ย้อนรอยข่าวดังต้นปี 61 ปิดฉากคดี “หงสา” ปลดล็อค BANPU
ย้อนรอยข่าวดังต้นปี 61 ปิดฉากคดี “หงสา” ปลดล็อคหุ้น BANPU
“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจและคัดเลือกประเด็นเด่นประเด็นร้อนที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2561 โดยไฮไลท์ที่สำคัญคงหนีไม่พ้นประเด็นการพิพากษาคดีดังอย่าง “หงสา” ที่มีการต่อสู้กันมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ปี 2555 ระหว่างบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU และกลุ่มของนายศิวะ งานทวี ที่มีการฟ้องร้องกันในข้อหาหลอกลวงเข้าร่วมทำสัญญาร่วมทุนเพื่อประสงค์จะได้ข้อมูลสัมปทานเหมืองถ่านหินในประเทศลาว
โดยเรื่องราวดังกล่าวสืบเนื่องมาจากปี 2533 บริษัทไทย-ลาว ลิกไนต์ (ประเทศไทย) หรือ TLL ได้ร่วมกันกับรัฐบาลลาวพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้า Project Development Agreement (PDA) ซึ่งทางลาวให้สิทธิ TLL ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าด้วยเงินลงทุนของ TLL เองและบริหารโรงไฟฟ้าตามระยะสัมปทาน โดยใช้ถ่านหินที่ขุดได้จากเหมืองดังกล่าวโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์ขึ้นที่จังหวัดหงสา และต่อมาในปี 2547 ทาง TLL ได้ชักชวน BANPU เข้าร่วมในโครงการด้วย แต่ไม่รู้ว่าเพราะเหตุใดทาง TLL ถึงได้ตัด BANPU ออกจากการร่วมโครงการในปี 2549
ทั้งนี้ เวลาผ่านไปไม่นานทาง TLL ไม่สามารถหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมได้ ทำให้ทางรัฐบาลลาวแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรแสดงความกังวลว่า TLL อาจไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลงที่ทำกันไว้ได้ (PDA) อีกทั้งทาง TLL ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ จนในที่สุดทางการลาวได้ยื่นหนังสือขอยกเลิกข้อตกลง PDA ในวันที่ 5 ต.ค. 2549
โดยภายหลังจากนั้นประมาณ 3 เดือน รัฐบาลลาวได้เข้ามาทำข้อตกลงในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าและเหมืองถ่านหินอีกครั้งกับ BANPU โดยมีทางการของลาวร่วมถือหุ้นด้วยในสัดส่วน 20% และนี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาเรื่องการฟ้องร้องระหว่าง TLL ของกลุ่มงานทวี กับรัฐบาลลาว และ TLL กับ BANPU
สำหรับประเด็นข้อพิพาทระหว่าง TLL ของกลุ่มนายศิวะ งานทวี และกลุ่ม BANPU เริ่มต้นขึ้นในปี 2550 หลังนายศิวะ งานทวี กับพวกเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง BANPU และกลุ่มบริษัทในเครือ อาทิ บริษัท บ้านปูเพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP และบริษัท บ้านปู อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในข้อหาหลอกลวงเข้าร่วมทำสัญญาร่วมทุนเพื่อประสงค์จะได้ข้อมูลสัมปทานเหมืองถ่านหิน รวมทั้งรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์ที่เมืองหงสา สปป.และใช้สิทธิไม่สุจริตในการรายงานเท็จทำให้รัฐบาลลาวยกเลิกสัมปทานของนายศิวะกับพวกฯ เพื่อที่บริษัทจะได้เข้าทำสัญญากับรัฐบาลลาวเอง
ต่อมาในปี 2555 ศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาสั่ง BANPU ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นจำนวนเงิน 4,000 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยอีกร้อยละ 7.5 ต่อปี รวมจำนวนค่าเสียหายทั้งสิ้น 31,740 ล้านบาท จากความผิดฐานใช้ข้อมูลของโรงไฟฟ้าหงสา พร้อมให้คืนเอกสารข้อมูลสำรวจโครงการดังกล่าวแก่ TLL แต่ต่อมา BANPU ได้ยื่นได้ยื่นอุทธรณ์และศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง ทำให้คดีดังกล่าวกลับเข้าไปอยู่ในการพิจารณาของศาลนานกว่า 10 ปี
จุดจบของข้อพิพาทดังกล่าวเกิดขึ้นในวันที่ 9 มี.ค.2561 เมื่อ ศาลฎีกาได้นัดฟังคำพิพากษา และได้มีคำสั่งแก้คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ โดยให้กลุ่ม BANPU ชดใช้ค่านำข้อมูลสัมปทานเหมืองถ่านหินของโรงไฟฟ้าหงสาของนายศิวะไปใช้เป็นมูลค่า 1.5 พันล้านบาท พร้อมอัตราดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องในเดือน ก.ค. 50 ซึ่งคิดเป็นมูลค่ารวม 2.62 พันล้านบาท
จากคำตัดสินของศาลฎีกาดังกล่าวทำให้ BANPU ไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายตามข้อเรียกร้องของกลุ่มนายศิวะที่มูลค่า 3 หมื่นล้านบาท และถือเป็นการปิดฉากกคดี”หงสา”ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 10 ปี
ขณะเดียวกันยังถือเป็นการปลดล็อคความกังวลของนักลงทุนที่ถือหุ้น BANPU ให้เกิดความเชื่อมั่นในการเข้าลงทุน โดยภายหลังคำพิพากษาทางบริษัทมีความพร้อมที่จะชำระเงินตามจำนวนดังกล่าว และมั่นใจไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจปกติของบริษัทแต่อย่างใด โดยบริษัทจะบันทึกค่าชำระคดีหงจำนวน 2.70 พันล้านบาท ในไตรมาส 1/61 พร้อมมั่นใจผลการดำเนินงานของบริษัทตั้งแต่ไตรมาส 2/61 เป็นต้นไปบริษัทจะมีแนวโน้มเติบโตอย่างแน่นอน