EPG พุ่งแรง 5% สวนตลาดฯ รับจ่อปันผล 0.15 บ. โบรกฯ เชียร์ซื้อ คาดกำไรปี 61/62 โตเด่น
EPG พุ่งแรง 5% สวนตลาดฯ รับจ่อปันผล 0.15 บ. โบรกฯ เชียร์ซื้อ คาดกำไรปี 61/62 (เม.ย.61-มี.ค.62) โตเด่น ล่าสุด ณ เวลา 10.55 น. อยู่ที่ 7.55 บาท บวก 0.35 บาท หรือ 4.86% สูงสุดที่ 7.60 บาท ต่ำสุดที่ 7.40 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 73.34 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้น บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG ล่าสุด ณ เวลา 10.55 น. อยู่ที่ 7.55 บาท บวก 0.35 บาท หรือ 4.86% สูงสุดที่ 7.60 บาท ต่ำสุดที่ 7.40 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 73.34 ล้านบาท ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยโดยรวมลบ 0.81%
ทั้งนี้ EPG รายงานผลการดำเนินงานประจำปี 2561 (สิ้นสุด 31 มี.ค.2561) มีกำไร 990.96 ล้านบาท ลดลง 28% จากปีก่อนมีกำไร 1.38 พันล้านบาท พร้อมทั้งประกาศปันผลงวดดำเนินงานวันที่ 1 เม.ย. 2560 ถึงวันที่ 31 มี.ค. 2561 เป็นเงินสด 0.15 บาทต่อหุ้น กำหนดขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 6 ส.ค.2561 และกำหนดจ่ายเงินปันผล 23 ส.ค.2561
ด้าน บล.เออีซี ระบุในบทวิเคราะห์ฯ แนะ”ซื้อ” หุ้น EPG มองระยะยาวธุรกิจยังน่าสนใจ สำหรับปี 61/62 (เม.ย.61-มี.ค.62) ยังคาด EPG จะมีกำไรปกติ 1,352 ล้านบาท พลิกโต 25.9% จากงวดปีก่อน หนุนด้วยพัฒนาการที่ดีขึ้นของทั้ง 3 ธุรกิจหลัก
โดยประกอบด้วย 1) คาดยอดขายของ AFC ยังแข็งแกร่งทั้งในสหรัฐฯ และเอเชีย พร้อมเริ่มรับรู้ผลบวกจากเครื่องจักรผลิตไลน์ใหม่ประสิทธิภาพสูงของ AEROFLEX USA และ 2) ARK ยังมีทิศทางโตต่อ หลังเริ่มเห็น Synergy ระหว่าง Flexiglasss (มีดีลเลอร์และ Distributor กว่า 100 แห่งในออสเตรเลีย) และ TJM (เจ้าของแบรนด์อะไหล่รถ 4WD ที่ได้รับความนิยมสูง)มากขึ้น พร้อมมีแผนทยอยออกสินค้าใหม่ต่อเนื่อง รวมทั้ง 3) EPP คาดเห็นการฟื้นตัวจากปีก่อน หลังปรับแผนเน้นการผลิตสินค้าเกณฑ์รองลงมาเพื่อเพิ่ม Utilization Rate และการประหยัดต่อขนาดให้ดีขึ้น
สำหรับผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 4 ของปี 60/61 (สิ้นสุด 31 มี.ค.61) มีกำไรสุทธิ 232 ล้านบาท โต 26.8% จากไตรมาสก่อน โดยหากไม่รวมขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ที่บันทึกในช่วงไตรมาส 3 ปี 60/61 จำนวน 17 ล้านบาท และบันทึก ในช่วงไตรมาส 4 ปี 60/61 อีก 41 ล้านบาท จะมีกำไรปกติ 273 ล้านบาท โต 36.2% จากไตรมาสก่อน
โดยมีแรงหนุนหลักจากยอดขายรวมที่ขยับขึ้น 2.2% เมื่อเทียบต่อไตรมาส นำโดยยอดขายอะไหล่ยานยนต์ของ ARK ที่โต 8.4% สอดคล้องไปกับยอดผลิตและส่งออกยานยนต์ที่ฟื้นตัว บวกกับเริ่มรวมงบ Flexiglass เข้ามาเต็มไตรมาสครั้งแรก
นอกจากนี้ยอดขายบรรจุภัณฑ์ของ EPP เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้น 3.7% หลังปรับแผนการผลิตเน้นทำตลาดสินค้าในแบรนด์ EICI มากขึ้น และเพิ่มกิจกรรมการตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขาย
ขณะที่ยอดขายฉนวนยางแม้หดตัว 8.5% จากไตรมาสก่อน จากผลเงินบาทที่แข็งค่า แต่ในด้านปริมาณการขายยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนอัตรากำไรขั้นต้นเริ่มฟื้นตัวเช่นกัน จากเพียง 24.7% ในช่วงไตรมาส 3 ปี 60/61 เป็น 28.1%