ย้อนรอยข่าวดังปี 61 “ผู้ประกอบการโทรคมนาคม-ทีวีดิจิทัล” กับ 3 ประเด็นร้อนรอผ่าทางตัน!
ย้อนรอยข่าวดังปี 2561 "ผู้ประกอบการคมนาคม-ทีวีดิจิทัล" กับ 3 ประเด็นร้อนรอผ่าทางตัน!
เข้าสู่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจและคัดเลือกประเด็นเด่นประเด็นร้อนที่เกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 1/61 มานำเสนอให้นักลงทุนได้อ่านและติดตามกันในช่วงวันหยุดยาว
โดย ในวันนี้ (13 เม.ย.61) จะเป็นการนำเสนอประเด็นร้อนๆที่เกิดขึ้น และเป็นประเด็นที่ยังต้องจับตาในแวดวงสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ภายใต้การนำธีมของ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ (กสทช.) ซึ่งมีทั้งหมด 3 ประเด็นใหญ่คือ มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล,มาตรการผ่อนผันจ่ายค่าใบอนุญาตคลื่น 900MHZ และแผนการพิจารณาร่างเกณฑ์ประมูลคลื่น 900/1800 MHz รอบใหม่ที่ยังรอความชัดเจนว่าจะมีหลักเกณฑ์อย่างไรและจะสามารถเคาะวันประมูลได้เร็วขนาดไหน
สำหรับประเด็นแรก มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ถือเป็นประเด็นที่น่าจับตามาก เพราะล่าสุด เมื่อวันที่ 11 เม.ย.61 โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คาดว่าภายใน 1 สัปดาห์จากนี้ คสช.จะมีการออก ม. 44 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการดิจิทัล หลังจากมีข้อสรุปเป็นที่ชัดเจนแล้ว ทั้งนี้เนื่องจากผู้ประกอบการต่างๆยังได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนไม่ว่าจะเป็น WORK,MONO,RS,MCOT,BEC ซึ่งหุ้นเหล่านี้ล้วนเผชิญกับภาวะต้นทุนสูงและการแข่งขันสูงจนบางรายขาดทุนยับเยิน จนบางรายต้องคืนใบอนุญาตทีวีดิจิตอลเนื่องจากไม่สามารถดำเนินกิจการไปได้
โดย พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คาดว่า ภายใน 1 สัปดาห์จากนี้ คสช. จะมีการออก ม. 44 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล เนื่องจากเรื่องดังกล่าวมีข้อสรุปเป็นที่ชัดเจนแล้ว และคงไม่จำเป็นต้องนำเรื่องเข้าที่ประชุม คสช.อีกครั้ง เพราะมีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมระบุว่านายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายไว้ว่าเรื่องใดที่มีข้อสรุปแล้วก็ให้ดำเนินการไปได้เลย
ทั้งนี้ มาตรการเยียวยาดังกล่าวสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 13 มี.ค.61 ศาลปกครองกลางพิพากษาให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) คืนค่าธรรมเนียมใบอนุญาตราว 1.5 พันล้านบาท ให้กับบริษัท ไทยทีวีจำกัด ของ นางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย หรือติ๋มทีวีพูล เนื่องจาก กสทช. ผิดสัญญา ทั้งเรื่อง โครงข่ายสัญญาณไม่พร้อมให้บริการ และการเปลี่ยนเป็นระบบดิจิทัลจากเดิมอนาล็อกล่าช้ากว่าแผน
