หุ้นยุโรปปิดวันศุกร์ร่วงต่อ ตลาดวิตกหนี้กรีซ-เศรษฐกิจสหรัฐ
ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (29 พ.ค.) ซึ่งเป็นการปรับตัวลงติดต่อกันเป็นวันที่สอง เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับอนาคตของกรีซ ประกอบกับมีการเปิดเผยข้อมูลล่าสุดที่แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐหดตัวในไตรมาสแรก
สำนักข่าวอินโฟเควสท์รายงานว่า ดัชนี Stoxx Europe 600 ลดลง 1.7% ปิดวันศุกร์ที่ผ่านมา (29 พ.ค.) ที่ 399.87 จุด เป็นการร่วงหนักที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย., ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสร่วงลง 129.94 จุด หรือ 2.53% ปิดที่ 5,007.89 จุด ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันลบ 263.75 จุด หรือ 2.26% ปิดที่ 11,413.82 จุด และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนลดลง 56.49 จุด หรือ 0.80% ปิดวันทำการล่าสุดที่ 6,984.43 จุด
สถานการณ์หนี้กรีซเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อภาวะการซื้อขายในตลาดตลอดทั้งสัปดาห์ ท่ามกลางการส่งสัญญาณทั้งในเชิงบวกและลบจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลกรีซและจากทางฝั่งเจ้าหนี้ ขณะที่ความเชื่อมั่นของนักลงทุนยิ่งย่ำแย่ลงหลังมีรายงานข่าวว่าธนาคารรายใหญ่ 2 แห่งของกรีซต้องพึ่งพาการระดมทุนจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) มากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศได้ส่งผลให้กระแสเงินฝากไหลออกอย่างต่อเนื่อง
ธนาคารรายใหญ่ 2 แห่งดังกล่าว ก็คือ เนชันแนล แบงก์ ออฟ กรีซ ซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่ที่สุดของกรีซเมื่อพิจารณาจากสินทรัพย์ และอัลฟา แบงก์ ทั้งนี้ ธนาคารของกรีซได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตการเงินที่ยืดเยื้อของประเทศ รวมทั้งเผชิญแรงกดดันจากหนี้เสียที่พุ่งขึ้นและฐานเงินฝากที่หดตัวลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากผู้ฝากเงินมีความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพของระบบธนาคาร จึงได้ถอนเงินจากบัญชี หรือนำเงินไปไว้ในต่างประเทศแทน
ข่าวดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลจากธนาคารกลางยุโรปที่มีการเปิดเผยในวันศุกร์ว่า ปริมาณเงินฝากในธนาคารของกรีซได้ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 10 ปี ขณะที่ชาวกรีซพากันแห่ถอนเงินฝาก หลังมีความวิตกต่อความคืบหน้าที่ล่าช้าในการเจรจาแก้ไขวิกฤติหนี้ระหว่างรัฐบาลและประเทศเจ้าหนี้
ECB ระบุว่า ชาวกรีซได้พากันถอนเงินจากธนาคารมากกว่า 5 พันล้านยูโร (5.5 พันล้านดอลลาร์) ในเดือนเม.ย. ส่งผลให้ปริมาณเงินฝากของภาคครัวเรือน ณ สิ้นเดือนเม.ย.อยู่ที่ระดับ 1.394 แสนล้านยูโร (1.519 แสนล้านดอลลาร์) ลดลงจากระดับ 1.45 แสนล้านยูโรในเดือนมี.ค.
ตัวเลขเงินฝากในเดือนเม.ย.ถือเป็นตัวเลขต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2004 ซึ่งขณะนั้นอยู่ที่ 1.372 แสนล้านยูโร ขณะเดียวกันคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งของเยอรมันว่า เธอไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้เกี่ยวกับการที่กรีซอาจจะต้องออกจากกลุ่มยูโร ถึงแม้บรรดาเจ้าหนี้ยืนยันในวันศุกร์ว่าไม่ได้มีการพิจารณากดดันกรีซให้ถอนตัวออกจากกลุ่มก็ตาม
นอกจากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์หนี้กรีซแล้ว วานนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐได้เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ช่วงไตรมาสแรกของปีนี้หดตัวลง 0.7% จากที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ว่าขยายตัว 0.2%
การชะลอตัวดังกล่าวเกิดจากภาวะอากาศที่หนาวเย็นผิดปกติ และการแข็งค่าของดอลลาร์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการบริโภค ขณะที่ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐขั้นสุดท้ายของเดือนพ.ค.อยู่ที่ระดับ 90.7 ซึ่งลดลงจากระดับ 95.9 ในเดือนเม.ย.