เจ๊งกันถ้วนหน้า! 11 หุ้น mai ราคาร่วงแรง 3 เดือนดิ่งหนักเกิน30%  

เจ๊งกันถ้วนหน้า 11 หุ้น mai ราคาร่วงหนัก 3 เดือนทรุดเกิน30% นำโดย  UKEM,TSF,DNA,EFORL,FSMART,NCL,GCAP,NBC, TMILL,T และ MPG


ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์ได้ทำการสำรวจราคาหุ้นของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (mai) ในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา โดยดัชนีตลาดหุ้น mai ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาพบว่า ดัชนีปรับตัวลดลง 9.20% โดยเทียบตั้งแต่ดัชนียืนที่ระดับ 540.37 จุด (29 ธ.ค. 60) ลดลง 49.72 จุด มายืนอยู่ที่ระดับ 490.65 จุด (30มี.ค.61)

โดยดัชนีปรับตัวลดลงเป็นลดลงตลอดช่วง 3 เดือน เนื่องจากมีปัจจัยลบเข้ามากระทบต่อเนื่อง อาทิ ภาพรวมผลดำเนินงานบริษัทจดทะเบียน(บจ.)ปี 2560 มีกำไรสุทธิรวม 4,966 ล้านบาท ลดลง 13.54%  ความไม่แน่นอนต่อปัจจัยการเมือง (โรดแมปการเลือกตั้ง) และเป็นช่วงที่หุ้นประกาศจ่ายปันผล (XD) เป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยความวิตกกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งให้เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนส่งผลให้ตลาดผันผวนอย่างหนักและกดดันให้ดัชนีก่อนปิดงบไตรมาส 1/61ไม่สดใส

อย่างไรก็ตามครั้งก่อนได้นำเสนอข้อมูลราคาหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปแล้วครั้งนี้จะขอนำเสนอราคาหุ้นที่ปรับตัวลงแรง โดยคัดเลือกมานำเสนอ 10 อันดับ โดยหุ้นที่คัดเลือกมาส่วนใหญ่ปรับตัวลงแรงเกิน 30% ตามตารางประกอบดังนี้

อันดับ 1 บริษัท ยูเนี่ยน ปิโตรเคมีคอล จำกัด (มหาชน) หรือ UKEM ราคาหุ้นปรับตัวลดลง 44.62% โดยราคาหุ้นปรับตัวลดลงจากระดับ 1.86 บาท (29 ธ.ค.60) มาอยู่ที่ระดับ 1.03 บาท (30 มี.ค.61) คาดหุ้นปรับตัวลงแรงหลังนักลงทุนได้ได้รับสิทธิเงินปันผลเป็นหุ้นและเงินสด

โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติให้เสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติจ่ายปันผลเป็นหุ้นสามัญและเงินสด และเสนอพิจารณาอนุมัติออกและเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัท ครั้งที่ 2 (UKEM-2) ให้กับผู้ถือหุ้นเดิม โดยกำหนดวันขึ้นเครื่องหมาย XD (ไม่รับสิทธิปันผล) และเครื่องหมาย XW (ไม่ได้รับวอร์แรนต์) ภายในวันที่ 7 ก.พ. 2561

สำหรับหุ้นปันผลที่จัดสรรให้ผู้ถือหุ้นบริษัทอยู่ในอัตรา 2 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นปันผล คิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้นไม่เกิน 103,028,450 บาท หรือคิดเป็นอัตราการจ่ายปันผล 0.125 บาทต่อหุ้น

ส่วนการออก UKEM-W2 จัดสรรแบบไม่คิดมูลค่าให้กับทางผู้ถือหุ้นเดิมในอัตรา 8 หุ้นสามัญเดิมต่อ 1 หน่วยใบสำคัญแสดงสิทธิ คิดเป็นจำนวนไม่เกิน 103,028,450 หน่วย กำหนดราคาใช้สิทธิ 0.5 บาท ในอัตราใช้สิทธิ 1 วอร์แรนต์ต่อ 1 หุ้นสามัญ มีอายุ 2 ปี

อย่างไรก็ตามหุ้นรายนี้พื้นฐานยังแกร่งเห็นได้จากผลงานปี2557-2560 ยังมีกำไรต่อเนื่อง ดังนั้นการอ่อนตัวถือเป็นการเข้าสะสมหุ้นได้อีกรอบ

 

