WP แรงไม่หยุด! ปิดเช้าพุ่งกระฉูด 22% ตั้งเป้ายอดขาย LPG ปีนี้โต 3% ดันรายได้ทะลัก
WP แรงไม่หยุด! ปิดเช้าพุ่งกระฉูด 22% ตั้งเป้ายอดขาย LPG ปีนี้โต 3% ดันรายได้ทะลัก โดยปิดตลาดภาคเช้า ราคาอยู่ที่ระดับ 8.05 บาท บวก 1.45 บาท หรือ 21.97% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 176.95 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ WP ปิดตลาดภาคเช้า ราคาอยู่ที่ระดับ 8.05 บาท บวก 1.45 บาท หรือ 21.97% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 176.95 ล้านบาท
นายนพวงศ์ โอมาธิกุล ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงิน บมจ.ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ (WP) ผู้จำหน่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ภายใต้แบรนด์ “เวิลด์แก๊ส” เปิดเผยว่า บริษัทคาดหวังว่ากำไรสุทธิปีนี้จะเติบโตกว่าระดับกำไรสุทธิ 131.96 ล้านบาทในปี 60 หลังตั้งเป้าหมายปริมาณขาย LPG เติบโตราว 3% มาอยู่ที่กว่า 9 แสนตัน จากปีก่อนที่ทำได้ 8.8 แสนตัน ขณะที่ราคาขายในปีนี้คาดว่าจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ราว 15-16 บาท/กิโลกรัม จากเฉลี่ย 16 บาท/กิโลกรัมในปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ในปีนี้จะไม่มีค่าใช้จ่ายพิเศษเหมือนในปีก่อนที่มีค่าใช้จ่ายจ้างที่ปรึกษาในการนำหุ้นกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ประมาณ 60 ล้านบาท รวมถึงค่าเช่าคลัง LPG ที่จะลดลงเหลือราว 20 ล้านบาท จากปีก่อนที่มีค่าเช่าคลังประมาณ 30 ล้านบาท หลังจากที่การขยายคลัง LPG 2 แห่งแล้วเสร็จเมื่อปีที่ผ่านมา
โดยนายนพวงศ์ กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าหมายปริมาณขาย LPG ในช่วง 3 ปี (ปี 61-63) จะเติบโตเฉลี่ยปีละ 3% และมีส่วนแบ่งตลาดระดับ 21-22% ซึ่งเป็นส่วนแบ่งตลาดเฉพาะแบรนด์เป็นอันดับ 2 ของตลาด รองจากบมจ.ปตท. (PTT) ขณะเดียวกันก็จะเน้นการส่งออกมากขึ้น โดยปีนี้มีเป้าหมายการส่งออก 12,000 ตัน จากทั้งปี 60 ที่ส่งออกเพียง 200 ตันเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันการส่งออกเป็นรูปแบบของการเป็นตัวกลางในการส่งออก ซึ่งเป็นลักษณะขายส่งไปยังลาว ,เมียนมา และจะขยายไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ที่ตลาดมีแนวโน้มขยายตัวได้อีกมาก โดยคาดว่าสัดส่วนการส่งออกจะเพิ่มเป็น 5% ของปริมาณขายรวมในปี 63 จากราว 1% ในปีนี้
ทั้งนี้ การที่รัฐบาลเปิดเสรีธุรกิจ LPG โดยให้มีการนำเข้าเพื่อส่งออกและขายในประเทศได้นั้น บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการดำเนินงาน ซึ่งการจะนำเข้าหรือไม่ขึ้นอยู่กับต้นทุนนำเข้า LPG คุ้มค่าหรือไม่เมื่อเทียบกับการจัดหาจากในประเทศ ที่ปัจจุบันซื้อ LPG จากโรงกลั่นน้ำมันและโรงแยกก๊าซธรรมชาติ นอกจากนี้การนำเข้ามายังต้องมีจุดรับ LPG ซึ่งอาจเป็นจุดลอยเรือ หรือการเช่าใช้คลัง LPG ของกลุ่มบมจ.ปตท. (PTT) ซึ่งต้องพิจารณาความคุ้มค่าเชิงพาณิชย์ และสามารถแข่งขันได้หรือไม่ ซึ่งเบื้องต้นก็อยากจะทดลองนำเข้าเพื่อส่งออกในระดับหลักพันตัน โดยคาดหวังจะเกิดขึ้นได้ในปีนี้
