สรุปภาวะตลาดต่างประเทศวันศุกร์

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศเมื่อวันศุกร์(27 เม.ย.)


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดขยับลงเมื่อวันศุกร์ (27 เม.ย.) ขณะที่อีกสองดัชนีหลักอย่าง S&P500 และ Nasdaq บวกเพียงเล็กน้อย ท่ามกลางการเปิดเผยรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนหลายแห่ง และข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างตัวเลข GDP โดยนักลงทุนชั่งใจว่าผลประกอบการที่ออกมาดีเกินคาดของบริษัทรายใหญ่นั้นจะเพียงพอชดเชยกับสภาวะเศรษฐกิจที่ส่งสัญญาณชะลอความร้อนแรงได้หรือไม่

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 24,311.19 จุด ลดลง 11.15 จุด หรือ -0.05% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,669.91 จุด เพิ่มขึ้น 2.97 จุด หรือ +0.11% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,119.80 จุด เพิ่มขึ้น 1.12 จุด หรือ +0.02%

สำหรับทั้งสัปดาห์ ดาวโจนส์ลดลง 0.6% ดัชนี S&P ลดลง 0.01% และ Nasdaq ลดลง 0.4% ซึ่งเป็นการปรับตัวลงครั้งในรอบสามสัปดาห์ของทั้งสามดัชนี

 

ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกเมื่อวันศุกร์ (27 เม.ย.) นำโดยการพุ่งขึ้นของตลาดหุ้นเยอรมันและอังกฤษ จากอานิสงส์การอ่อนค่าของสกุลเงินยูโรและเงินปอนด์ เนื่องจากตลาดหุ้นทั้งสองแห่งมีบริษัทส่งออกและบริษัทข้ามชาติจดทะเบียนอยู่มาก ดังนั้นการอ่อนค่าของสกุลเงินจึงจะเป็นผลดีต่อกำไรและรายได้ของบริษัทเหล่านี้

ดัชนี Stoxx Europe 600 เพิ่มขึ้น 0.89 จุด หรือ 0.23% ปิดที่ 384.64 จุด และปรับตัวขึ้น 0.7% ทั้งสัปดาห์ ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นสัปดาห์ที่ห้าติดต่อกัน

ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 12,580.87 จุด เพิ่มขึ้น 80.40 จุด หรือ +0.64% ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,483.19 จุด เพิ่มขึ้น 29.61 จุด หรือ +0.54% ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,502.21 จุด เพิ่มขึ้น 80.78 จุด หรือ +1.09%

 

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดพุ่งขึ้นเมื่อวันศุกร์ (27 เม.ย.) เพราะได้ปัจจัยบวกจากเงินปอนด์ที่อ่อนค่าลง หลังอังกฤษเผย GDP ไตรมาสแรกของปี 2561 ขยายตัวเพียง 0.1% ต่ำสุดรอบ 6 ปี ซึ่งการอ่อนค่าของเงินปอนด์นั้นช่วยหนุนหุ้นบริษัทข้ามชาติให้ปรับตัวขึ้น

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,502.21 จุด เพิ่มขึ้น 80.78 จุด หรือ +1.09% ส่งผลให้ทั้งสัปดาห์ ดัชนีปรับตัวขึ้น 1.8% ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นสัปดาห์ที่ห้าติดต่อกัน

 

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดขยับลงเล็กน้อยเมื่อวันศุกร์ (27 เม.ย.) หลังจากที่ปรับตัวขึ้นติดต่อกันมาสองวัน โดยถึงแม้ราคาน้ำมันปรับตัวลง แต่ก็ลดลงไม่มาก เพราะภาวะการซื้อขายยังคงได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่าสหรัฐอาจคว่ำบาตรอิหร่านครั้งใหม่ หลังจากมีสัญญาณว่าสหรัฐอาจจะถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์ที่ชาติมหาอำนาจทำไว้กับอิหร่าน ขณะที่ เบเกอร์ ฮิวจ์ เผยแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐมีจำนวนสูงสุดในรอบ 3 ปี

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 9 เซนต์ หรือ 0.1% ปิดที่ 68.10 ดอลลาร์/บาร์เรล และลดลง 0.4% ในรอบสัปดาห์

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 10 เซนต์ หรือ 0.1% ปิดที่ 74.64 ดอลลาร์/บาร์เรล ขณะที่ทั้งสัปดาห์ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เพิ่มขึ้น 0.5% ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นสัปดาห์ที่สามติดต่อกัน หลังจากที่เมื่อต้นสัปดาห์นี้ ราคาได้ทะลุระดับ 75 ดอลลาร์เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2557

 

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดดีดตัวขึ้นเมื่อวันศุกร์ (27 เม.ย.) หลังจากที่ปรับตัวลดลงมาสองวันติดต่อกัน โดยได้แรงหนุนจากดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง ภายหลังสหรัฐเปิดเผยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาสแรกปีนี้ ชะลอตัวจากไตรมาส 4 ปีที่แล้ว

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ปรับตัวขึ้น 5.50 ดอลลาร์ หรือ 0.42% ปิดที่ 1,323.40 ดอลลาร์/ออนซ์ อย่างไรก็ดี ตลอดสัปดาห์ ราคาทองลดลง 1.1%

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 7 เซนต์ หรือ 0.42% ปิดที่ 16.497 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. ปรับตัวขึ้น 6.3 ดอลลาร์ หรือ 0.69% ปิดที่ 916.40 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. ร่วงลง 16.05 ดอลลาร์ หรือ 1.6% ปิดที่ 963 ดอลลาร์/ออนซ์

 

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่นๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อวันศุกร์ (27 เม.ย.) หลังจากเคลื่อนตัวผันผวนระหว่างวัน ภายหลังจากที่สหรัฐเผยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาสแรกปีนี้ ซึ่งชะลอตัวจากไตรมาส 4 ปีที่แล้ว

ยูโรแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2123 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2107 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.3784 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3923 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าแตะ 0.7581 ดอลลาร์ จากระดับ 0.7552 ดอลลาร์

ดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 109.03 เยน จากระดับ 109.37 เยน อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 0.9879 ฟรังก์ จากระดับ 0.9893 ฟรังก์ และร่วงลงแตะ 1.2834 ดอลลาร์แคนาดา จาก 1.2872 ดอลลาร์แคนาดา

Back to top button