คัด 5 หุ้น mai ราคาสุดสตรอง! โชว์ 3 เดือนวิ่งกระฉูดสวนดัชนีติดลบเกือบ 50 จุด
คัด 5 หุ้น mai ราคาสุดสตรอง! โชว์ 3 เดือนวิ่งกระฉูดสวนดัชนีติดลบเกือบ 50 จุด นำโดย TITLE,HPT,HOTPOT,PIMO และTPAC
“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจราคาหุ้นของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (mai) ในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา โดยดัชนีตลาดหุ้น mai ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาพบว่า ดัชนีปรับตัวลดลง 9.20% โดยเทียบตั้งแต่ดัชนียืนที่ระดับ 540.37 จุด (29 ธ.ค. 60) ลดลง 49.72 จุด มายืนอยู่ที่ระดับ 490.65 จุด (30มี.ค.61)
โดยดัชนีปรับตัวลดลงเป็นลดลงตลอดช่วง 3 เดือน เนื่องจากมีปัจจัยลบเข้ามากระทบต่อเนื่อง อาทิ ภาพรวมผลดำเนินงานบริษัทจดทะเบียน(บจ.)ปี 2560 มีกำไรสุทธิรวม 4,966 ล้านบาท ลดลง 13.54% ความไม่แน่นอนต่อปัจจัยการเมือง (โรดแมปการเลือกตั้ง) และเป็นช่วงที่หุ้นประกาศจ่ายปันผล (XD) เป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยความวิตกกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งให้เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนส่งผลให้ตลาดผันผวนอย่างหนักและกดดันให้ดัชนีก่อนปิดงบไตรมาส 1/61ไม่สดใส
อย่างไรก็ตามการนำเสนอข้อมูลครั้งนี้จะเลือกนำเสนอราคาหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นโดดเด่น 5 อันดับแรก โดยหุ้นที่คัดเลือกมาปรับตัวขึ้นแรงสวนภาวะตลาดฯและให้ผลตอบแทนเกิน 20% ตามตารางประกอบดังนี้
สำหรับ อันดับ 1 บริษัท ร่มโพธิ์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ TITLE ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น 70.39% โดยราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 3.58 บาท (29 ธ.ค.60) มาอยู่ที่ระดับ 6.10 บาท (30 มี.ค.61) คาดนักลงทุนเข้ามาเก็งกำไรผลประกอบการปีนี้ที่คาดว่าจะออกมาโดดเด่นส่งผลให้ 3 เดือนที่ผ่านมาหุ้นขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง และไม่หวั่นแม้หุ้นจะเข้าเกณฑ์ Cash Balance ตั้งแต่วันที่ 19 มี.ค.61 ยาวไปจนถึง 27 เม.ย.6
ด้าน นายศศิพงษ์ ปิ่นแก้ว ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท ร่มโพธิ์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ TITLE เปิดเผยว่า บริษัทฯตั้งเป้าหมายธุรกิจภายใน 5 ปี (2561-2565) พร้อมก้าวเป็นเบอร์หนึ่ง “อสังหาฯทางเลือก” ของจังหวัดภูเก็ต สำหรับนักท่องเที่ยวทั่วโลก
โดยวางเป้ารายได้ในปี 2561 – 2562 เติบโตเฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 100% เมื่อเทียบจากปี 2560 โดยรายได้รวมจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 600 ล้านบาท และ 900 ล้านบาทตามลำดับ พร้อมกันนี้ บริษัทฯตั้งเป้ารักษาอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) ไม่ต่ำกว่า 40% และรักษาอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) ไม่ต่ำกว่า 20%
โดยปัจจุบันบริษัทฯมียอดขายรอการโอน (Backlog) อยู่ที่ 1,200 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะทยอยรับรู้รายได้ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป นอกจากนี้ บริษัทฯยังมียอดรอการขายอีก 600 ล้านบาท สำหรับแผนธุรกิจปีนี้บริษัทฯวางแผนเปิดโครงการใหม่ จำนวน 2 โครงการ มูลค่า 2,500-3,000 ล้านบาท พร้อมงบซื้อที่ดินไว้ที่ 300-400 ล้านบาท เพื่อรองรับโครงการใหม่ในอนาคตและเพื่อสร้างการเติบโตของบริษัทฯอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน
อันดับ 2 บริษัท วินท์คอม เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ VCOM ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น 37.28% โดยราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 1.10 บาท (29 ธ.ค.60) มาอยู่ที่ระดับ 1.51 บาท (30มี.ค.61) ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นตามแผนธุรกิจออกมาโดดเด่นและตัวเลขผลประกอบการปี 60 ที่ออกมาสดใสในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา
โดยบริษัทรายงานผลการดำเนินงานประจำปี 60 มีกำไรโตเด่น 126% มาที่ 21.07 ลบ.จากปีก่อน 9.30 ลบ.เนื่องจากรายได้จากการขายปี 2560 เพิ่มขึ้นเป็น 167.42 ล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 130.28 ล้านบาท นอกจากนี้บริษัทเตรียมปันผลจากงวดการดำเนินงานวันที่ 1 ม.ค.60 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 60 เป็นเงินสด 0.0323บาท กำหนดขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 19 เม.ย.61 และกำหนดจ่ายเงินปันผลวันที่ 4พ.ค.61
ด้านนางสาวนิจวรรณ เชาว์กิตติโสภณ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด HPT เปิดเผยว่า แนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 1/61 บริษัทคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผลิตภัณฑ์ของบริษัทยังมีคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) เข้ามาอย่างต่อเนื่อง
โดยในปี 61 บริษัทตั้งเป้าจะมีรายได้เติบโต 10-15% จากงวดปี 2560 ที่มีรายได้ 170 ล้านบาท เนื่องจากปัจจุบันมีงานในมือ (Backlog) อยู่ที่ประมาณ 40 ล้านบาท คาดว่าจะรับรู้รายได้ในระหว่าง 60-90 วัน ซึ่งคำสั่งซื้อยังมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ในปี 61 บริษัทจะเน้นขบวนการปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิตมากขึ้น หลังในช่วงที่ผ่านมาบริษัทมีการลงทุนเครื่องจักรไปแล้ว ซึ่งจะส่งผลให้มีปริมาณการผลิตปรับเพิ่มขึ้น โดยปี 61 คาดว่าจะมีกำลังการผลิตอยู่ที่ระดับ 3.90 ล้านชิ้นต่อปี ปรับเพิ่มขึ้น 10% จากปี 60 ที่อยู่ระดับ 3.60 ล้านชิ้นต่อปี
ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศอยู่ที่ 95% และจากประเทศไทยอยู่ที่ 5% โดยบริษัทมีการจำหน่ายสินค้าไปยังทวีปอเมริกา ทวีปยุโรป ทวีปออสเตรเลีย รวมถึงทวีปเอเชีย และอื่นๆ ดังนั้นจึงเชื่อว่าจะสนับสนุนให้ผลประกอบการเติบโตอย่างมั่นคงในอนาคต
อย่างไรก็ตาม นางสาวนิจวรรณ กล่าวต่อว่า ในปี 2561-2562 คาดว่าจะมีสัดส่วนรายได้ในประเทศปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 7% จากปัจจุบันที่อยู่ 5% เนื่องจากบริษัทจะเดินหน้ารุกตลาดในประเทศมากขึ้น โดยจะเน้นขายสินค้าให้ครอบคลุมแบบครบวงจร เพื่อให้บริการครบทุกด้าน ผลักดันผลประกอบการให้เติบโตอย่างมั่นคงในอนาคต
โดยประเมินว่าตลาดในประเทศไทยมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะมีผู้ผลิตไม่มากนัก โดยบริษัทมีจุดเด่นที่แตกต่างจากรายอื่นๆ ซึ่งมีราคาถูก และมีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ลูกค้าจำนวนมาก ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่จะเข้าไปสร้างรายได้ให้แก่ธุรกิจ
