เปิด TOR รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน! เคาะขายซอง 18 มิ.ย.-9 ก.ค.ยื่น 12 พ.ย.รู้ผลผู้ชนะ13 พ.ย.61

รฟท.เปิดหลักเกณฑ์ TOR รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน! เคาะขายซอง 18 มิ.ย.-9 ก.ค.ยื่น 12 พ.ย.รู้ผลผู้ชนะ13 พ.ย.61


นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เปิดเผยว่า ในวันนี้(30 พ.ค.61) รฟท.ได้ออกประกาศเชิญชวนการคัดเลือกเอกชนการร่วมลงทุนกับเอกชนในกิจการของรัฐ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักในการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่จะเชื่อมต่อ 3 ท่าอากาศยานในเขตกรุงเทพมหานครและเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก คือ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานอู่ตะเภาแบบไร้รอยต่อ

รวมทั้งพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ บริเวณสถานีแอร์พอร์ต เรลลิงก์มักกะสัน ให้เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงกรุงเทพมหานครกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC Gateway)และพื้นที่สถานีรถไฟความเร็วสูงศรีราชา และการดำเนินกิจการทางพาณิชย์เพื่อสนับสุนนบริการรถไฟ

ทั้งนี้ขอบเขตโครงการ 1)โครงการเกี่ยวกับรถไฟ ประกอบด้วย รถไฟความเร็วสูง ,แอร์พอร์ต เรลลิงก์ และ แอร์พอร์ต เรลลิงก์ส่วนต่อขยาย โดยสถานีรถไฟของโครงการ มีทั้งหมด 15 สถานี รวมอาคารและสถานที่จอดรถและจรของสถานี และศูนย์ซ่อมบำรุง ซึ่งมีระยะทางรวมประมาณ 220 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง 40 นาที โดยใช้ความเร็วในเมืองสูงสุด 160 กม./ชม.(ช่วงสถานีดอนเมืองถึงสถานีสุวรรณภูมิ) และใช้ความเร็วระหว่างเมือง สูงสุด 250 กม./ชม. (ช่วงสถานีสุวรรณภูมิ ถึงสถานีอู่ตะเภา)

ทั้งนี้ ขอบเขตการดำเนินงานโครงการเกี่ยวกับรถไฟ เอกชนคู่สัญญามีหน้าที่ในการดำเนินงานการพัฒนาโครงการเกี่ยวกับรถไฟ งานการจัดหาแหล่งเงินทุน และงานการให้บริการเดินรถและบำรุงรักษาโครงการเกี่ยวกับรถไฟ (Design-Build-Finance-Operation-Maintenance DBFOM)

งานการออกแบบและงานการก่อสร้างงานโยธาของโครงการเกี่ยวกับรถไฟ งานโยธาร่วมของโครงการเกี่ยวกับรถไฟ และงานระบบเครื่องกลและไฟฟ้าและขบวนรถไฟ โดยมีขนาดทางมาตรฐาน 1.435 เมตร (Standard Gauge) และสถานีรถไฟ จำนวน 15 สถานี

นอกจากนี้มีงานโยธาร่วมกับโครงการอื่น ได้แก่ งานโยธาร่วมที่จะเป็นโครงสร้างใต้ดินของโครงการรถไฟสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ซึ่งอยู่บริเวณหน้าสถานีรถไฟจิตรลดา และงานโยธาร่วมที่จะเป็นโครงสร้างทางวิ่งร่วมกับโครงการรถไฟความเร็วสูงสายเหนือ และโครงการรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง

รวมทั้งศูนย์ซ่อมบำรุง จำนวน 2 แห่ง คือ ศูนย์ซ่อมบำรุงฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงที่ต้องก่อสร้างใหม่ และ ศูนย์ซ่อมบำรุงคลองตัน ซึ่งเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงที่ต้องปรับปรุง อีกทั้ง สถานีจ่ายไฟฟ้าย่อยที่มีขีดความสามารถในการจ่ายกระแสไฟฟ้าสำหรับการบริการเดินรถอย่างมีเสถียรภาพ

