BJC คาดปีนี้กำไรสูงกว่า 1.67 พันลบ. เตรียมสรุปซื้อกิจการใน Q3/58
BJC คาดกำไร Q2/58 ดีขึ้นจาก Q1/58 มั่นใจปีนี้รายได้โต 10% จาก 4.42 หมื่นลบ.ในปี 57 มองปี 58 กำไรสูงกว่า 1.67 พันลบ. หลังต้นทุนการผลิต-พลังงานลดลง คาดสรุปซื้อกิจการสินค้าคอนซูเมอร์ภายใน Q3/58 ตั้งงบลงทุนปีนี้ 4 พันลบ. ใช้ขยายโรงงานแก้วในเวียดนาม-ฝากระป๋อง
นางสาวนัทธ์หทัย ธนชัยหิรัญศิริ ผู้จัดการนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC คาดว่ากำไรสุทธิในไตรมาส 2/58 จะดีกว่าระดับ 529.08 ล้านบาทในไตรมาส 1/58 เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบและต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงานลดลง แต่ในส่วนรายได้คงทรงตัวจากไตรมาสก่อนที่ทำได้ 1.06 หมื่นล้านบาท เนื่องจากกำลังซื้อสินค้าอุปโภคและบริโภคยังไม่ดีขึ้นมากนัก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศยังไม่ฟื้นตัว
โดยบริษัทหันมาดูแลต้นทุนวัตถุดิบและค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยให้กำไรของเรามีการเติบโตขึ้น ในภาวะที่เศรษฐกิจยังเป็นแบบนี้และตลาดก็ยังซึมๆ แต่แนวโน้มของช่วงครึ่งปีหลังก็น่าจะดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรกและยอดขายในครึ่งปีหลังก็น่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่าครึ่งปีแรก หากเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวขึ้นและภาครัฐมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาที่เห็นผลจริง เราก็มีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ 10-20 ตัว เพิ่มเข้ามาเพื่อเป็นเพิ่มทางเลือกและช่วยกระตุ้นยอดขาย
ทั้งนี้ BJC คาดกำไรสุทธิปีนี้จะสูงกว่า 1.67 พันล้านบาทในปีก่อน ตามรายได้ที่คาดว่าจะเติบโต 10% จากปีก่อน และแผนการลดต้นทุนของบริษัท ขณะที่ต้นทุนการผลิตและพลังงานลดลงจะช่วยหนุนกำไรสุทธิในไตรมาส 2 ให้สูงกว่าไตรมาสแรกด้วย แม้รายได้จะทำได้เพียงทรงตัวตามการบริโภค พร้อมเตรียมใช้เงินลงทุน 4 พันล้านบาทเพื่อขยายโรงงาน รวมถึงการซื้อร่วมทุนหรือซื้อกิจการ (M&A) ซึ่งคาดว่าภายในไตรมาส 3/58 จะสรุปการซื้อกิจการสินค้าคอนซูเมอร์ในระดับหลักพันล้านบาทได้
โดยบริษัทตั้งเป้าอัตรากำไรสุทธิในปี 58 เพิ่มขึ้นเป็น 4% จาก 3.8% ในปีก่อน หลังจากไตรมาสแรกสามารถทำอัตรากำไรสุทธิได้ที่ระดับ 4.96% เป็นผลจากการหันมาเน้นการควบคุมต้นทุน ทำให้คาดว่าทั้งปีนี้กำไรสุทธิจะมากกว่าปีก่อนที่ทำได้ 1.67 พันล้านบาท ขณะที่รายได้ทั้งปีนี้มั่นใจว่าจะทำได้ตามเป้าหมายที่คาดว่าจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% จาก 4.41 หมื่นล้านบาทในปีก่อน แม้ว่าช่วงครึ่งปีแรกยอดขายอาจจะยังชะลอตัว เนื่องจากภาวะตลาดไม่ดีและมีการเลื่อนสั่งซื้อสินค้าประเภทเครื่องมือแพทย์ แต่เชื่อว่าจะเริ่มกลับมาดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง
นอกจากนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างการเจรจาเข้าซื้อกิจการทั้งในและต่างประเทศ 2-3 ราย โดยในช่วงไตรมาส 3/58 คาดว่าจะได้ข้อสรุปการเข้าซื้อกิจการโรงงานผลิตสินค้าคอนซูเมอร์ในประเทศ มูลค่ากว่า 1 พันล้านบาท ส่วนการเข้าซื่อเข้าซื้อกิจการเมโทร เวียดนาม เป็นเรื่องของบริษัท ทีซีซี โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของเป็นผู้เข้าซื้อกิจการ หลังจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทไม่อนุมัติให้บริษัทดำเนินการเอง เบื้องต้นคาดว่าบริษัทแม่จะสามารถเข้าซื้อกิจการเมโทร เวียดนามได้สำเร็จภายในปีนี้
ส่วนงบลงทุนบริษัทตั้งไว้ที่ 4 พันล้านบาท โดยจะใช้ในการขยายกำลังการฝากระป๋องของโรงงานในไทยเพิ่มอีก 1 พันล้านฝา/ปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 2 พันล้านฝา/ปี ซึ่งจะทำให้กำลังการผลิตฝากระป่องในสิ้นปี 58 ของโรงงานดังกล่าวมีทั้งหมด 3 พันล้านฝา/ปี โดยจะใช้งบลงทุนราว 500-600 ล้านบาท เพิ่มกำลังการผลิตโรงงานในเวียดนาม 500 ล้านบาท แบ่งเป็นการเพิ่มกำลังการผลิตโรงงานผลิตกระป๋อง 100 ล้านบาท และโรงงานผลิตแก้ว 300-400 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังจะมีงบลงทุนที่เตรียมไว้เข้าซื้อกิจการอีกด้วย