AOT อัดงบฯ 1.2 แสนล้านสร้างสนามบินเชียงใหม่-ภูเก็ต 2 รองรับผู้โดยสาร 10 ล้านคน/ปี
AOT อัดงบฯ 1.2 แสนล้าน ทุ่มสร้างสนามบินเชียงใหม่-ภูเก็ต 2 รองรับผู้โดยสาร 10 ล้านคน/ปี พร้อมเปิดประมูลพื้นที่ดิวตี้ฟรีในสุวรรณภูมิมิ.ย.-ก.ค.นี้
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริษัทอนุมัติแผนพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่แห่งที่ 2 และท่าอากาศยานภูเก็ต แห่งที่ 2 รวมวงเงิน 1.2 แสนล้านบาท (ไม่นับรวมที่ดิน) หรือคิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนงานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งละประมาณ 6 หมื่นล้านบาท โดยจะรองรับผู้โดยสาร 10 ล้านคน/ปี ซึ่งจะรองรับผู้โดยสารในประเทศเป็นหลัก แต่ก็ยืดหยุ่นรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศได้ด้วย
ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันทั้งท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานภูเก็ต มีความแออัดมาก โดยท่าอากาศยานเขียงใหม่มีจำนวนผู้โดยสาร 9.97 ล้านคนมากกว่าศักยภาพที่รองรับได้ 8 ล้านคน และคาดว่าจำนวนผู้โดยสารถึงงวดปี 61 (สิ้นสุดก.ย.)จะเพิ่มเป็นประมาณ 11 ล้านคน โดยจำนวนผู้โดยสารในช่วง 1 ต.ค.60-22 พ.ค.61 มีจำนวนผู้โดยสาร 9.6% เป็น 9.97 ล้านคน
ขณะที่ท่าอากาศยานภูเก็ตในช่วง 1 ต.ค.60-22 พ.ค.61 มีจำนวนผู้โดยสาร 17.4%มาเป็น 16.2 ล้านคน โดยท่าอากาศยานภูเก็ตในส่วนที่ปรับปรุงแล้วเสร็จในมิ.ย.นี้จะสามารถรองรับได้เพิ่มเป็๋น 12.5 ล้านคนจาก 6.5 ล้านคน และคาดว่าสิ้นงวดปี 61จะมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มเป็น 19 ล้านคน
ทั้งนี้ ที่ตั้งของท่าอากาศยานเชียงใหม่แห่งที่ 2 และท่าอากาศยานภูเก็ต แห่งที่ 2 จะอยู่ห่างจากท่าอากาศยานหลักราว 20-30 กม.
นายนิตินัย กล่าวว่า บริษัทไม่ต้องการขยายท่าอากาศยานเชียงใหม่และท่าอากาศยานภูเก็ตในพื้นที่เดียวกันเพราะเห็นว่า สภาพเมืองของเชียงใหม่ และ ภูเก็ต มีสภาพเมืองแตก จราจรติดขัด หากขยายท่าอากาศยานอีกจะยิ่งซ้ำเติมเมืองทั้งสองแห่ง
โดยหลังจากนี้ AOT จะนำผลมติบอร์ดเสนอต่อกระทรวงคมนาคมเพื่อนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)พิจารณาอนุมัติหลักการ และจะนำเสนอต่อที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น เพราะเป็นโครงการใหญ่ ขณะเดียวกันเข้าทำรายการได้มาที่ดิน ซึ่งได้สำรวจมาแล้ว คาดว่าในช่วงครึ่งหลังปีนี้จะผ่านขั้นตอนดังกล่าว หลังจากนั้นออกแบบและใช้เวลาก่อสร้าง 3-4 ปี
สำหรับแหล่งเงินลงทุน นายนิตินัย กล่าวว่า จะมาจากกระแสเงินจากการดำเนินงาน ที่มีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA)ปีละ 3 หมื่นล้านบาท และยังมีเงินสดในมือ จำนวน 6.3-6.4 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทยังได้อนุมัติ ให้บริษัทจัดตั้งบริษัทย่อยดำเนินการเป็นศูนย์ตรวจสอบสินค้าเน่าเสีย (Certify Hub) เพื่อช่วยเกษตรและผู้ส่งออกลดต้นทุนการส่งออกไปยังยุโรป ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีการใช้มาตรการกีดกันการค้ามากที่สุด ซึ่งหลังจากคณะกรรมการอนุมัติแล้วจะนำเสนอต่อกระทรวงคมมนาคม และนำเสนอต่อที่ประชุมครม.เพ่อให้ให้มีการตรวจสอบระดับรัฐต่อรัฐ (G to G) นอกจากนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องให้ความร่วมมือเรื่องนี้
ส่วนการเปิดประมูลหาเอกชนเข้ามาดำเนินการพื้นที่ร้านค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) และร้านค้าปลีกในท่าอากาศยานสุวรรณภูมินั้นนายนิตินัย คาดว่าจะเปิดประมูลและออกเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) ได้ใน 1-2 เดือนนี้หรือมิ.ย.-ก.ค.นี้ จากที่เลื่อนไปจากช่วงต้นปี 61 เพราะได้ศึกษาข้อเสนอจากหลายฝ่าย แต่ย้ำว่าจะได้ผู้ชนะเข้ามาดำเนินการภายในปลายปีนี้ตามระยะเวลาเพื่อเข้ามาเตรียมพื้นที่ก่อน 2 ปี ที่จะเข้าไปดำเนินการในปี 63