“หยุดเติมน้ำมัน ปตท.” อารมณ์ เหตุผล หรือเจตนาแอบแฝง?…”เทวินทร์” ตอบข้อกล่าวหา PTT!

"หยุดเติมน้ำมัน ปตท." อารมณ์ เหตุผล หรือเจตนาแอบแฝง?..."เทวินทร์" ตอบข้อกล่าวหา PTT!


สืบเนื่องจากในปัจจุบันราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศมีการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งอยู่ที่ระดับประมาณ 30 บาท ส่งผลให้เกิดกระแสในโซเชียลชักชวนให้หยุดเติมน้ำมันของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เพื่อหวังกดดันให้ PTT ปรับลดราคาขายน้ำมันลง รวมทั้งมีการบิดเบือนข้อเท็จเกี่ยวกับการดำเนินงานของ PTT

ล่าสุด นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ PTT ได้โพสต์ข้อความผ่านทางเฟสบุ๊คเพื่อชี้แจงต่อกรณีดังกล่าว โดยสรุปใจความได้ว่า ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นถึง 20% ส่งผลให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดโลกปรับตัวขึ้นตามในอัตราใกล้เคียงกัน คือ 18-19% ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบมีค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น

โดยคนทั่วไปอาจจะไม่เข้าใจธุรกิจพลังงานและกลไกตลาดโลกจึงเริ่มมองหาจำเลยที่จะระบายความโกรธแค้นที่เขาต้องเดือดร้อน ใกล้ตัวที่สุดคือผู้ค้าขายน้ำมัน โดยเฉพาะ PTT ซึ่งเป็นผู้ค้าสำคัญในประเทศไทยจนถึงขั้นมีขบวนการรณรงค์ให้หยุดเติมน้ำมัน PTT และบิดเบือนข้อมูลว่า PTT ก็ไม่เดือดร้อนเพราะขายน้ำมันต่างประเทศเป็นหลัก

นอกจากนี้ยังได้มีการชี้แจงถึงข้อกล่าวหาที่สังคมออนไลน์มีต่อ PTT โดยสรุปออกมาได้ทั้งหมด 8 ประเด็น ดังนี้ ประเด็นที่ 1 ปัจจัยของราคาขายปลีก คือ ต้นทุนเนื้อน้ำมันและค่าการตลาดของผู้ค้า แต่ปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาขายปลีกแตกต่างกันในแต่ละประเทศคือ ภาษีที่รัฐบาลกำหนด

โดยเมื่อเทียบกับราคาขายน้ำมันกับประเทศเพื่อนบ้าน พบว่า มาเลเซียต่ำที่สุด เนื่องจากมาเลเซียมีรายได้จากการส่งออกน้ำมันและก๊าซสูงจึงแทบไม่เก็บภาษีผู้ใช้ในประเทศ ส่วนสิงคโปร์สูงที่สุดเนื่องจากต้องการจำกัดการใช้รถยนต์

ส่วนประเทศไทยและประเทศอื่นๆ เป็นผู้นำเข้าน้ำมันจึงเก็บภาษีสรรพสามิตมาเป็นงบรัฐ สำหรับสร้างหรือซ่อมถนน และพัฒนาระบบขนส่งมวลชนให้กับประชาชน ทั้งนี้ราคาขายน้ำมันของปั๊ม PTT ไม่เคยสูงกว่าปั๊มต่างชาติและจะต่ำกว่าเป็นบางวัน

ประเด็นที่ 2 ราคาส่งออกน้ำมันของ PTT ใกล้เคียงกับราคาหน้าโรงกลั่นที่ขายในประเทศ ซึ่งเป็นไปตามราคาตลาดในภูมิภาค โดยสะท้อนราคาเนื้อน้ำมันเป็นหลักยังไม่รวมภาษีสรรพามิต อาทิ สิงคโปร์นำเข้าน้ำมันดิบมากลั่นก็เมื่อส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปก็ขายในราคาที่ต่ำกว่าที่ขายในประเทศเช่นเดียวกัน

ประเด็นที่ 3 PTT ไม่เคยขึ้นราคาน้ำมันโดยไม่แจ้งแก่ประชาชน เนื่องจากการขึ้นราคาขายปลีกในประเทศต้องเป็นไปตามราคาตลาดโลก ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีโรงกลั่นเองแต่ก็ต้องนำเข้าน้ำมันดิบมากลั่น

โดยในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา น้ำมันดิบโลกมีราคาสูงขึ้น 20 %  ดังนั้น PTT จึงต้องปรับราคาขายปลีกเท่าที่จำเป็นเพื่อรักษาค่าการตลาดประมาณ 1.60-1.80 บาทต่อลิตร

