น้ำมันดิบปิดวันศุกร์พุ่งกว่า 2 ดอลล์ ตลาดคลายวิตกอุปทานล้นตลาด

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดปรับตัวขึ้นต่อเนื่องเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (29 พ.ค.) หลังมีรายงานว่าผู้ผลิตน้ำมันในสหรัฐลดการขุดเจาะน้ำมันลงอย่างมากในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งช่วยคลายความกังวลเกี่ยวกับอุปทานล้นตลาดลงไปได้


สำนักข่าวอินโฟเควสท์รายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค.เพิ่มขึ้น 2.62 ดอลลาร์ หรือ 4.5% ปิดวันศุกร์ที่ผ่านมา (29 พ.ค.) ที่ 60.30 ดอลลาร์/บาร์เรล สำหรับตลอดทั้งเดือน ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น 1.1% ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนก.ค.เพิ่มขึ้น 2.98 ดอลลาร์ หรือ 4.8% ปิดที่ 65.56 ดอลลาร์/บาร์เรล ขณะที่ตลอดทั้งเดือน ราคาน้ำมันลดลง 1.8%

ภาวะซื้อขายในตลาดน้ำมันได้แรงหนุนจากรายงานที่ว่า บรรดาผู้ผลิตน้ำมันได้ลดการใช้จ่ายด้านทุนและลดการขุดเจาะน้ำมันลงอย่างมาก หลังจากที่ผลผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดาน หรือ shale-oil ที่ทะยานสูงขึ้นในสหรัฐได้ส่งผลให้ตลาดน้ำมันโลกเข้าสู่ภาวะอุปทานล้นตลาดในปีที่แล้ว

รายงานจากเบเกอร์ ฮิวจส์ อิงค์ ระบุว่าจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐลดลง 13 แท่น มาอยู่ที่ 646 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.2553 ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นจากข่าวดังกล่าวซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยบวก หลังจากที่สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยวันก่อนว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐปรับตัวลดลงมากเกินคาดในสัปดาห์ที่แล้ว

EIA ระบุว่า สต็อกน้ำมันดิบลดลง 2.8 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 479.4 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 1.1 ล้านบาร์เรล ส่วนสต็อกน้ำมันดิบที่เมืองคุชชิ่ง รัฐโอกลาโฮมา ซึ่งเป็นจุดส่งมอบน้ำมัน ลดลง 433,000 บาร์เรล สู่ระดับ 60.0 ล้านบาร์เรล

นอกจากนี้ EIA ระบุว่า สต็อกน้ำมันเบนซินลดลง 3.3 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 220.6 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 5 ธ.ค.2014 และลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะปรับตัวลงเพียง 1 ล้านบาร์เรล ส่วนสต็อกน้ำมันกลั่น ซึ่งรวมถึงฮีตติ้งออยล์และน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น 1.1 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 128.8 ล้านบาร์เรล เทียบกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 400,000 บาร์เรล

ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาดูการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) ในวันที่ 5 มิ.ย.นี้ ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย โดยที่ประชุมโอเปกจะตัดสินใจว่าควรจะลดปริมาณการผลิตเพื่อหนุนราคาน้ำมันหรือไม่ ขณะที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าโอเปกจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากมติเกี่ยวกับเพดานการผลิตแล้ว นักลงทุนยังรอดูว่าที่ประชุมจะส่งสัญญาณใดๆเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวก้าวต่อไปของโอเปกหรือไม่

Back to top button