โดยผลจากการพิจารณาของศาลปกครองดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิตัลรายอื่น นำไปใช้เป็นกรณีตัวอย่าง เพื่อลดภาระต้นทุน และความอยู่รอดของทั้งผู้ประกอบการเอง และ เจ้าหนี้ในฐานะผู้ค้ำประกันที่ต้องจ่ายเงินแทน น่าจะถือว่าลดแรงกดดันลงและทำให้ราคาหุ้นกลุ่มทีวีดิจิทัลปรับตัวขึ้น
ขณะเดียวกันในช่วงดังกล่าวรัฐบาลได้เตรียมหารือกับ กสทช.เกี่ยวกับแนวทางเพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัล อาทิ การเลื่อนการชำระค่าประมูลทีวีดิจิทัล ออกไป 3 ปี กสทช.สนับสนุนค่าใช้เช่าโครงข่ายทีวีดิจิทัล 50% เป็นเวลา 3 ปี เป็นต้น
อนึ่งในการประมูลทีวีดิจิทัลปี 2557 มีผู้ชนะประมูล 24 ช่อง จากผู้ประกอบการ 17 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีรายเดิมคือ BEC, MCOT,ช่อง 7 สี, TRUE (TRUE4U,TNN24) ทำให้รัฐได้เงินค่าประมูลรวมทั้งสิ้น 50,862 ล้านบาท (สูงกว่าราตั้งต้น 15,045 ล้านบาท หรือมากกว่า 3.38 เท่า) โดยให้แบ่งจ่ายเป็น 9 งวด ๆ ละปี (2557-2565 มีการยืดระยะเวลาจากเดิมที่กำหนดไว้เพียง 7 ปี) แต่ให้ตัดจำหน่ายใบอนุญาตเป็นเวลา 15 ปี ทั้งนี้ยังไม่รวมต้นทุนอื่น คือ
– ค่าเช่าโครงข่ายปีละ 170 ล้านบาทสำหรับ HD และ 55 ล้านบาท สำหรับช่องที่เหลือ
– ค่าเช่าดาวเทียม Upload สัญญาน ตามกฎ Must carry rule ราวปีละ 12 ล้านบาท
– ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตอีกปีละ 2% ของรายได้
ด้วยเหตุนี้ ทำให้ในการดำเนินงานตั้งแต่ปีแรก ผู้ประกอบการทุกรายประสบภาวะขาดทุน ยกเว้น WORK, RS และ BEC (MONO เพิ่งมามีกำไรในปีหลังๆ เพราะเรตติ้งดีขึ้น)
โดยในการประมูลได้กำหนดให้ทุกรายต้องให้ธนาคารพาณิชย์ออกหนังสือค้ำประกัน (LG) ซึ่งจากจำนวน24 ใบอนุญาต มีธนาคารออก LG รวมกัน 35,229 ล้านบาท (BBL 14 ฉบับ เป็นเงิน 21,606 ล้านบาท BAY 8 ฉบับ 10,940 ล้านบาท และ BAY 2 ฉบับ 2,683 ล้านบาท) ในช่วงที่ผู้ประกอบการมีปัญหาผู้ค้ำประกันจะต้องเข้าไปชำระหนี้แทน ซึ่งถือเป็นปัจจัยกดดันกลุ่มธนาคารในช่วงที่ผ่านมาเช่นกัน
สำหรับมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล นักลงทุนยังคงต้องจับตาและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ว่า คสช.จะมีการออก ม. 44 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการดิจิทัล ออกมาเมื่อไหร่ และมาตรการดังกล่าวจะช่วยเหลือผู้ประกอบได้มากน้อยแค่ไหน?