ทั้งนี้ตั้งแต่ 6 เม.ย. PTT  ปรับขึ้นราคา 6 ครั้ง ราคาต่ำกว่าปั๊มต่างประเทศรวม 9 วัน และได้ประกาศการปรับราคาล่วงหน้าเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคอีกด้วย

ประเด็นที่  4  PTT กำไรเยอะ จากการผูกขาดขายน้ำมันแพงนั้นไม่เป็นความจริง เนื่องจากธุรกิจค้าขายน้ำมันเป็นตลาดเสรี และมีผู้ค้ามากมายกว่า 30 ราย ซึ่งแต่ละรายมีสิทธิตั้งราคาเอง โดยมีค่าการตลาดราว 1.60-1.80 บาท/ลิตร เมื่อแบ่งให้ตัวแทนจำหน่ายเจ้าของปั๊มแล้วยังไม่คุ้มค่าการลงทุน ดังนั้นจึงต้องเปิดร้านสะดวกซื้อและร้านค้าอื่นเพิ่มขึ้นเพื่อหารายได้เสริม

ทั้งนี้ PTT  มีกำไรจากธุรกิจน้ำมันเพียง 10 % ที่เหลือเป็นผลตอบแทนจากการลงทุนจำนวนมากในธุรกิจก๊าซ สำรวจและผลิต โรงกลั่นและปิโตรเคมี โดย ณ สิ้นปี 2560  PTT มีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น (Total Assets) 2.23 ล้านล้านบาท มีกำไร 135,000 ล้านบาท คิดเป็นผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (ROA) 6 % ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของการทำธุรกิจทั่วไป

ประเด็นที่ 5  PTT ไม่สามารถอุดหนุนราคาน้ำมันได้ แม้ว่า PTT จะสามารถผลิตก๊าซและน้ำมันในประเทศได้โดยบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ PTT เนื่องจากมีสัดส่วนการผลิตก๊าซและน้ำมัน 30% ของผู้ผลิตในประเทศเทียบเท่าเพียง 10% ของการใช้พลังงานทั้งหมด ส่งผลให้รายได้จะไม่เพียงพอที่จะนำมาอุดหนุนราคาได้อย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งยังต้องสำรองรายได้สำหรับการขยายการลงทุนเพื่อความมั่นคงทางพลังงานในอนาคต

ประเด็นที่ 6 คุณภาพน้ำมันและบริการของ PTT ต่ำกว่ามาตรฐานนั้นไม่เป็นความจริง เนื่องจาก PTT พัฒนาคุณภาพน้ำมันสูงกว่ามาตรฐานทั่วไป ทั้งเรื่องประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดย PTT เป็นผู้นำด้านการสรรหาสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการและอำนวยความสะดวก ปลอดภัยของลูกค้า

ประเด็นที่ 7 PTT มุ่งทำกำไรแต่ไม่เคยช่วยเหลือสังคมนั้นไม่เป็นความจริง เนื่องจากภายในปั๊ม PTT ได้เปิดพื้นที่ให้เกษตรกร ชาวนา ชาวสวนนำผลิตภัณฑ์มาวางขายตรงให้ลูกค้าโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และยังจัดกิจกรรมอีกมากมาย เช่น ห้องน้ำ 20 บาท โครงการแยกขยะ เพื่อนำรายได้ไปช่วยสถานศึกษาในชุมชน

นอกจากนี้ PTT ยังได้ตั้งบริษัท Social Enterprise เพื่อสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนให้สร้างรายได้ร่วมกับธุรกิจของ PTT รวมถึงร่วมกิจกรรมดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ปลูกป่า หญ้าแฝก รางวัลลูกโลกสีเขียว โรงเรียนวิทยาศาสตร์กำเนิดวิทย์ สถาบันวิทยสิริเมธี ป่าในกรุง ฟื้นฟูคุ้งบางกะเจ้า และจัดประกวดศิลปกรรม PTT ทุกปี สนับสนุนสมาคมกีฬา 5 ประเภท ทำโครงการ Pride of Thailand

ประเด็นที่ 8  นายทุนหรือนักการเมืองเป็นเจ้าของ PTT ไม่เป็นความจริง เนื่องจากรัฐบาลไทย โดยกระทรวงการคลังและกองทุนวายุภักษ์ ถือหุ้น PTT ประมาณ 63.5 % ส่วนอีก 32 % ถือโดยสถาบันการเงินหรือกองทุน และที่เหลืออีก 4.5 % คือนักลงทุนรายย่อย

 

 

Back to top button