SUPER เคาะชื่อใหม่ “ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี” ลุยออกหุ้นกู้ 3.6หมื่นลบ.รับการขยายธุรกิจในอนาคต
บอร์ด SUPER เคาะชื่อใหม่ “ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี” จ่อออกหุ้นกู้ 3.6 หมื่นลบ. ขายนลท.ต่างชาติครึ่งหลังปี 61 หวังปรับโครงสร้างทางการเงินรองรับการขยายธุรกิจในอนาคต
นายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานคณะกรรมการ บริษัท ซุปเปอร์บล๊อก จำกัด (มหาชน) หรือ SUPER เปิดเผยว่า ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นในวันนี้ (25 เม.ย.61) มีมติอนุมัติการออกและเสนอขายหุ้นกู้วงเงิน 36,000 ล้านบาท เพื่อใช้ปรับโครงสร้างเงื่อนไขและต้นทุนทางด้านการเงินให้ลงมาอยู่ในระดับที่ต่ำลง อีกทั้งเพิ่มกระแสเงินสดเพื่อรองรับการขยายงานของบริษัทฯ และการลงทุนในอนาคต โดยหุ้นกู้ดังกล่าวคาดว่าจะออกและเสนอขายแก่นักลงทุนต่างชาติในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
“แผนการออกหุ้นกู้ 3.6 หมื่นล้านบาทครั้งนี้ คงเป็นการทยอยออกเป็นล็อตๆ น่าจะเห็นล็อตแรกซึ่งจะเสนอขายนักลงทุนต่างชาติในครึ่งปีหลัง ผมอยากให้มั่นใจกับการออกหุ้นกู้ เชื่อว่าจะส่งผลดีกับบริษัทฯ เพราะเม็ดเงินที่เราได้ก็เพื่อลดต้นทุนทางการเงิน การขยายงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งการขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าต่างประเทศตอนนี้ถือว่าเราให้น้ำหนัก เพราะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า สร้างอัตราผลตอบแทน (EIRR) เฉลี่ยที่สูง 1 5-22%” นายจอมทรัพย์กล่าว
ทั้งนี้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นยังได้อนุมัติการเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่เป็น บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อให้สอดคล้องกับธุรกิจพลังงานทดแทนที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งให้สอดคล้องกับแผนในการขยายการลงทุนออกไปสู่ต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายที่จะก้าวสู่ความเป็นผู้นำธุรกิจพลังงานทดแทนในภูมิภาคเอเชียภายในปี 2563
ส่วนการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (อินฟราสตรัคเจอร์ฟันด์) มูลค่า 9,000 ล้านบาท โดยมีธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL เป็นที่ปรึกษาทางการเงินนั้น ขณะนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอยู่ระหว่างการปรึกษาหารืออย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์ (ตลท. ) คาดว่าจะสามารถยื่นไฟลิ่งได้ในปลายเดือนพ.ค.-มิ.ย. หรือภายในไตรมาส 2 นี้ จึงอยากให้เชื่อมั่นว่าบริษัทฯ ยังคงเดินหน้าตามแผนงานที่วางไว้ และไม่ได้มีแนวคิดล้มเลิกการจัดตั้งกองทุนดังกล่าวแต่อย่างใด
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 61 ที่ผ่านมา สำนักงานก.ล.ต.เปิดรับฟังความคิดเห็นเรื่องการปรับปรุงเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อลดอุปสรรคในการใช้ตลาดทุนเป็นแหล่งระดมทุนสำหรับกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานด้านโรงไฟฟ้า ซึ่งมีประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ และเป็นการปรับกฎเกณฑ์เพื่อให้สอดรับกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558 – 2579 ของรัฐบาลที่ต้องการเพิ่มสัดส่วนและขยายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกิจการโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก
โดยเกณฑ์ที่ปรับปรุงจะเอื้อให้ผู้ประกอบกิจการที่มีโรงไฟฟ้าขนาดเล็กหลายโครงการสามารถระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานได้ โดยจะยกเลิกข้อกำหนดมูลค่าการลงทุนขั้นต่ำสำหรับแต่ละโครงการจากเดิมที่กำหนดไว้ที่โครงการละ 500 ล้านบาทขึ้นไปเท่านั้น ทั้งนี้มูลค่าเงินลงทุนของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานในกิจการโรงไฟฟ้าทุกโครงการรวมกันแล้วต้องไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้ทำให้บริษัทสามารถจัดตั้งกองทุนฯได้ตามแผนที่วางไว้
อย่างไรก็ตามทิศทางการดำเนินธุรกิจในปีนี้บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายรายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 25% โดยมีแผนขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ หลังจากที่ได้ศึกษาการลงทุนแล้วพบว่ามีโอกาสสร้างรายได้ให้เติบโตอย่างสม่ำเสมอและให้ผลตอบแทนที่ดีในอนาคต