-ประเด็นที่สอง ที่จะต้องจับตาเป็นแผนการออกมาตรการผ่อนผันจ่ายค่าใบอนุญาตคลื่น 900MHZ จะมีความชัดเจนในการยืดชำระหนี้ได้เช่นเดียวกับ “ทีวีดิจิทัล”มากน้อยขนาดไหน เพราะนั้นหมายถึงการชี้ชะตาหุ้น 2 ตัว อย่าง ADVANC และ TRUE ว่าจะสามารถยืดชำระหนี้ค่าประมูลคลื่น 900MHz งวดสุดท้ายหรืองวดที่ 4 รายละประมาณ 6 หมื่นล้านบาทในปี 2563 ออกไปได้หรือไม่? อีกทั้งจะมีวงเงินกลับมาเข้าร่วมแข่งขันประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์รอบใหม่ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ได้หรือไม่
ด้าน บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) หนึ่งในผู้ประกอบการธุรกิจสื่อสารได้ออกมายอมรับว่าหากรัฐไม่ผ่อนผันขยายเวลาจ่ายค่าใบอนุญาต กระทบการลงทุน-ประมูลคลื่นใหม่
โดย นายวิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มบริษัท (ร่วม) TRUE เปิดเผยว่า บริษัทเคารพในการตัดสินใจหากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีข้อสรุปไม่ให้ขยายระยะเวลาการชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิร์ตซ์ (MHz) งวดสุดท้ายในปี 63 ออกไป ภายหลังจากที่เมื่อเดือนก.ย.60 บริษัทได้ยื่นหนังสือถึงคสช. ขอให้พิจารณาผ่อนผันการชำระค่าใบอนุญาตดังกล่าวออกไปเป็น 7 งวด โดยไม่มีดอกเบี้ย
อย่างไรก็ตาม หากไม่ได้รับความช่วยเหลือ บริษัทก็มองว่าน่าจะส่งผลกระทบต่อแผนการลงทุนของบริษัท และแผนการเข้าประมูลคลื่นความถี่ใหม่ แต่อย่างไรก็ตามการเข้าประมูลคลื่นความถี่ ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการบริษัท อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อภาพรวมอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ในการลงทุนด้านเทคโนโลยีใหม่ เช่น IoT, IoE เป็นต้น เนื่องจากอุตสาหกรรมฯ ถือว่ามีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมถึงส่งผลกระทบต่อภาคประชาชนในการเปลี่ยนผ่านคลื่นความถี่จาก 4G ไป 4.5G และ 5G
นายวิเชาวน์ กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 60 ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลได้ยื่นขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล เพราะราคาประมูลสูงกว่าราคาที่ตั้งไว้ 2 เท่า บริษัทจึงเห็นว่าเมื่อการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ที่ผ่านมามีราคาสูงกว่าราคาเริ่มต้นถึง 6 เท่า จึงน่าจะขอความช่วยเหลือจากรัฐได้
อีกทั้งรูปแบบการชำระเงินค่างวดใบอนุญาตในเอกสารเชิญชวนประมูล (TOR) ที่กำหนดให้แบ่งชำระเป็น 4 งวด ได้แก่ งวดที่ 1 ชำระ 50% หรือ 8,040 ล้านบาท, งวดที่ 2 ชำระ 25% หรือ 4,020 ล้านบาท, งวดที่ 3 ชำระ 25% หรือ 4,020 ล้านบาท และงวดสุดท้ายชำระที่เหลือทั้งหมดรวมดอกเบี้ย หรือราว 60,000 ล้านบาท ถือเป็นจำนวนที่สูงเกินคาดการณ์ ซึ่งหากมีการออกแบบ TOR ให้ดีกว่านี้อาจจะไม่ส่งผลกระทบกับเทคโนโลยีที่จะเข้ามา หรือการประมูลในครั้งต่อไป
ขณะเดียวกัน บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) ได้ยื่นหนังสือถึงคสช.ขอให้รัฐพิจารณาผ่อนผันจ่ายค่าไลเซ่นส์คลื่น 900 MHz โดยคาดหวังให้บริษัทมีงบประมูลคลื่นรอบใหม่
