ย้อนรอยข่าวดังต้นปี 61 “สงครามค่าฟี” ศึกนี้ใครเจ็บน้อยสุด?
ย้อนรอยข่าวดังต้นปี 61 "สงครามค่าฟี (FEE)" ศึกนี้ใครเจ็บน้อยสุด
“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจ และคัดเลือกประเด็นร้อนที่เกิดขึ้นในช่วงในช่วงไตรมาส 1/61 เพื่อมานำเสนอให้นักลงทุนได้อ่านในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ โดยจะนำเสนอเกี่ยวกับประเด็นข่าวที่ร้อนแรง และถูกพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งก็คือเรื่องราวของ “สงครามค่าธรรมเนียม หรือ ค่าฟี”
โดยเป็นเรื่องราวของหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ออกมาประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนเงินงดเว้นค่าธรรมเนียมการโอนเงินข้ามเขต หรือโอนต่างธนาคารแบบทันที จ่ายบิลค่าสินค้าและบริการ บริการเติมเงิน ผ่าน Netbank จนถึงสิ้นปีนี้ แข่งขันกันอย่างดุเดือดเพื่อเปิดศึกชิงลูกค้าให้หันมาใช้บริการอินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้งของตนมากขึ้น
สำหรับรายแรกที่ออกมาประกาศลดค่าฟีรายแรก คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ที่ประกาศออกมาเป็นรายแรกเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.2561 ขณะที่ต่อมา ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ประกาศงดเว้นค่าธรรมเนียมตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค.2561 และทาง ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 29 มี.ค.2561
อย่างไรก็ตาม ธนาคารขนาดเล็กอย่าง ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB ประกาศชัดเจนว่าได้ยกเลิกค่าธรรมเนียมทั้งช่องทางดิจิทัลและตู้ ATM มานานแล้ว
ทั้งนี้ประเด็นดังกล่าวถือเป็นปัจจัยลบในแง่ของรายได้ค่าธรรมเนียมของกลุ่มธนาคารที่จะปรับตัวลดลง ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมนั้น ถือเป็นอีกหนึ่งรายได้หลักของกลุ่มธนาคาร
โดยจากการตรวจสอบข้อมูลของ “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” พบว่า KBANK มีรายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการสูงที่สุดในบรรดา 3 ธนาคารที่ประกาศงดเว้นค่าธรรมเนียม โดยผู้บริหารออกมายอมรับว่า การงดค่าธรรมเนียมดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อรายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารปีนี้ประมาณ 5% ของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย ทั้งนี้ ในปี 60 ธนาคารมีรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอยู่ที่ 6.26 หมื่นล้านบาท ส่งผลกระทบต่อรายได้ของ KBANK ถึง 5.18 หมื่นล้านบาท และเป็นที่แน่นอนว่าเมื่อมีผลกระทบต่อรายได้ของธุรกิจ นักลงทุนก็มีความกังวลในการเข้าลงทุนในหุ้นของ KBANK ไปด้วย ซึ่งเกิดจากความกังวลว่ารายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยของบริษัทปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ในเวลาต่อมา ผู้บริหารของ KBANK ได้ออกมาเปิดเผยว่า ผลกระทบดังกล่าวเริ่มเห็นอย่างชัดเจนตั้งแต่วันที่ธนาคารประกาศใช้แคมเปญนี้ทันที แต่จะเห็นผลมากขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2/61 เป็นต้นไป โดยส่งผลให้การทำธุรกิจของธนาคารต่อจากนี้ไปจะไม่เห็นการเติบโตทางด้านผลประกอบการที่สูง แต่ยังถือว่าเติบโตในอัตราที่ชะลอตัว โดยยังมีรายได้อย่างอื่นมาชดเชย แม้จะไม่สามารถทดแทนรายได้ค่าธรรมเนียมได้ทั้งหมดก็ตาม โดยปัจจุบันธนาคารมีสัดส่วนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย 40% และรายได้ดอกเบี้ย 60%
พร้อมทั้งเปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ธนาคารยกเลิกค่าธรรมเนียมดังกล่าว พบว่ามีลูกค้าที่เข้ามาใช้แอพพลิเคชั่น K PLUS เพิ่มขึ้นเป็น 25,000 ครั้ง/วินาที จากปกติ 12,000 ครั้ง/วินาที แสดงให้เห็นว่าลูกค้ามีการรับรู้ และ ให้ความสนใจที่จะใช้บริการมากขึ้น แม้ธนาคารจะได้รับผลกระทบต่อรายได้ค่าธรรมเนียมที่หายไป แต่ถือว่าการยกเลิกค่าธรรมเนียมเป็นการคืนเงินกลับไปให้ลูกค้า และทำให้ธนาคารสามารถแข่งขันกับธนาคารอื่นได้
สำหรับการชดเชยผลกระทบจากรายได้ค่าธรรมเนียมที่หายไปนั้น ธนาคารก็จะหันมาลดต้นทุนค่าใช้จ่ายทางการตลาดลง แต่ก็เชื่อว่าจะไม่สามารถลดผลกระทบได้ทั้งหมด ซึ่งผลกระทบดังกล่าวจะส่งผลต่อรายได้ของธนาคารอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ไตรมาส 2/61 เป็นต้นไป
จึงเป็นที่น่าจับตาว่าผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคารในไตรมาส 1/61 จะมีรายได้ลดลงมากน้อยเพียงใด และธนาคารใดจะมีผลกำไรมากที่สุด โดยจากการตรวจสอบข้อมูลในส่วนของงบการเงินจากทีมงาน “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” พบว่าในปี 2560 บริษัทที่มีผลการดำเนินงานดีที่สุดจากการเปรียบเทียบระหว่าง SCB, KBANK และ KTB นั้น คือ SCB ที่มีผลกำไรอยู่ที่ 43,151.90 ล้านบาท ขณะที่ KBANK อยู่ในลำดับที่ 2 มีผลกำไรอยู่ที่ 34,338.25 ล้านบาท และ KTB เป็นลำดับที่ 3 มีผลกำไรอยู่ที่ 22,440.01 ล้านบาท
ทั้งนี้ ต้องติดตามว่าผลของ “สงครามค่าฟี (FEE)” ในครั้งนี้ผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/61 นั้น SCB จะยังคงทำกำไรได้มากที่สุดอยู่หรือไม่ และรายได้ของธนาคารทั้ง 3 แห่งจะหายไปเท่าไร โดยทาง “ผู้สื่อข่าว” จะมารายงานผลการดำเนินงานของทั้ง 3 ธนาคารให้ทราบต่อไป