TPIPP วิ่งกว่า 4% ลุ้นกำไรปี 61-62 ทำนิวไฮต่อเนื่อง หลัง COD โรงไฟฟ้าครบ 440MW ในปีนี้
TPIPP วิ่งกว่า 4% ลุ้นกำไรปี 61-62 ทำนิวไฮต่อเนื่อง หลัง COD โรงไฟฟ้าครบ 440MW ในปีนี้ โดย ณ เวลา 15.10 น. ราคาอยู่ที่ระดับ 6.35 บาท เพิ่มขึ้น 0.25 บาท หรือ 4.10% สูงสุดที่ระดับ 6.35 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 6.10 บาท มูลค่าการซื้อขาย 148.37 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หุ้นบริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP ณ เวลา 15.10 น. ราคาอยู่ที่ระดับ 6.35 บาท เพิ่มขึ้น 0.25 บาท หรือ 4.10% สูงสุดที่ระดับ 6.35 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 6.10 บาท มูลค่าการซื้อขาย 148.37 ล้านบาท
นายประเสริฐ อิทธิเมฆินทร์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโสสายบัญชีและการเงิน TPIPL เปิดเผยถึงรายได้ของบริษัทในปี 61 จะเพิ่มขึ้นไปแตะ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีรายได้อยู่ที่ 5.18 พันล้านบาท หลังจากที่ปีนี้จะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งได้ครบ 440 เมกะวัตต์ (MW) จากปีก่อนที่มีกำลังการผลิตติดตั้ง 220 เมกะวัตต์ และจะสามารถทยอยจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ครบทั้ง 440 เมกะวัตต์ภายในสิ้นปีนี้ และจะผลักดันรายได้เติบโตเป็น 1.3 หมื่นล้านบาทในปี 62 จากการรับรู้รายได้จากการขายไฟครบ 440 เมกะวัตต์ได้เต็มปี
นอกจากนี้ในส่วนของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) และกำไรสุทธิ ก็จะมีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดดตาม และทำสถิติสูงสุดในปีนี้ และปี 62 ซึ่งจะเริ่มเห็นตั้งแต่ไตรมาส 2/61 เป็นต้นไปที่แนวโน้มของ EBITDA และกำไรสุทธิ จะเพิ่มขึ้นและทำสถิติสูงสุดต่อเนื่อง เพราะโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ (TG6) ที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เริ่ม COD ไปเมื่อวันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา
อีกทั้งในช่วงไตรมาส 2/61 จะเริ่ม COD โรงไฟฟ้าถ่านหิน-RDF (TG7) กำลังการผลิต 70 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นการขายไฟให้กับ TPIPL ซึ่งเป็นบริษัทแม่ เข้ามาเสริม และในไตรมาส 3/61 โรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน (TG8) กำลังการผลิต 150 เมกะวัตต์ จะเริ่ม COD ขายไฟให้กับ TPIPL ทำให้มีกำลังการผลิตติดตั้งเพิ่มขึ้นและการ COD เพิ่มขึ้นตามเป้าหมายของบริษัทที่วางไว้ส่งผลให้ผลการดำเนินงานภาพรวมของบริษัทเติบโตอย่างก้าวกระโดดในปี 61 และปี 62 ซึ่งจะทำสถิติสูงสุดต่อเนื่อง
นอกจากนี้ นายประเสริฐ กล่าวอีกว่า การลงทุนต่างๆ ในอนาคตของ TPIPP นั้นมีความพร้อมในด้านฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง หลังจากเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนครั้งแรก (IPO) และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 60 ทำให้บริษัทนำเงินส่วนหนึ่งไปลงทุนและนำไปชำระหนี้ ซึ่งส่งผลให้มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ลดลงเหลือ 0.14 เท่า ส่งผลให้มีความสามารถในการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินได้อีกมาก เพราะภาระหนี้เหลือไม่มาก และมีมูลค่าสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ปัจจุบันบริษัทสามารถกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินได้ 2.7 หมื่นล้านบาท เท่ากับมูลค่าของสินทรัพย์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน และมีเงินจาก IPO เหลืออยู่อีกราว 4 พันล้านบาท รองรับการลงทุนอื่น ๆ ในอนาคต
ด้าน นายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบัญชีและการเงิน TPIPP กล่าวว่า แนวโน้มอัตรากำไรขั้นต้นในไตรมาส 1/61 จะเห็นการปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 4/60 เล็กน้อย ซึ่งคาดว่าจะกลับมาอยู่ที่ระดับไม่ต่ำกว่า 50% จากไตรมาส 4/60 ที่ลดลงไปเหลือ 48% เพราะมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน แต่จะเห็นการปรับตัวดีขึ้นของอัตรากำไรขั้นต้นอย่างชัดเจนตั้งแต่ไตรมาส 2/61 เป็นต้นไป