โดย นายวีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจสัมพันธ์และองค์กร บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ADVANC กล่าวว่า ตามที่บริษัทฯได้ยื่นหนังสือถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขอพิจารณาขยายเวลาผ่อนผันการชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ในงวดที่ 4 เนื่องจากราคาประมูลคลื่นดังกล่าวสูงกว่าการประเมินไว้ในตอนแรก ซึ่งหากรัฐบาลมีมติให้ผ่อนผันการชำระเงินค่าคลื่นดังกล่าวออกไปก็จะเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติโดยรวม
ทั้งนี้ หากมีการผ่อนผันบริษัทฯจะมีงบประมาณไปเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ย่านอื่นๆ ในครั้งต่อไปที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำหนดขึ้น และที่สำคัญบริษัทฯจะสามารถนำเงินมาลงทุนขยายโครงข่ายระบบสื่อสารโทรคมนาคมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆเพื่อให้บริการลูกค้า อันได้แก่ประชาชนทั้งประเทศ กลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆที่จะมีนวัตกรรมไปพัฒนาอุตสาหกรรม และธุรกิจต่างๆให้เกิดขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศส่งผลให้ประเทศมีความก้าวหน้ามั่งคง และที่สำคัญเป็นแรงขับเคลื่อนพัฒนาประเทศให้ก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ตามนโยบายรัฐบาลต่อไป
-ส่วนประเด็นที่สาม ที่ต้องจับตานั้นก็คือการพิจารณาร่างเกณฑ์ประมูลคลื่น 900/1800 MHz รอบใหม่ ล่าสุด บอร์ด กสทช.มีมติชะลอการพิจารณาร่างหลักเกณฑ์ประมูลคลื่นดังกล่าว เนื่องจากให้รอผลคัดเลือกบอร์ดชุดใหม่ในวันที่ 19 เม.ย.นี้ อย่างไรก็ตามกระบวนการดังกล่าวจะออกมารูปแบบใดการประมูลคลื่นก็ยังต้องเดินหน้าในปีนี้ตามแผนที่วางไว้และการประมูลครั้งนี้คงหนีไม่พ้น 3 ค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ AVANC,DTAC,TRUE จะเข้าร่วมประมูล
โดย นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กสทช. วันที่ 11 เม.ย.61 มีมติให้ชะลอการพิจารณาร่างประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 1740-1785/1835-1880 เมกะเฮิร์ตซ์ (MHz), ร่างประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 890-895 MHz /935-940 MHz, ร่างประกาศ กสทช.เรื่องแผนความถี่วิทยุกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (IMT) ย่านความถี่ 824-839/869-884 MHz และร่างประกาศ เรื่องแผนความถี่วิทยุกิจการเคลื่อนที่ ย่านความถี่ 885-895/930-940 MHz
ทั้งนี้ ที่ประชุมให้ชะลอการพิจารณาออกไปก่อนจนกว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะมีการดำเนินการลงมติสรรหา กสทช. ชุดใหม่ ในวันที่ 19 เม.ย.61
โดย หลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่ สำนักงาน กสทช.ได้เสนอต่อคณะกรรมการ กสทช.นั้น ยังคงให้ใช้ในหลักเกณฑ์เดิม คือ มีการเปิดประมูล 3 ใบอนุญาตๆ ละ 15 MHz รวม 45 MHz และ บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS) ไม่สามารถเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz ได้
อย่างไรก็ตาม หากเปิดประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ 1800 MHz ได้ในเดือนพ.ค-มิ.ย.61 คาดว่าน่าจะทันกับการสิ้นสุดใบอนุญาต 1800 MHz ที่จะสิ้นสุดอายุสัญญาสัมปทานในวันที่ 15 ก.ย.61
