปิดปิโตรเลียมรอบ 21 ซึ่งเป็นรอบใหม่มีความจำเป็น หลังล่าสุดไทยมีความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยระดับ 5 พันล้านลูกบาศก์ฟุต/วันในปีที่ผ่านมา ขณะที่เป็นการผลิตจากแหล่งในประเทศ ซึ่งรวมการผลิตจากแหล่งพัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (เจดีเอ) ราว 78% ส่วนที่เหลือเป็นการนำเข้าจากเมียนมาร์ และการนำเข้าในรูปแบบก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG)
ขณะที่ปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้ว (P1) และปริมาณสำรองที่คาดว่าจะพบ (P2) ลดลงอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความต้องการใช้ที่เพิ่มมากขึ้น โดยคาดว่าปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้วจะมีเพียงพอราว 6 ปีเมื่อรวมกับปริมาณสำรองที่คาดว่าจะพบทำให้มีปริมาณสำรองรวมประมาณ 13 ปี
นอกจากนี้กระทรวงพลังงาน โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ยังอยู่ระหว่างการจัดทำแนวทางการบริหารจัดการแหล่งก๊าซธรรมชาติที่สัมปทานจะหมดอายุในปี 2565-2566 ด้วย ซึ่งจะต้องดำเนินการศึกษาให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปีนับจากวันที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการพัฒนาเพื่อรักษาระดับการผลิต โดยจะต้องหาผู้ดำเนินงานในพื้นที่ที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทาน ซึ่งอาจเป็นรายเดิมหรือรายใหม่
รวมถึงให้มีการบริหารจัดการที่เหมาะสม จากเดิมที่การให้สิทธิประโยชน์แก่ภาครัฐในรูปแบบเดิม เป็น Thailand 1 จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอาจจะเป็น ระบบสัมปทานแบบ Thailand 3+ หรือระบบ PSC ซึ่งจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายด้วยเช่นกัน ตลอดจนให้มีการเพิ่มสัดส่วนของภาครัฐในแหล่งก๊าซฯระดับที่เหมาะสมจากเดิมที่ไม่มีเลย
สำหรับแหล่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุสัมปทานในปี 65-66 มี 2 แหล่งใหญ่ ได้แก่ แหล่งเอราวัณ ของเชฟรอน และแหล่งบงกช ของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ในอ่าวไทย ซึ่งมีปริมาณการผลิตรวมกันราว 2,200 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน หรือคิดเป็นราว 76% ของการผลิตก๊าซฯในอ่าวไทย ซึ่งหากไม่มีการบริหารจัดการก็จะทำให้ไม่เกิดความต่อเนื่องในการผลิตก๊าซฯของไทย และทำให้ไทยต้องนำเข้า LNG เข้ามามากขึ้นในช่วงปีดังกล่าว ซึ่งจะกระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น เนื่องจากก๊าซฯเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าที่สำคัญของประเทศ
ขณะที่แหล่งก๊าซฯ ที่จะหมดอายุในเดือนมี.ค.65 มี 4 แปลงในแหล่งก๊าซฯเอราวัณ และใกล้เคียง ของบริษัท เชฟรอน ประเทศไทยสำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด และแหล่งก๊าซฯที่จะหมดอายุในเดือนมี.ค.65 และเม.ย.66 มี 3 แปลงในแหล่งก๊าซฯบงกช ของ PTTEP
สำหรับการเตรียมการของกระทรวงพลังงาน กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จะจ้างที่ปรึกษาเพื่อทำการประเมินปริมาณสำรอง และปริมาณทรัพยากรของกลุ่มแหล่งก๊าซเอราวัณ และแหล่งก๊าซบงกร รวมถึงจัดทำบัญชีสิ่งติดตั้ง/อุปกรณ์การผลิต เพื่อพิจารณาว่าส่วนใดบ้างจะต้องเป็นของรัฐ ขณะที่คณะกรรมการปิโตรเลียมได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาพิจารณาเสนอแนะแนวทางในการดำเนินการคัดเลือกผู้ดำเนินงานและระบบบริหารจัดการที่เหมาะสม ปรับแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อเสนอต่อกระทรวงพลังงานและคณะรัฐมนตรีต่อไป