ส่วนกิจการร่วมค้าภายใต้ชื่อ Central Hospitality ที่บริษัทถือหุ้น 75% มีแนวโน้มเติบโตในทิศทางที่ดี หลังจากปี 2560 นับเป็นปีแรกที่เริ่มดำเนินการ ทำให้มีความพร้อมมากขึ้น ประกอบกับมีฐานลูกค้าเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จึงเชื่อว่าจะเป็นอีกช่องทางที่จะสนับสนุนให้ผลประกอบการของบริษัทเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
อันดับ 3 บริษัท ฮอท พอท จำกัด (มหาชน) หรือ HOTPOT ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น 29.14% โดยราคาหุ้นปรับตัวจากระดับ 1.51 บาท (29 ธ.ค.60) มาอยู่ที่ระดับ 1.95 บาท (30 มี.ค.61) คาดนักลงทุนเก็งกำไรแผนงานธุรกิจที่ออกมาโดดเด่นและส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรงนับตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม
นายอภิชัย เตชะอุบล ประธานกรรมการ บริษัท ฮอท พอท จำกัด (มหาชน) หรือ HOTPOT เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯมีมติเห็นชอบให้เสนอต่อทีประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2561 เพื่อพิจารณาและอนุมัติการเปลี่ยนแปลงชื่อบริษัทและชื่อย่อหลักทรัพย์ จากชื่อ บริษัท ฮอท พอท จำกัด (มหาชน) และมีชื่อภาษาอังกฤษว่า “HOT POT PUBLIC COMPANY LIMITED” เปลี่ยนเป็น บริษัท เจซีเค ฮอสพิทอลลิตี้ จำกัด (มหาชน) และมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “JCK HOSPITALITY PUBLIC COMPANY LIMITED” และ เปลี่ยนชื่อย่อ จาก HOTPOT เป็น JCKH
ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัทฯเริ่มดำเนินธุรกิจร้านอาหารสุกี้ชาบู โดยใช้ชื่อแบรนด์หลักคือ ฮอท พอท เกินกว่า 15 ปี ต่อมาภายหลังบริษัทฯได้เข้าซื้อกิจการร้านอาหารแบรนด์ไดโดมอน และเปิดร้านอาหารประเภทอื่นๆ โดยใช้ชื่อแบรนด์แตกต่างกันออกไปเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ปัจจุบันดำเนินกิจการร้านอาหารภายใต้แบรนด์ต่างๆ อันได้แก่ ฮอท พอท อินเตอร์ บุฟเฟ่ต์, ฮอท พอท สุกี้ชาบู, ไดโดมอน, ซิกเนเจอร์, ทูมาโท้อิตาเลียน คิทเช่น และซุปเปอร์ พอท
นอกจากนี้ในปีนี้จะปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจใหม่โดยบริษัทฯ มีแผนจะเข้าซื้อกิจการร้านอาหารเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มความหลากหลายของประเภทอาหารและมีแบรนด์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น และในปัจจุบันมีหลายแบรนด์เชิญเข้าไปหารือให้เข้าร่วมทุนและเป็นพันธมิตร คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในเร็วๆ นี้
ทั้งนี้มั่นใจว่าธุรกิจในอนาคตมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากปีที่ผ่านมาได้มีการปิดสาขาของร้านฮอท พอท สุกี้ชาบู ประมาณ 40 สาขา ทำให้ปัจจุบันฮอตพอทมีสาขาเหลือจำนวน 104 แห่ง เพื่อลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจ ควบคู่ไปกับการบริหารต้นทุนการผลิตอาหาร (food cost) จากเดิมอยู่ที่ 48-50% ของรายได้ ปัจจุบันสามารถลดลงเหลือประมาณ 42%
รวมทั้งคาดว่าจะสามารถปรับลดลงได้อีก ซึ่งจะทำให้อัตรากำไรขั้นต้นปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีกับผลการดำเนินงานโดยรวมของบริษัทฯ และคาดว่าผลประกอบการในส่วนของ EBITDA จะเป็นบวกได้ตั้งแต่ไตรมาส 2/61 และในปีนี้คาดว่าจะเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี ที่ผลกำไรสามารถพลิกกลับมาเป็นบวกได้