ทั้งนี้ “ผู้สื่อข่าว” มองว่า การที่ กสทช. ชะลอการพิจารณาหลักเกณฑ์ใช้คลื่นดังกล่าวออกไป เป็นปัจจัยกดดัน DTAC ซึ่งถือเป็นรายสำคัญที่ต้องการให้กระบวนการประมูลคลื่นเกิดขึ้นให้เร็วที่สุด เพราะ DTAC เป็นบริษัทเดียวที่ยังเหลือคลื่นภายใต้ระบบสัญญาสัมปทานเดิม ซึ่งสัญญาจะหมดลงใน 15 ก.ย.2561 และหากมีการเปิดประมูลก่อนสัญญาจะหมดลง เชื่อว่า DTAC น่าจะเป็นรายสำคัญในการเข้าชิงคลื่นรอบนี้ เพราะถ้าหากบริษัทชนะการประมูลครั้งนี้ธุรกิจบริษัทก็จะดำเนินไปได้ต่อเนื่อง
โดย นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ยืนยันต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 61 ว่า บริษัทจะเดินหน้าทำธุรกิจในประเทศไทยต่อไป โดยจะเข้าประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ (MHz) อย่างแน่นอน โดยคาดหวังว่าสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะเปิดประมูลคลื่นความถี่รอบใหม่ได้ภายในปีนี้
ขณะที่คลื่นความถี่ 850 และ 1800 MHz ที่อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานระหว่างดีแทคกับ บมจ.กสท โทรคมนาคม ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานลงในวันที่ 15 ก.ย.61 ขณะนี้อยู่ระหว่างรอความชัดเจนของหน่วยงานภาครัฐว่าจะนำคลื่นดังกล่าวไปใช้งานในส่วนใด แต่บริษัทก็มีแนวทางที่จะหาคลื่นความถี่ใหม่เข้ามาทดแทน โดย DTAC จะนำคลื่นความถี่ 2300 MHz มาให้บริการรองรับการใช้งานของลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ความคืบหน้าของการลงนามในสัญญาการเป็นพันธมิตรคลื่นความถี่ 2300 MHz กับ บมจ.ทีโอทีนั้น อยู่ระหว่างรออัยการสูงสุดพิจารณาร่างสัญญาระหว่างสองฝ่าย คาดว่าจะสามารถเซ็นสัญญากันได้ในเร็วๆ นี้ หลังจาก DTAC ชนะการยื่นข้อเสนอด้านเทคนิคและผลตอบแทน เพื่อเป็นคู่ค้าบริการคลื่นความถี่ 2300 MHz จำนวนแบนด์วิธ 60 MHz ของทีโอทีเป็นระยะเวลา 8 ปี
ปัจจุบันบริษัทมีคลื่นความถี่ในครอบครองอยู่ทั้งสิ้น 50 เมกะเฮิร์ตซ์ ถือว่าอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับผู้ประกอบการค่ายโทรศัพท์มือถือรายอื่นๆ และบริษัทยังคงเดินหน้าขยายโครงข่าย 4G ต่อไป โดยจะสร้างเสาสัญญาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าในปีนี้จะลงทุนสร้างเสาสัญญาณเพิ่มอีก 4-5 พันต้น เพื่อทำให้สิ้นปีนี้จะมีเสาสัญญาณจำนวน 2.5 หมื่นต้น เพื่อเป็นการปรับปรุงคุณภาพโครงข่ายรองรับการใช้งานของลูกค้า รวมถึงเป็นการรองรับการสิ้นสุดของสัญญาสัมปทาน
นายนอร์ลิ่ง กล่าวอีกว่า สำหรับภาพรวมผลการดำเนินงานในปีนี้ บริษัทคาดว่าน่าจะทำได้ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อนที่มีรายได้ 7.87 หมื่นล้านบาท และกำไรสุทธิ 2.11 พันล้านบาท เป็นไปตามการเติบโตของลูกค้ารายเดือนที่น่าจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาที่มีการเติบโตราว 2% ขณะที่ลูกค่าเติมเงินปรับตัวลดลง
แน่นอน 3 ประเด็นหลักที่กล่าวมาถือเป็นงานหินสำหรับผู้ประกอบการดิจิทัล และโทรคมนาคมที่จะต้องผ่าทางตันเรื่องทั้งหมดไปได้มากน้อยขนาดไหน และเป็นที่น่าจับตาว่า กสทช.จะมีการดำเนินการอย่างไรเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเหล่านี้ในอนาคต