สำหรับความต้องการใช้ LPG ในประเทศภาพรวมคาดว่าจะขยายตัวไม่มาก โดยในตลาดยานยนต์ มองว่าการใช้ LPG จะยังหดตัวอีกเล็กน้อย จากปีก่อนที่หดตัวลงไปมากกว่า 2 digit หลังผู้บริโภคหันมาใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงมากขึ้น แต่บริษัทก็จะยังให้ความสำคัญกับกลุ่มยานยนต์อยู่เพื่อรักษาฐาน และรักษาคุณภาพการให้บริการ จากปัจจุบันที่เป็นผู้ขายส่งให้กับสถานีบริการ LPG ต่างๆ ขณะที่บริษัทมีสถานีบริการ LPG ของตัวเองเพียง 2 แห่งที่จะยังคงมีอยู่เพื่อรักษาแบรนด์
ส่วนกลุ่มครัวเรือน คาดว่าความต้องการใช้จะขยับขึ้นเล็กน้อย ซึ่งบริษัทนับว่ามีจุดแข็งที่มีคลังอยู่กระจายในหลายพื้นที่ โดยมีส่วนแบ่งตลาดมากในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก ขณะที่ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ มีปริมาณขายไม่ถึง 10% ของปริมาณขายรวมใน 2 ภาคดังกล่าว ซึ่งการขยายคลัง LPG ในจ.ขอนแก่นที่เพิ่งแล้วเสร็จในปีที่แล้ว ก็คาดว่าจะเพิ่มโอกาสการขยายตลาดได้อีกมาก ส่วนในภาคเหนือจะเน้นการหาพันธมิตรใหม่ในการใช้คลังหรือโรงบรรจุก๊าซ LPG ร่วมกันเพื่อสร้างเครือข่ายและเพิ่มปริมาณการขายมากขึ้น
ด้านภาคอุตสาหกรรมก็ยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยบริษัทจะรุกตลาดมากขึ้นตั้งแต่การช่วยออกแบบโรงงาน เพื่อรองรับการใช้ LPG เป็นเชื้อเพลิง รวมถึงการขยายสัญญาซื้อขายระยะยาวให้มากขึ้น
ขณะที่ปัจจุบัน WP มีคลังก๊าซ LPG 5 แห่งใน 4 จังหวัด ขนาดรวม 8,989 ตัน ได้แก่ จ.ลำปาง ,จ.ขอนแก่น ,อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา เฟส 1 และเฟส 2 และจ.สมุทรสงคราม ขณะเดียวกันอยู่ระหว่างการก่อสร้างคลังแห่งใหม่ ในอ.บางปะกง เป็นเฟสที่ 3 ขนาด 9,500 ตัน โดยใช้เงินลงทุนราว 550 ล้านบาท ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 62 ซึ่งจะทำให้บริษัทมีความสามารถบรรจุก๊าซเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 18,000 ตัน
สำหรับการก่อสร้างคลัง LPG เพิ่มขึ้นนั้นเพื่อรองรับนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้ต้องเก็บสำรอง LPG ตามกฎหมายเพิ่มเป็น 2% ของปริมาณการค้าประจำปีในปี 64 จากปัจจุบันที่เก็บสำรอง 1% ของปริมาณการค้า ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีคลังสำรองไม่เพียงพอรองรับการจัดเก็บสำรองตามกฎหมาย ทำให้ต้องเช่าคลังอื่นในการเก็บสำรองโดยมีต้นทุนค่าเช่าราว 20-30 ล้านบาท/ปี แต่คาดว่าค่าเช่าคลังดังกล่าวจะลดลงเป็นราว 20 ล้านบาท/ปีในปีนี้ หลังการก่อสร้างคลัง LPG จำนวน 2 แห่งแล้วเสร็จเมื่อปีก่อน และเมื่อการก่อสร้างคลังบางปะกง เฟส 3 แล้วเสร็จ ก็ทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องเช่าใช้คลังอื่นสำรอง LPG ตามกฎหมายต่อไป
นอกจากนี้ นายนพวงศ์ กล่าวอีกว่า บริษัทยังอยู่ระหว่างการศึกษาแผนธุรกิจใหม่เพื่อต่อยอดธุรกิจสู่บริษัทพลังงานครบวงจร ได้แก่ กองเรือเพื่อรองรับธุรกิจการนำเข้า-ส่งออก LPG ซึ่งจะเป็นเรือขนาดเล็ก ,ธุรกิจการให้บริการที่เกี่ยวกับ LPG ตรวจสอบและซ่อมบำรุงถังก๊าซ ,ธุรกิจอื่น ๆ ด้านพลังงาน โดยเฉพาะในส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งมองโอกาสการร่วมลงทุนกับผู้ที่ดำเนินการผลิตอยู่แล้ว รวมถึงการลงทุนในต่างประเทศด้วย ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีกระแสเงินสดกว่า 800 ล้านบาท และมีฐานะการเงินที่แข็งแรงขึ้นก็เชื่อว่าจะสามารถรองรับการลงทุนในอนาคตได้