โดยจากเริ่มทยอย COD ของโรงไฟฟ้า TG6 และ TG7 และจะมีการ COD โรงไฟฟ้า TG8 มาเสริมในช่วงไตรมาส 3/61 ซึ่งได้ประเมิน EBITDA ในส่วนของ 2 โรงไฟฟ้า ได้แก่ TG6 จะให้ EBITDA เฉลี่ย 400-500 ล้านบาท/เดือน และโรงไฟฟ้า TG8 ที่จะ COD ในไตรมาส 3/61 จะให้ EBITDA เฉลี่ย 600 ล้านบาท/เดือน
“เราคาดว่าผลการดำเนินงานในปีนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเติบโตแบบก้าวกระโดด และต่อเนื่องต่อไป โดยมั่นใจว่าด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในธุรกิจโรงไฟฟ้า บริษัทจะสามารถบริหารจัดการกระบวนการผลิตไฟฟ้าในโรงงานใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลังจากทดสอบการผลิตมาแล้วระยะหนึ่ง” นายภัคพล กล่าว
นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานกรรมการ TPIPP เปิดเผยว่า ประเด็นที่เกิดขึ้นหลังจากกระทรวงพลังงานกำลังพิจารณาชะลอรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในช่วง 5 ปีข้างหน้านั้น มองว่าในเบื้องต้นยังไม่กระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัท เนื่องจากบริษัทมีสัญญาการซื้อขายไฟ (PPA) ในระยาว กับทั้งกฟผ. ,การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และบริษัทแม่ คือ TPIPP แต่ในแง่ของการลงทุนโครงการใหม่ ๆ เพิ่มเติมอาจจะมีผลกระทบบ้าง เพราะต้องมีการลงทุนตามโครงการที่ภาครัฐออกมา ซึ่งจะต้องดูแผนการรับซื้อไฟรอบใหม่ของภาครัฐว่าจะลดสัดส่วนพลังงานทดแทนลงเหลือเท่าใด
อย่างไรก็ตามบริษัทเชื่อว่าสัดส่วนการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่มาจากไบโอแมสและขยะยังคงมีอยู่ แต่จะต้องดูว่ามีสัดส่วนการรับซื้อเปลี่ยนแปลงไปเท่าใด โดยเฉพาะในส่วนของโรงไฟฟ้าขยะที่บริษัทยังเชื่อว่าจะยังคงเป็นกลุ่มพลังงานทดแทนที่ภาครัฐให้ความสำคัญ เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณขยะมากถึง 70,000 ตัน ซึ่งเป็นขยะจากพื้นที่กรุงเทพฯ 10,000 ตัน และนโยบายภาครัฐนั้นมีความต้องการให้แก้ปัญหามลพิษที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
โดยขยะเป็นหนึ่งในมลพิษที่สามารถนำมาต่อยอดเป็นการผลิตไฟฟ้าที่สร้างประโยชน์ได้ ทำให้มองว่าโรงไฟฟ้าพลังงานขยะยังคงมีความสำคัญต่อการลดมลพิษในประเทศไทย แต่การลงทุนของบริษัทนั้นในตอนนี้จะไม่เร่งรีบ เพราะการลงทุนของบริษัทจะต้องลงทุนตามการประกาศของภาครัฐ ซึ่งยังต้องรอนโยบายของภาครัฐให้ชัดเจนและมีโครงการประมูลออกมาอย่างชัดเจนก่อน
“เรื่องที่ภาครัฐจะชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในช่วง 5 ปีนั้น อันนี้ส่งผลให้การลงทุนในประเทศของเราอาจจะชะลอไป และไม่เร่งรีบ เพราะความไม่แน่นอนของนโยบายภาครัฐที่ยังไม่ชัดเจน ซึ่งเราต้องลงทุนตามการประกาศโครงการของภาครัฐที่ออกมา ก็ยังคงต้องรอดูต่อไปว่าจะเป็นอย่างไรต่อ แต่ไม่กระทบผลการดำเนินงานของบริษัทอย่างแน่นอน และมองว่าพลังงานไฟฟ้าเริ่มมีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะในวงการรถยนต์ที่เริ่มหันมาใช้รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้ามากขึ้น และจะเริ่มเห็นเทรนด์การใช้น้ำมันลดลง” นายประชัย กล่าว
สำหรับการลงทุนโรงไฟฟ้าขยะอื่น ๆ นั้น หากภาครัฐมีการประกาศประมูลออกมา บริษัทจะเข้าร่วมประมูลในทุกโครงการ และมีความพร้อมที่จะเข้าร่วมประมูลโรงไฟฟ้าขยะอ่อนนุชและหนองแขม กำลังการผลิตรวมกว่า 30 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะเปิดประมูลในปีนี้
รวมไปถึงการเข้าประมูลบริหารจัดการและพัฒนาโรงไฟฟ้าขยะของจังหวัดนครราชสีมา กำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างศึกษาและพิจารณาขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในต่างประเทศ โดยมีประเทศที่บริษัทสนใจเข้าไปลงทุน คือ ฟิลิปปินส์ ที่จะเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนและโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อเป็นการระจายความเสี่ยงและการสร้างผลการดำเนินงานให้เติบโตขึ้น