ลุ้น PTTEP โชว์กำไร Q1 ทะลุ 1.3 หมื่นลบ. ฟากโบรกฯเชียร์ “ซื้อ” เคาะเป้าสูงลิ่ว 130 บ.
ลุ้น PTTEP โชว์กำไร Q1 ทะลุ 1.3 หมื่นลบ. รับเงินบาทแข็งค่า รวมถึงราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูง ฟากโบรกฯเชียร์ "ซื้อ" เคาะเป้าสูงลิ่ว 130 บ.
หลังใกล้เข้าสู่ช่วงประกาศผลประกอบการงวดไตรมาส 1/61 บรรดานักวิเคราะห์หลายสำนักต่างออกมาประเมินผลการดำเนินงานของบริษัทกันอย่างมากมาย และวันนี้ “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้หยิบยกข้อมูลและบทวิเคราะห์ของบริษัทจดทะเบียนไซส์ใหญ่อย่าง บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP หนึ่งในเครือของบริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ได้ประเมินกำไรสุทธิของ PTTEP ในช่วงไตรมาส 1/61 ว่าจะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งเป็นผลมาจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในไตรมาสนี้ รวมถึงได้อานิสงค์จากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น ช่วยหนุนในเรื่องราคาขาย
โดยราคาหุ้น PTTEP ปิดตลาดวานนี้ (17 เม.ย.61) ที่ระดับ 122 บาท เพิ่มขึ้น 4 บาท หรือ 3.39% สูงสุดที่ระดับ 122 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 120 บาท มูลค่าการซื้อขาย 2.42 พันล้านบาท
โดยนักวิเคราะห์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ระบุว่า ขณะนี้กำหนดคำแนะนำ “ซื้อ” หุ้น PTTEP พร้อมกับให้ราคาเป้าหมาย 130 บาท โดยคาดผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 1/2561 จะมีโอกาสทำกำไรสุทธิเติบโตขึ้นต่อเนื่อง
สำหรับงวดไตรมาสแรกคาดกำไรสุทธิอยู่ที่ระดับ 1.35 หมื่นล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 10% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน และเพิ่มขึ้น 43% จากงวดไตรมาส 4/60 ขณะที่ทิศทางกำไรปกติไตรมาส 1/61 จะอยู่ที่ระดับ 8.97 พันล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นอีก 25% จากไตรมาส 4/60 โดยกำไรปกติที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากราคาขายเฉลี่ย (ASP) จะปรับเพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 43.7 เหรียญสหรัฐ ตามราคาน้ำมันดิบดูไบที่ปรับเพิ่มขึ้น 8% จากไตรมาส 4/2560 มาอยู่ที่ระดับ 63.9 เหรียญต่อบาร์เรล ส่วนปริมาณขายคาดลดลงมาที่ 2.98 แสนบาร์เรลต่อวัน
ขณะที่ภาพรวมงวดปี 2561 คาดการณ์กำไรจะอยู่ที่ระดับ 3.64 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 77% จากงวดปี 2560 ซึ่งมาจากแนวโน้มราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยที่สูงขึ้น จึงช่วยสนับสนุนราคาขาย โดยทางฝ่ายคงสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบปี 2561 ที่ระดับ 62 เหรียญต่อบาร์เรล สูงกว่าปี 2560 ที่อยู่ระดับ 53 เหรียญต่อบาร์เรล
นอกจากนี้ กรณีที่บริษัทมีการเข้าซื้อสัดส่วนลงทุน 22.22% โครงการบงกช จากบริษัท Shell ยังทำให้ปริมาณขายปี 2561 จะเพิ่มขึ้นราว 6% หรือประมาณ 1.7 หมื่นบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ปริมาณขายรวมที่ 3.18 แสนบาร์เรลต่อวัน ประกอบกับโครงการดังกล่าวจะผลิตก๊าซเป็นหลักและต้นทุนต่ำกว่าของเหลว ทำให้ต้นทุนเฉลี่ยไม่ปรับเพิ่มขึ้นมาก
ด้านกรณีการต่อสัมปทานแหล่งบงกชและเอราวัณที่จะเสนอ TOR เข้าบอร์ดกพช. วันที่ 23 เม.ย.นี้ โดยคาดจะเปิด TOR ได้ราวเดือน เม.ย.-พ.ค. และจะรู้ผลผู้ชนะราวเดือน ธ.ค. 2561 ซึ่งทางฝ่ายมองเป็น Sentiment เชิงบวก เนื่องจาก PTTEP มีประสบการณ์ในแหล่งดังกล่าวมานาน ทำให้บริษัทมีศักยภาพและความพร้อมในการประมูลสูง
ขณะที่นักวิเคราะห์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุว่า คาดการณ์กำไรปกติของ PTTEP ในช่วงไตรมาส 1/61 อยู่ที่ราว 1.2 หมื่นล้านบาท เติบโต 23% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 3.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกำไรที่เติบโตสูงกว่าไตรมาสก่อนเป็นเพราะค่าเงินบาทในไตรมาสนี้ที่แข็งค่าขึ้น 1.1 บาท/ดอลลาร์ ทำให้ภาษีจ่ายลดลง ส่วนกำไรปกติที่โตเพียง 3.5% จากปีก่อนเนื่องจากฐานกำไรในไตรมาส 1/60 ค่อนข้างสูงเนื่องจากค่าใช้จ่ายในการสำรวจต่ำกว่าปกติและมีการเครดิตภาษี
ขณะที่ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ โดยคาดผลการดำเนินงานของ PTTEP ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น ขณะที่ราคาเหมาะสมมีโอกาสปรับเพิ่มจากการได้โครงการใหม่ ระยะสั้นได้ปัจจัยบวกจากราคาน้ำมันดิบ Brent ที่ยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับรายงานประจำเดือนของสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ที่บ่งชี้ถึงราคาน้ำมันที่เริ่มเข้าสู่เสถียรภาพ ยังคงเป็นบวกต่อ บมจ.ปตท. (PTT) และ PTTEP
อีกทั้ง บล.เคที ซีมิโก้ ระบุทางเทคนิคว่า ราคาหุ้น PTTEP เคลื่อนไหว Sideways ต่อเนื่อง พร้อมทั้งยังมีโอกาสขึ้นมาทดสอบแนวต้าน High เดิม 123.50 บาท และถ้าราคาผ่านขึ้นไปได้ ราคาจะขึ้นต่อด้วยสัญญาณซื้อ และกลับเข้าสู่แนวโน้มขาขึ้น โดยมีแนวรับ 114 / 109.50 บาท และแนวต้าน 118.50 / 123.50 บาท