ก.ล.ต.คลอดเกณฑ์ขายหุ้นกู้-ตั๋วบี/อี เน้นคุ้มครองรายใหญ่ เริ่มใช้ทันที 1 เม.ย.นี้
ก.ล.ต.คลอดเกณฑ์ขายหุ้นกู้-ตั๋วบี/อี เน้นคุ้มครองรายใหญ่ เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2561
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกประกาศหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการออกและเสนอขายตราสารหนี้ การทำหน้าที่ของตัวกลาง และวิธีการจัดทำสรุปข้อมูลสำคัญของตราสาร (แบบ factsheet) เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับความคุ้มครองมากขึ้น รวมทั้งข้อมูลที่สำคัญประกอบการตัดสินใจลงทุน ในขณะที่ผู้ออกตราสารหนี้จะมีความสะดวกและความคล่องตัวในการระดมทุนมากยิ่งขึ้น เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561
“ก.ล.ต. ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าวโดยคำนึงถึงความสมดุลระหว่างความสะดวกต่อผู้ประกอบการในการ ระดมทุน และการให้ความคุ้มครองผู้ลงทุนประเภทต่างๆ ในระดับที่เหมาะสม”นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าว
นอกจากนี้ ก.ล.ต.ยังได้เพิ่มมาตรฐานในการปฏิบัติงานของตัวกลางเพื่อให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างประโยชน์ของผู้ลงทุนและผู้ออกตราสารด้วย จากเดิมที่ภาคธุรกิจสามารถระดมทุนได้อย่างแพร่หลายในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการเสนอขายต่อผู้ลงทุนรายใหญ่เป็นจำนวนมาก แต่ผู้ลงทุนมักมีพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนโดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยงในการลงทุน
ขณะที่ตัวกลางก็ไม่ได้ให้ข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนที่เพียงพอ ประกอบกับตั๋วเงินเป็นตราสารที่ไม่มีกลไกให้ความคุ้มครองผู้ลงทุนเหมือนหุ้นกู้ นอกจากนี้ บริษัทที่ออกตราสารหนี้บางแห่งใช้ช่องทางการเสนอขายแบบเฉพาะเจาะจง (แบบ PP-วงแคบ) ไปอย่างผิดวัตถุประสงค์ คือ กระจายการขายช่องทางนี้ไปยังผู้ลงทุนรายใหญ่ ซึ่งไม่รู้จักคุ้นเคยกับบริษัท
ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้เห็นถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการออกและเสนอขายตราสารหนี้ โดยกำหนดระดับความเข้มงวดของหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลตามประเภทผู้ลงทุน หากเป็นการเสนอขายต่อผู้ลงทุนทั่วไปในวงกว้างและผู้ลงทุนรายใหญ่ ก็จะมีเกณฑ์ที่เข้มงวดมากกว่าการเสนอขายต่อผู้ลงทุนสถาบันและการเสนอขายแบบ PP-วงแคบ อาทิ ต้องขายผ่านตัวกลาง และมีผู้แทน ผู้ถือหุ้นกู้
โดยเกณฑ์ที่ปรับปรุงมีสาระสำคัญดังนี้
– จำกัดการขายตั๋วเงินไม่ให้ใช้ระดมทุนในวงกว้าง โดยจำกัดให้เสนอขายได้เฉพาะผู้ลงทุนแบบเฉพาะเจาะจงและผู้ลงทุนสถาบันเท่านั้น
– แยกการกำกับดูแลผู้ลงทุนรายใหญ่ออกจากผู้ลงทุนสถาบัน เพื่อคุ้มครองผู้ลงทุนรายใหญ่ให้ได้รับคำแนะนำและข้อมูลที่สำคัญประกอบการตัดสินใจลงทุนมากขึ้น
– ปรับเพิ่มกลไกการคุ้มครองผู้ลงทุน อาทิ การขายหุ้นกู้ให้ผู้ลงทุนรายใหญ่ ต้องมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ และมีการเปิดเผยข้อมูลที่สะท้อนความสามารถในการชำระหนี้ให้มากขึ้น
– การเสนอขายแบบ PP-วงแคบกำหนดให้เสนอขายได้เฉพาะกลุ่มผู้ลงทุนที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับผู้ออก ตราสาร ผู้ลงทุนสถาบัน หรือผู้ลงทุนรายใหญ่เท่านั้น กรณีเสนอขายให้ผู้ลงทุนรายใหญ่ที่ไม่มีความสัมพันธ์ กับผู้ออกตราสาร จะต้องเสนอขายผ่านตัวกลาง เพื่อคุ้มครองผู้ลงทุนที่อาจไม่มีความรู้เกี่ยวกับบริษัทมากนัก
นอกจากนี้ ยังเพิ่มมาตรการการปฏิบัติงานของตัวกลาง โดยกำหนดให้หน่วยงานที่ให้บริการออกตราสารหนี้ต้องคัดกรองสินค้าและแยกออกจากหน่วยงานขายอย่างชัดเจน โดยผู้ขายต้องเข้าใจลักษณะและความเสี่ยงตราสารหนี้เพื่อให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับลูกค้า รวมถึงการปรับการเปิดเผยข้อมูลในแบบ factsheet ให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ใหม่ด้วย
ทั้งนี้ ในการยกร่างประกาศในเรื่องนี้ ก.ล.ต. ได้รวบรวมข้อคิดเห็นจากผู้ประกอบการเมื่อกลางปี 60 และได้นำข้อเสนอแนะจากการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อสาธารณชน 2 ครั้ง ช่วงปลายปี 60 มาปรับปรุงเกณฑ์ พร้อมทั้งได้จัดบรรยายหลักเกณฑ์ใหม่ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกกลุ่มตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาด้วย