PTTEP พร้อมเปิดศึกชิงเอราวัณ-บงกช หลังกพช.ไฟเขียวเคาะประมูลเม.ย.นี้
PTTEP พร้อมเปิดศึกชิงเอราวัณ-บงกช หลังกพช.ไฟเขียวเคาะประมูลเม.ย.นี้
รายงานจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 1/2561 (ครั้งที่ 14) ขณะนี้ทางที่ประชุม กพช.ได้มีมติรับทราบในหลักการการบริหารจัดการแหล่งก๊าซธรรมชาติที่สัมปทานจะสิ้นอายุในปี พ.ศ. 2565-2666 ได้แก่
1. รับทราบการพิจารณาของคณะกรรมการปิโตรเลียม ที่ได้ประเมินปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติที่มีอยู่ในแต่ละหลุมและโอกาสพบปิโตรเลียมเชิงพาณิชย์ของแหล่งเอราวัณ และบงกช นั้นเข้าตามหลักเกณฑ์การใช้สัญญาแบ่งปันผลผลิตในการบริหารจัดการหลังจากสัมปทานสิ้นสุดอายุลง
2. รับทราบในหลักการข้อเสนอของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ในการกำหนดเงื่อนไขที่ให้ผู้รับสัมปทานรายเดิมชำระค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่จะส่งมอบให้รัฐตามสัญญาสัมปทานตามสัดส่วนของทรัพยากรปิโตรเลียมที่ได้ผลิตไปแล้วและที่คงเหลือหลังการส่งมอบ
3. รับทราบในหลักการเงื่อนไขหลักที่จะกำหนดในข้อเสนอของผู้เข้าร่วมประมูล ได้แก่ กำหนดพื้นที่สำหรับการประมูลแหล่งเอราวัณ ตามสัญญาสัมปทานเลขที่ 1/2515/5 และเลขที่ 2/2515/6 ซึ่งจะสิ้นอายุสัมปทาน วันที่ 23 เมษายน 2565รวมเป็นแปลงสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่จะบริหารภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิต 1 สัญญา (แปลง G1/61) และให้เสนอปริมาณผลิตขั้นต่ำ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 10 ปี
นอกจากนี้ ยังกำหนดพื้นที่สำหรับการประมูลแหล่งบงกช ตามสัญญาสัมปทาน เลขที่ 5/2515/9 ซึ่งจะสิ้นสุดอายุสัมปทานวันที่ 23 เมษายน 2565 และสัญญาสัมปทาน เลขที่ 3/2515/7 ซึ่งจะสิ้นสุดอายุสัมปทาน วันที่ 7 มีนาคม 2566 รวมแปลงสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่จะบริหารภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิต 1 สัญญา (แปลง G2/61) และให้เสนอปริมาณผลิตขั้นต่ำ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 10 ปี
โดยให้ผู้เข้าร่วมประมูลเสนอราคาก๊าซธรรมชาติ โดยอ้างอิงราคาก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในปัจจุบันตามสูตรราคาที่จะกำหนดในเอกสารเงื่อนไขการประมูล และให้ผู้เข้าร่วมประมูลเสนอสัดส่วนการแบ่งกำไรให้แก่รัฐ ซึ่งจะต้องไม่ต่ำกว่า 50%
4. รับทราบในหลักการของแผนการบริหารจัดการการประมูล โดยเริ่มประกาศเชิญชวนในเดือนเมษายน 2561 โดยคาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญากับผู้ชนะการประมูลได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562
ขณะที่นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมกพช.ว่า กรณีการประมูลแหล่งเอราวัณ และบงกช จะเริ่มประกาศเชิญชวนให้ผู้สนใจเข้าร่วมประมูลมายื่นข้อเสนอได้ในปลายเดือนเมษายนนี้ หรือ ต้นเดือนพฤษภาคม 2561 จากนั้นจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือนในการตรวจสอบคุณสมบัติ และจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติได้ประมาณเดือนมิถุนายน 2561
ทั้งนี้ จากการสำรวจข้อมูลเพิ่มเติม พบว่า กรณีการเปิดประมูลแหล่งเอราวัณและบงกชที่มีความคืบหน้ามากขึ้นในครั้งนี้ถือเป็นปัจจัยบวกโดยตรงต่อหุ้นบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ในฐานะผู้ประกอบการธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) รายใหญ่ของไทย ที่อยู่ในระหว่างรอการเปิดประมูลอย่างเป็นทางการ
โดยในช่วงที่ผ่านมา PTTEP ประกาศว่า ทางบริษัทมีความพร้อมที่จะเข้าร่วมประมูลทั้งแหล่งเอราวัณและบงกช รวมถึงขณะนี้ยังมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง เพราะมีเงินสดในมือรวม 1.4 แสนล้านบาท (ณ สิ้นปี 2560) จึงมีศักยภาพรองรับการเข้าประมูลได้ทั้ง 2 แหล่ง
นอกจากนี้ ตามสัญญาสัมปทานเดิมในแหล่งบงกช จะสิ้นอายุสัมปทานในปี 2566 ซึ่งในปัจจุบันทาง PTTEP มีสัดส่วนการลงทุนในโครงการบงกชอยู่ที่ระดับ 66.6667% หลังจากช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ใช้เงินลงทุนรวม 2.4 หมื่นล้านบาท เข้าซื้อสัดส่วนการลงทุนอีก 22.2222% จากทางบริษัท เชลล์ อินทีเกรทเต็ด แก๊ส ไทยแลนด์ พีทีอี ลิมิเต็ด และบริษัท ไทยเอนเนอร์จี จำกัด ส่วนแหล่งเอราวัณตามสัญญาสัมปทานเป็นของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด จะสิ้นสุดอายุลงในช่วงปี 2565