พร้อมกันนี้คณะกรรมการมีมติที่จะขออนุมัติจากผู้ถือหุ้นให้เพิ่มทุนจดทะเบียน จำนวน 73,080,000 บาท จากทุนจดทะเบียนเดิม 121,800,000 บาท เป็นทุนจดทะเบียนใหม่จำนวน 194,880,000 บาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่ จำนวน 292,320,000หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.25 บาท
โดยจะแบ่งจัดสรรจำนวนไม่เกิน 243,600,000 หุ้น จะเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ (Rights Offering) ในอัตราส่วน 2 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ในราคาเสนอขายหุ้นละ1.30 บาท และอีกส่วนจำนวนไม่เกิน 48,720,000 หุ้น จะเสนอขายในคราวเดียวหรือแบ่งเป็นส่วนๆ ให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ตามแบบมอบอำนาจไป (General Mandate) ทั้งนี้ให้กำหนดวันประชุมสามัญผู้หุ้นประจำปี 2561ในวันจันทร์ที่ 23 เมษายน 2561
“เงินที่คาดว่าจะได้รับจากการเพิ่มทุนครั้งนี้ประมาณ 317 ล้านบาท จะทำให้มีส่วนของทุนเพิ่มขึ้นเป็น 350 ล้านบาท จากเดิมที่มีอยู่เพียง 33.38 ล้านบาท DE Ratio ลดจาก 15 เท่า เหลือเพียง 1.4 เท่า ดังนั้นการเพิ่มทุนในครั้งนี้ จะทำให้บริษัทฯ มีฐานทุนและฐานะทางการเงินที่เข้มแข็งขึ้น โดยเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนครั้งนี้จะนำไปใช้เป็นทุนหมุนเวียนสำหรับขยายธุรกิจและเทคโอเวอร์ร้านอาหารแบรนด์ใหม่ๆ เพิ่มเข้ามา เพื่อสร้างรายได้และกำไรให้บริษัทฯ เติบโตได้อย่างแข็งแกร่งต่อไปในอนาคต”นายอภิชัย
อันดับ 4 บริษัท ไพโอเนียร์ มอเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ PIMO ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น 28.80% โดยราคาหุ้นปรับตัวจากระดับ 1.91 บาท (29 ธ.ค.60) มาอยู่ที่ระดับ 2.46 บาท (30 มี.ค.61) คาดนักลงทุนเก็งกำไรหุ้นเล็ก อีกทั้งหุ้นเป็นขาลงมานานทำให้มีแรงซื้อเก็งกำไรทางเทคนิคเข้ามาสนับสนุน
บล.เออีซี ระบุในบทวิเคราะห์ว่า PIMO (SELL:[email protected]): ปี 61 แม้คาดกำไรฟื้นตัว 56.8% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามกำลังซื้อในประเทศที่ดีขึ้นและค่าใช้จ่ายที่ปรึกษาลดลงแต่ด้วยความล่าช้าของโครงการ VSM และราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้นกดดันศักยภาพทำกำไรให้ไม่สดใสเหมือนก่อนทำให้ช่วงสั้นยังไม่น่าสนใจลงทุน
อันดับ 5 บริษัท พลาสติค และหีบห่อไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TPAC ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น 28.45 % โดยราคาหุ้นปรับตัวจากระดับ 11.60 บาท (29 ธ.ค.60) มาอยู่ที่ระดับ 14.90 บาท (30 มี.ค.61) คาดราคาหุ้นปรับตัวดีตามพื้นฐานบริษัทที่ทำกำไรโตต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน โดยบริษัทเป็นผู้นำด้านการอุตสาหกรรมการผลิตวัสดุหีบห่อและบรรจุภัณฑ์พลาสติกประเภทคงรูป (Rigid Plastic Packaging) ในรูปแบบต่างๆ ตามความต้องการของลูกค้าและตลาด
นอกจากนี้บริษัทเตรียมปันผลจากงวดการดำเนินงานวันที่ 1 ก.ค. 60 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 60 เป็นเงินสด 0.03 บาท กำหนดขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 3 พ.ค.61 และกำหนดจ่ายเงินปันผลวันที่ 18 พ.ค.61 ทั้งนี้การปันผลดังกล่าวจะต้องได้รบการอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2561 ก่อน
*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน