บล.เออีซี มั่นใจปี 58 มีกำไร แม้ Q1/58 ขาดทุน

บล.เออีซี มั่นใจปี 58 มีกำไร แม้ Q1/58 ขาดทุน มองวอลุ่มช่วงที่เหลือดีขึ้น ตั้งเป้าส่วนแบ่งการตลาดที่ 4% เพิ่มขึ้นจากปี 57 ที่มีราว 2%


นายพิสิทธิ์ ปทุมบาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เออีซี (AEC) เปิดเผยว่า บริษัทมั่นใจผลประกอบการปี 58 เป็นกำไรสุทธิแน่นอน ถึงแม้ไตรมาส 1/58 ขาดทุน 80 กว่าล้านบาท เนื่องจากมองว่าช่วงเดือนมิ.ย.-ส.ค.วอลุ่มตลาดจะกลับมาคึกคัก หรือเป็นช่วงเดือนทองของปีนี้ ประกอบการกับช่วงไตรมาส 2/58 บัญชีซื้อขายบริษัท หุ้นที่เลือกเข้าไปลงทุนเริ่มปรับตัวดีขึ้นแล้ว

โดยในปีนี้เดือนทองของตลาดหุ้นไทยยังไม่มี ซึ่งปกติตลาดจะมีเดือนทอง 2-3 เดือน ปีนี้ยังไม่มี มีแต่ทรงกับทรุด โดยหวังว่าเดือนมิ.ย.,ก.ค.และ ส.ค.จะเป็นเดือนทอง ปัจจัยที่มาช่วยเป็นทางเทคนิค โดยมองดัชนีน่าจะแตะ 1,600 จุดได้ ไตรมาส 1/58 แม้ขาดทุน 80 กว่าล้านบาท แต่ทั้งปีมีกำไรแน่นอน เพราะเดือนทองยังไม่เกิด ขณะที่ฟิกคอร์สเท่าเดิม แต่วอลุ่มยังไม่มา ศักยภาพเท่าเดิม

ขณะที่สิ้นปีตั้งเป้าส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ที่ 4% เพิ่มขึ้นจากปี 57 ที่ 2% กว่า ขณะที่ปัจจุบันขยับขึ้นมาอยู่ที่ 3% แล้ว ปัจจุบันมาร์เก็ตติ้ง 256 คน เพิ่มขึ้นกว่า 30 คนจากปลายปี 57 และตั้งเป้าสิ้นปีมีมาร์เก็ตติ้งครบ 280 คน เพราะบริษัทมีแผนเปิดสาขาเพิ่มปีนี้อีก 4-5 สาขา เช่นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งยังไม่มีโบรกฯเลยเพื่อขยายการลงทุน ที่มหาชัย โคราช อุดรธานี เป็นต้น จากปัจจุบันมี 14 สาขา ปัจจุบันมีบัญชีลูกค้า 10,000 ราย แอคทีฟ 20% หรือ 2,000 ราย เป็นลูกค้าเทรดผ่านมาร์เก็ตติ้ง 50% ออนไลน์ 50%

ทั้งนี้ บริษัทคิดอัตราค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (ค่าคอมมิชชั่น) เฉลี่ยที่ 0.10% ของมูลค่าการซื้อขาย ต่ำกว่าอุตฯที่ 0.14% ที่เฉลี่ยของบริษัทต่ำเพียง 0.10% เป็นเพราะนักลงทุนรายใหญ่มีการเทรดมากขึ้น แต่ถ้าช่วงไหนรายใหญ่หยุดเทรดค่าเฉลี่ยก็จะขึ้นไปที่ 0.14%

สำหรับกลยุทธ์การขยายลูกค้าส่วนหนึ่งคือเปิดสาขาใหม่ได้ลูกค้าก็จะตามมาเปิดบัญชี โดยจะเน้นการเปิดสาขาใหม่ เน้นสร้างมาร์เก็ตติ้งใหม่ เลิกดึงมาร์เก็ตติ้งแล้ว สร้างใหม่ดีกว่า เน้นธุรกิจออนไลน์มากขึ้น ยืนยันไม่ทำสงครามราคา

ทั้งนี้ รายได้หลักของบริษัทเป็นรายได้จากธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์สัดส่วน 80% แต่ในปี 2559 อยากลดสัดส่วนลงมาเหลือ 50% ของรายได้รวม ที่เหลือเป็นรายได้จากธุรกิจวาณิชธนกิจ(IB) ธุรกิจเป็นตัวแทนสนับสนุน (Selling Agent)หรือไพรเวทฟันด์ และยิ่งถ้ามีธุรกิจ IB ก็จะมีค่าฟีเข้ามาแทรก

โดยงานด้าน IB ปัจจุบันมีลูกค้าที่ให้บริษัทเป็นที่ปรึกษาทางการเงินนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (IPO) ที่เซ็นสัญญาแล้ว 4-5 ดีล แต่ไม่น่าจะเข้าตลาดทันปีนี้ น่าจะเป็นปี 59 มากกว่า นอกจากนี้ ที่กำลังเจรจาอยู่ในไพพ์ไลน์อีก 6-7 ดีล ซึ่งเท่าที่ดูมีลูกค้าที่จะเข้าตลาดเยอะมากแต่ยังอยู่ในกระบวนการ

ส่วนที่ตลาดหลักทรัพย์ฯได้ดำเนินการทางวินัยกับ บล.เออีซี และเจ้าหน้าที่รับอนุญาตจากการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ทั้งปรับเงิน-ภาคทัณฑ์ 1 ปี นั้น ไม่กระทบต่อความเชื่อมั่นของบริษัท เพราะเมื่อทำผิดก็ยอมรับและจ่ายค่าปรับไปเชื่อว่าคนในวงการจะเข้าใจและเป็นโบรกฯใหม่ไม่น่าจะเสียระบบอะไร เมื่อจ่ายค่าปรับแล้วก็ประกาศตามข้อกำหนด

Back to top button