อันดับ 2 บริษัท ทรีซิกตี้ไฟว์ จำกัด (มหาชน) หรือ TSF ราคาหุ้นปรับตัวลดลง 44.62% โดยราคาหุ้นปรับตัวลดลงจากระดับ 0.09 บาท (29 ธ.ค.60) มาอยู่ที่ระดับ 0.05 บาท (30 มี.ค.61) คาดนักลงทุนเทขายเนื่องจากผลประกอบการบริษัทออกมาไม่สดใส อีกทั้งแผนธุรกิจยังไม่ชัดเจนโดดเด่นทำให้นักลงทุนทยอยขายหุ้นต่อเนื่อง

 

อันดับ 3 บริษัท ดีเอ็นเอ 2002 จำกัด (มหาชน) หรือ DNA  ราคาหุ้นปรับตัวลดลง 43.96% โดยราคาหุ้นปรับตัวลดลงจากระดับ 0.91 บาท (29 ธ.ค.60) มาอยู่ที่ระดับ 0.51 บาท (30 มี.ค.61) คาดนักลงทุนเทขายหุ้น เนื่องจากพื้นฐานบริษัทไม่โดยบริษัทมีผลขาดทุนมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2557 อีกทั้งแผนธุรกิจไม่มีความชัดเจนทำให้นักลงทุนขายหุ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยผลการดำเนินงานปี 2560 ขาดทุนสุทธิ 248.78 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนขาดทุน 348.72 ล้านบาท ส่วนการประกอบธุรกิจของกลุ่มบริษัท สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลักได้แก่ 1) ธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้าประเภทสื่อโฮมเอนเตอร์เทนเมนท์ (Home Entertainment) ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท

2) ธุรกิจสื่อโฆษณาและบันเทิง ซึ่งดำเนินการและบริหารจัดการโดยบริษัทย่อยคือ DNA Revolution และกิจการร่วมค้าของกลุ่มบริษัทได้แก่ Smallroom, Primetime Entertainment และ Primetime Solution 3)ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (Food and Beverage) ดำเนินการโดยบริษัทย่อยคือ Mr. Bun ซึ่งบริหารจัดการร้านเบเกอรี่มิสเตอร์บัน

 

อันดับ 4 บริษัท อี ฟอร์ แอล เอม จำกัด (มหาชน) หรือ EFORL ราคาหุ้นปรับตัวลดลง 42.86% โดยราคาหุ้นปรับตัวลดลงจากระดับ 0.07 บาท (29 ธ.ค.60) มาอยู่ที่ระดับ 0.04 บาท (30 มี.ค.61) คาดนักลงทุนทยอยขายหุ้นออกมาต่อเนื่องตามพื้นฐานบริษัทที่ไม่สดใส ขณะเดียวกันหุ้นยังรอความชัดเจนหลายเรื่อง อาทิ ศาลนัดสืบพยานคดีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน โซลาริส จำกัด (Solaris)ฟ้องบ.ย่อยกรณีผิดนัดตั๋ว B/E ในวันที่ 19-20 มิ.ย.61

อีกทั้ง EFORL ขอขยายระยะเวลาการชี้แจงการที่บริษัท วุฒิศักดิ์ คลินิก อินเตอร์ กรุ๊ป จำกัด (WCIG) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยโดยทางอ้อม ที่ลงนามให้สิทธิในสัญญาแฟรนไชส์และสัญญาซื้อขายทรัพย์สิน “วุฒิศักดิ์คลินิก” จำนวน 25 สาขา แก่บริษัท ไฮ เฮลธ์แคร์ เซ็นเตอร์ จำกัด (HHC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบมจ.ฟิลเตอร์ วิชั่น (FVC) โดยขอขยายระยะเวลาการชี้แจงการทำรายการดังกล่าวออกไปอีกเป็นภายในวันที่ 30 มีนาคม 2561

ทั้งนี้ เนื่องจากยังได้รับเอกสารไม่ครบถ้วนจาก WCIG เช่น เอกสารแนบท้ายของสัญญาแฟรนไชส์ ระหว่างบริษัท วุฒิศักดิ์ คลินิก อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด กับบริษัท ดับบลิว เวลเนส จำกัด และยังไม่ได้รับสัญญาซื้อขายทรัพย์สินฉบับสมบูรณ์ ฉบับลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561 ระหว่าง บริษัท วุฒิศักดิ์ คลินิก อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด และบริษัท ไฮ เฮลธ์แคร์ เซ็นเตอร์ จำกัด รวมทั้งสัญญาที่เกี่ยวข้อง

