ANANดิ่ง7% เสี่ยงวืดใบอนุญาตโครงการ“Ashton Asoke”ปีนี้ หวั่นกระทบกำไรบ.ร่วมทุน380ลบ.
ANAN ดิ่งต่อ 7% เสี่ยงวืดใบอนุญาตโครงการ“Ashton Asoke”ในปีนี้ โบรกฯแนะเลี่ยงการลงทุนรอความชัดเจน หวั่นความล่าช้าโครงการกระทบกำไรบ.ร่วมทุน 380 ลบ. ล่าสุด ณ เวลา 11.39 น. อยู่ที่ระดับ 3.98 บาท ลดลง 0.28 บาทหรือ 6.57% สูงสุดที่ 4.20 บาท ต่ำสุดที่ 3.92 บาท มูลค่าการซื้อขาย 287.51 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้นบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ANAN ณ เวลา 11.39 น. อยู่ที่ระดับ 3.98 บาท ลดลง 0.28 บาทหรือ 6.57% สูงสุดที่ 4.20 บาท ต่ำสุดที่ 3.92 บาท มูลค่าการซื้อขาย 287.51 ล้านบาท
โดยราคาหุ้น ANAN ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 ติดต่อกันจากความกังวลประเด็นของโครงการ Ashton อโศกที่ยังไม่ได้รับการอนุญาตจาก กทม. เกี่ยวกับการใช้อาคาร ซึ่งมีมูลค่าโครงการ 6.7 พันล้านบาท และมียอดขายแล้ว 98%
ทั้งนี้บริษัทจะต้องได้รับการได้รับอนุญาตจึงจะเริ่มโอนกรรมสิทธิ์ให้ลูกค้าได้ ทั้งนี้ทาง กทม.จะใช้เวลา 30 วันในการสำรวจอาคาร และตัดสินว่าจะให้ไปอนุญาตหรือไม่ ปัจจุบันเลยระยะเวลา 30 วันมาแล้ว จากกำหนดเดิมจะโอนให้ลูกค้า 26 มี.ค.61 ล่าสุด ทาง ANAN ได้ยื่นอุทธรณ์เพื่อขอคุ้มครองและขอให้ทางกทม.ออกใบอนุญาตใช้อาคาร ซึ่งในกรณีที่ชนะก็จะสามารถเริ่มโอนโครงการได้ในช่วงเดือนมิ.ย. 2561 แต่กรณีที่ไม่ชนะทาง ANAN ก็จะต้องขอยื่นระยะการโอนไป ซึ่งอาจยืดเยื้อถึงช่วงปลายปี 2562
ด้าน บล.ทรีนีตี้ ระบุในบทวิเคราะห์วันนี้ (19 มี.ค.61) ว่า โครงการ Ashton Asoke มูลค่า 6.7 พันล้านบาท เป็นโครงการภายใต้การร่วมทุนของ ANAN และกลุ่ม Mitsui Fudosan ที่มียอดขายสูงถึง 98% ซึ่งทำการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ในช่วงเดือนธ.ค. 2560 แต่ไม่สามารถทำการโอนให้แก่ลูกบ้านได้ เนื่องจากยังไม่ได้รับเอกสารใบอนุญาตให้ใช้อาคารจากทางกทม. ด้วยสาเหตุดังนี้ (1) มี 2 หน่วยงานที่ทำการฟ้องร้องต่อ รฟม.และกทม. จากประเด็นการใช้ทางเข้าออกของรฟม.และการออกใบอนุญาตโดยกทม. (2) ANAN มิได้เป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกฟ้องร้อง แต่เป็นผู้ที่มีผลประโยชน์จากใบอนุญาตนี้ ทางกทม.จึงยังไม่ทำการออกใบอนุญาตใช้อาคาร และไม่สามารถทำการโอนกรรมสิทธิ์ของห้องชุดให้แก่ลูกบ้านได้
ทั้งนี้ล่าสุด ทาง ANAN ได้ยื่นอุทธรณ์เพื่อขอคุ้มครองและขอให้ทางกทม.ออกใบอนุญาตใช้อาคาร ซึงในกรณี Best Case Scenario ทาง ANAN ชนะก็จะสามารถเริ่มโอนโครงการได้ในช่วงเดือนมิ.ย. 2561 แต่กรณีที่ไม่ชนะ ทาง ANAN ก็จะต้องขอยื่นระยะการโอนไป ซึ่งอาจยืดเยื้อถึงช่วงปลายปี 2562 เนื่องจากจะใช้เวลาในชั้นศาลเพิ่มอีกประมาณ 1 ปี 5 เดือน
โดย ANAN ได้ส่งจดหมายแจ้งลูกบ้านในการยืดระยะเวลาโอนโครงการ 1 ปี ไปถึงวันที่ 26 มี.ค.2562 โดยการยืดระยะเวลาโอนนี้ ทาง ANAN จะไม่ต้องเสียค่าปรับแก่ลูกบ้าน เนื่องจากเป็นระยะเวลาที่กำหนดสัญญาอยู่แล้ว
ทั้งนี้ คาดการณ์กำไรสุทธิปี 2561 ที่ 2.60 พันล้านบาท เติบโตสูงถึง 96% จากปีก่อน เนื่องจากการโอนโครงการ Ashton Asoke จะเป็นตัวที่ส่งเสริมให้กำไรจากการร่วมทุนรวมอยู่ที่ราว 1.24 พันล้านบาท
โดยในกรณี Worst Case Scenario คือไม่สามารถโอนโครงการ Ashton Asoke ในปี 2561 จะกระทบกำไรส่วนแบ่งจากการร่วมทุนให้ลดลง 44.5% จาก 1.24 พันล้านบาท เป็น 858 ล้านบาท จากสมมติฐานเดิมว่าจะมีการโอน 80% ของโครงการ และ EPS จะปรับตัวลดลงจาก 0.78 บาท ลง 21.87% เป็น 0.64 บาท ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาเป้าหมายเดิมจาก 7 บาทเป็น 5.76 บาท จากการอิงค่าเฉลี่ย P/E ที่ระดับเดิมที่ 9 เท่า
อย่างไรก็ดี ผลกระทบต่อการเปิดโครงการใหม่ในปี 2561 และปี 2562 ยังไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากมีที่ดินพร้อมเปิดโครงการใหม่ เรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ถึงแม้ว่าการเติบโตของกำไรสุทธิปี 2561 ของ ANAN จะโดดเด่นกว่ากลุ่ม และยอดโอนโครงการของ ANAN เองจะไม่มีปัญหา แต่ เนื่องจากมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับโครงการ Ashton Asoke จึงแนะนำลงทุนอย่างระมัดระวัง โดยราคาเป้าหมายยังคงอยู่ที่ 7 บาท หาก ANAN ได้รับในอนุญาตใช้อาคารและสามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ แต่ในกรณีที่ไม่สามารถโอนโครงการนี้ได้ทันในปี 2561 ราคาเป้าหมายจะถูกกระทบ 21.5% อยู่ที่ 5.76 บาท แนะนำให้รอผลการอุทธรณ์ก่อน เพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุน