รับเหมาฯ เฮ! ครม.สั่งลุยรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
รับเหมาฯ เฮ! ครม.สั่งลุยรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. เร่งร่าง TOR ดึงเอกชนร่วมลงทุนแบบ PPP NET CROSS สัญญา 50 ปี
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คือ สนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินอู่ตะเภา เป็นระยะทาง 220 กิโลเมตร เพื่อสร้างภาพลักษณ์โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเห็นชอบให้ภาครัฐร่วมลงทุนกับเอกชนในรูปแบบ PPP NET CROSS
ทั้งนี้ ภาครัฐลงทุนรับผิดชอบค่างานงานจัดสรรกรรมสิทธิ์ที่ดิน ส่วนเอกชนลงทุนค่างานโยธา ระบบรถไฟฟ้า ขบวนรถไฟฟ้า พัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสุนนบริการรถไฟ และบริการผู้โดยสาร ค่าจ้างผู้ปรึกษาโครงการ ค่าบริหารซ่อมบำรุงโครงการ โดยให้เอกชนร่วมลงทุนระยะเวลา 50 ปี เอกชนจัดเก็บค่าโดยสาร ความเสี่ยงจำนวนผู้โดยสาร และจัดเก็บรายได้จากการพัฒนาพื้นที่โครงการ กำหนดอัตราค่าโดยสารเริ่มต้น มักกะสัน-พัทยา 270 บาท มักกะสัน-อู่ตะเภา 330 บาท
“โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะเป็นการเปิดพื้นที่พัฒนา 3 จังหวัดในอีอีซีด้วย เพราะมีการสร้างสถานีรถไฟใน 5 สถานี ที่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ศรีราชา พัทยา อู่ตะเภา ทำให้พื้นที่ 3 จังหวัดนี้มีการพัฒนาตัวเมืองมากขึ้น ขณะที่ค่าโดยสาร ถูกกว่าการเดินทางโดยวิธีอื่น รวมถึงระยะเวลาที่ใช้น้อยลงด้วย ซึ่งหลังจากนี้ ขั้นตอนต่อไปอยู่ที่การร่างเงื่อนไขโครงการ (ทีโออาร์) การสรรหาผู้ประมูล และได้ตัวเลขงบประมาณก็จะเข้าครม. อีกครั้งโดยเร็วที่สุด” นายณัฐพร กล่าว
โดยที่ประชุม ครม.อนุมัติกรอบวงเงินที่รัฐร่วมลงทุนกับเอกชนในโครงการดังกล่าววงเงินไม่เกิน 119,425.75 ล้านบาท ที่เป็นมูลค่าปัจจุบันตามที่ตกลงในสัญญาร่วมลงทุน โดยทยอยจ่ายให้เอกชนหลักจากเริ่มเปิดเดินรถไฟความเร็วสูงทั้งระบบแล้ว และแบ่งจ่ายเป็นรายปี โดยกำหนดระยะเวลาแบ่งจ่ายไม่ต่ำกว่า 10 ปี และอนุมัติให้ รฟท. มีอำนาจร่วมลงทุนกับเอกชนที้ได้รับคัดเลือก
อีกทั้ง อนุมัติค่างานที่เกี่ยวข้องกับการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและค่าสำรวจอสังหาริมทรัพย์โครงการรถไฟความเร็วสูงฯ ในกรอบวงเงินจำนวน 3,570.29 ล้านบาท และยังเห็นชอบให้รัฐบาลรับภาระหนี้โครงสร้างพื้นฐานของโครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ของ รฟท. เป็นจำนวนเงิน 22,558.06 ล้านบาท
พร้อมกันนั้น ให้กำหนดพื้นที่โครงการรถไฟความเร็วสูงฯ ตั้งแต่สนามบินดอนเมืองถึงสุดเขตกรุงเทพฯ และรวมถึงสถานีสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นพื้นที่ภายนอกระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เป็นพื้นที่ “ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก” เพิ่มเติม ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 2/2560 เรื่อง การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ รฟท. สกรศ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
“เมื่อวิเคราะห์ทั้งโครงการจะให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจราว 7 แสนล้านบาท ผลตอบแทนจะมาจากมูลค่าเพิ่มของสนามบินอู่ตะเภา ผลตอบแทนจากพัฒนาเศรษฐกิจตลอดเส้นทาง ลดการใช้น้ำมัน ลดมลพิษ ความเจริญที่จะเกิดขึ้นรอบๆสถานีรถไฟ การจ้างงาน การใช้ปัจจัยการผลิตในประเทศ และภาษีที่คาดว่าจะจัดเก็บได้มากขึ้น เพราะโครงการนี้จะรวมถึงการพัฒนาที่ดินมักกะสันด้วย”นายณัฐพร กล่าว