โดยสำนักงานกฎหมายพรธิดาและธีรพล มีความเห็นให้ EFORL ติดตามเร่งรัดให้บริษัท วุฒิศักดิ์ คลินิก อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด จัดส่งเอกสารให้ครบถ้วน ภายในวันที่ 22 มีนาคม 2561 เพื่อให้ บริษัท สำนักงานกฎหมายพรธิดาและธีรพล จำกัด ตรวจสอบการทำธุรกรรมดังกล่าวของบริษัท วุฒิศักดิ์ คลินิกอินเตอร์กรุ๊ป จำกัด และให้ความเห็นทางกฎหมายต่อ EFORL เพื่อให้ EFORL พิจารณาประกอบการชี้แจงการทำธุรกรรมของบริษัท วุฒิศักดิ์ คลินิก อินเตอร์กรุ๊ป จำกัดต่อไป

ล่าสุด  EFORL จะเพิ่มทุน 1.61 หมื่นล้านหุ้นขาย PP จำนวน 5 ราย ที่ราคาหุ้นละ 0.04 บาท ระดมทุนราว 644.33 ล้านบาท ใช้รองรับการดำเนินงานธุรกิจเครื่องมือแพทย์ และธุรกิจความงาม ที่มีแผนการทำโรงพยาบาลศัลยกรรมความงาม โดยมีแผนจะใช้เงินลงทุนส่วนนี้ในช่วงไตรมาส 3/61 โดยภายหลังการเพิ่มทุนครั้งนี้ส่งผลให้นายวิชัย ทองแตง เข้ามาถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 22.68%

 

อันดับ 5 บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ  FSMART ราคาหุ้นปรับตัวลดลง 38.64% โดยราคาหุ้นปรับตัวลดลงจากระดับ 17.60 บาท (29 ธ.ค.60) มาอยู่ที่ระดับ 10.80 บาท (30 มี.ค.61) นักลงทุนทยอยขายหุ้นเนื่องจากกังวลนักวิเคราะห์ปรับประมาณการปี 61-62 ลง อีกทั้งวิตกกังวลข่าวธปท.หนุนร้านโชห่วยทำ“แบงก์กิ้งเอเย่นต์”

ด้านนายสมชัย สูงสว่าง กรรมการผู้จัดการ FSMART เปิดเผยว่า บริษัทไม่มีความกังวลกับประเด็นดังกล่าว เพราะเป็นลูกค้าคนละกลุ่มกัน โดยบริษัทมีฐานลูกค้าที่ขยายไปตามชนบทและไม่ใช่ทำเลของร้านสะดวกซื้อดังกล่าว เพราะลูกค้าของบริษัทส่วนใหญ่ทำรายการที่มีมูลค่าเงินไม่มาก เฉลี่ย 700 บาทต่อรายการ และต้องการความรวดเร็ว ประกอบกับบริษัทมีตู้บุญเติมในร้านสะดวกซื้อ 7-11 ประมาณ 8,000 ตู้ ซึ่งไม่มีธุรกรรมการโอนเงิน ดังนั้นจึงไม่มีความกังวลกรณีนี้

นอกจากนี้ ในปี 2561 บริษัทมีแผนเพิ่มจำนวนตู้บุญเติมในอีก 20,000 ตู้ ซึ่งจะส่งผลให้สิ้นปี 2561 จะมีตู้บุญเติมครอบคลุมทุกพื้นที่ 144,653 ตู้ ปรับเพิ่มขึ้นจากปี 2560 มีตู้บุญเติมรวม 124,653 ตู้ โดยกำหนดงบลงทุนในการขยายตู้ประมาณ 500 ล้านบาท

สำหรับแนวโน้มผลประกอบการปี 2561 บริษัทตั้งเป้ามีรายได้เติบโต 15-20% จากปี 2560 มีรายได้ 3,105 ล้านบาท โดยบริษัทวางกลยุทธ์ที่หลากหลาย และเน้นคุณภาพครบทุกด้าน เพื่อการเติบโตทุกช่องทาง ด้วยหลักการบริหารจัดการยอดเติมเงินเฉลี่ยต่อตู้ต่อเดือน (ARPU) ให้เติบโตไม่ต่ำกว่า 5% จากปี 2560 เฉลี่ยอยู่ที่ 32,000 บาทต่อตู้

ล่าสุดบริษัทแจ้งว่าที่ประชุมคณะกรรมการเมื่อวันที่ (30 มี.ค.)มีมติอนุมัติโครงการซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารทางการเงินโดยจะใช้เงินสูงสุดไม่เกิน 300 ล้านบาท เพื่อซื้อหุ้นคืนไม่เกิน 20 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็นสัดส่วน 2.5% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด ซึ่งจะเป็นการซื้อในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย.-17 ต.ค.61

ส่วนการจำหน่ายหุ้นที่ซื้อคืนจากตลท.จะเสนอขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายหลัง 6 เดือนนับแต่การซื้อหุ้นคืนเสร็จสิ้น แต่ต้องไม่เกิน 3 ปี เพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนอีกครั้ง

*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button