ระบบเครื่องกลและไฟฟ้า ได้แก่ ระบบอาณัติสัญญาณ , ระบบจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ, ระบบโทรคมนาคมและวิทยุสื่อสาร, ระบบไฟฟ้ากำลัง ,ระบบประตูกั้นชานชาลา และระบบอื่นๆที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อให้การเดินรถมีประสิทธิภาพ

ขณะที่ขบวนรถไฟที่รองรับรถไฟความเร็วสูงที่สามารถรองรับความเร็วสูงสุดในการเดินรถ 250 กม./ชั่วโมง และ 160 กม./ชั่วโมง โดยจัดหาขบวนรถให้เพียงพอกับผู้โดยสารตลอดระยะเวลาของโครงการ

การพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการประกอบด้วย พื้นที่มักกะสัน ซึ่งเป็นพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ตั้งอยู่บริเวณสถานีแอร์พอร์ต เรลลิงก์มักกะสัน ขนาดประมาณ 150 ไร่ โดยมีพื้นที่อาคารรวมกันไม่น้อยกว่า 850,000 ตารางเมตร และมีมูลค่าการลงทุนอาคารสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงส่วนควบต่างๆไม่น้อยกว่า 4.2 หมื่นล้านบาท (ไม่รวมค่าที่ดิน) เพื่อให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงกรุงเทพมหานครกับจังหวัดในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และเป็นสถานีเชื่อมโยงระบบขนส่งมวลขนอื่นเพื่อรองรับผู้โดยสารจำนวนมากที่จะเดินทางเช้ามาและออกเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

และพื้นที่ศรีราชาซึ่งเป็นพื้นที่ของ รฟท. ตั้งอยู่บริเวณสถานีศรีราชา ขนาดประมาณ 25 ไร่ โดยมีพื้นที่อาคารรวมกันไม่น้อยกว่า 20,000 ตารางเมตร และมีมูลค่าการลงทุนอาคาร สิ่งปลูกสร้าง รวมถึงส่วนควบต่างๆๆไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท (ไม่รวมค่าที่ดิน) เพื่อให้พื้นที่ดังกล่าวสามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารที่เข้ามาในสถานีศรีราชา

3)การดำเนินกิจการพาณิชย์ การดำเนินกิจกรรมต่างๆในทางพาณิชย์ รวมถึงการจัดเก็บรายได้บริเวณสถานีรถไฟ ภายในและภายนอกขบวนรถไฟ ทั้งหมดที่ใช้ในโครงการฯ ทางเชื่อมต่อระหว่างอาคารอื่นๆ กับสถานีรถไฟของโครงการ และการดำเนินการอื่นใดภายใต้วัตถุประสงค์ของโครงการ

ทั้งนี้ระยะเวลาของการดำเนินงาน แบ่งเป็นระยะเวลาดำเนินงานการออกแบบและงานก่อสร้างของโครงการเกี่ยวกับรถไฟในส่วนรถไฟความเร็วสูง (Design-Build) ระยะเวลา 5 ปี หรือระยะเวลาที่ได้รับการขยายจากรฟท. โดยนับจากวันที่รฟท.ระบุให้ในหนังสือแจ้งให้เริ่มงานในส่วนการพัฒนาโครงการเกี่ยวกับรถไฟจนถึงวันที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองการเริ่มให้บริการเดินรถทั้งระบบให้แก่เอกชนคู่สัญญา และระยะเวลาของการดำเนินงานให้บริการเดินรถและงานบำรุงรักษาโครงการเกี่ยวกับรถไฟในส่วนรถไฟความเร็วสูง (Operation-Maintenance) เท่ากับระยะเวลา 45 ปี โดยจะนับจากวันที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองการเริ่มให้บริการเดินรถทั้งระบบ (Certificate of Final Acceptance)

สำหรับส่วนของระยะเวลาของการพัฒนาพื้นที่สนับสุนนบริการรถไฟของโครงการฯ เท่ากับระยะเวลา 50 ปี นับจากวันที่ รฟท.ระบุไว้ในหนังสือแจ้งให้เริ่มงานให้เริ่มงานในส่วนของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ แต่ทั้งนี้ ระยะเวลาการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการจะไม่เกินกว่าระยะเวลาของโครงการฯ

กรอบเงินลงทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการในส่วนของรัฐในโครงการฯไม่เกินจำนวนมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value:NPV)  119,425,750,000 บาท ซึ่งในการยื่นข้อเสนอการร่วมลงทุน ผู้ยื่นข้อเสนอสามารถเสนอขอรับเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการฯในจำนวนที่น้อยกว่านี้ได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับข้อตกลงในสัญญาร่วมลงทุน โดยกำหนดระยะเวลาแบ่งจ่ายเป็นระยะเวลา 10 ปี เท่าๆกัน โดยจะเริ่มชำระเงินดังกล่าวภายหลังเอกชนคู่สัญญาเริ่มต้นการให้บริการเดินรถและบำรุงรักษาโครงการเกี่ยวกับรถไฟ (Operation-Maintenance) และเป็นไปตามเงื่อนไขการชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการฯตามผลการดำเนินงานเกณฑ์ประเมินผลผลิตที่เอกชนต้องส่งมอบ (Output Specification) ระดับในการบริการ (Level of Service) และระยะทางของการเดินรถ

คุณสมบัติของผู้ยื่นเสนอ จะเป็นนิติบุคคลรายเดียว หรือ นิติบุคคลหลายรายรวมกันเป็นกิจการร่วมค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ หรือ นิติบุคคลหลายรายรวมกันเป็นกิจการร่วมค้าที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ หรือ นิติบุคคลที่ควบรวมกิจการ  โดยต้องมีนิติบุคคลไทยอย่างน้อย 1 ราย เข้าร่วมกลุ่มโดยมีสัดส่วนการลงทุนเกินกว่า 25% ของทั้งหมด และสมาชิกอื่นแต่ละรายต้องมีสัดส่วนการลงทุนไม่น้อยกว่า 5% โดยสมาขิกแต่ละรายต้องเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนมาแล้วเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี นับถึงวันที่ยื่นข้อเสนอ

คุณสมบัติด้านเทคนิค ผู้ยื่นข้อเสนอต้องจัดทำเอกสารข้อเสนอทางเทคนิคให้เป็นไปตามข้อกำหนดทางเทคนิคที่ระบุในเอกสารการคัดเลือกเอกชน

คุณสมบัติด้านการเงิน มี 2 ข้อคือ 1)มูลค่าสุทธิของกิจการ (Net Worth) โดยผู้ยื่นข้อเสนอเป็นรายเดียวต้องมีมูลค่าสุทธิของกิจการรายปี โดยคิดเฉลี่ยในรอบระยะเวลา 3 ปี ล่าสุด ไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท หรือ ผู้ยื่นข้อเสนอเป็นกิจการร่วมค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนใหม่ หรือจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ สมาชิกแต่ละรายที่นำมาคำนวณคุณสมบัติด้านการเงินต้องมีมูลค่าสุทธิของกิจการรายปี เฉลี่ยในรอบระยะเวลา 3 ปี ล่าสุดไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาทและรวมกันทั้งหมดจะต้องไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท  ส่วนผู้ยื่นที่เป็นนิติบุคคลที่ควบรวมกิจการ นิติบุคคลแต่ละรายต้องมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาทในรอบระยะเวลา 3 ปีล่าสุด และรวมกันไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท

2)หนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent) ผู้ยื่นข้อเสนอต้องยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงซึ่งเป็นหนังสือจากสถาบันการเงินของไทย หรือ สถาบันการเงินของต่างประเทศ ที่จะสนับสนุนวงเงินสินเชื่อรวมเป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่า 120,000 ล้านบาท หรือผู้ยื่นข้อเสนอ ยื่นหลักฐานเงินสดและ รายการเทียบเท่าเงินสด (Cash and Cash Equivalent)ซึ่งไม่มีภาระผูกพันใดๆ ที่แสดงในงบแสดงฐานะการเงิน (Balance Sheet) ย้อนหลังไม่เกิน 6 เดือน นับจากวันที่ยื่นข้อเสนอ เป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่า 120,000 ล้านบาท  หรือจะเป็นหนังสือเจตจำนง ซึ่งเป็นหนังสือจากสถาบันการเงินของไทย หรือ สถาบันการเงินของต่างประเทศ ที่จะสนับสนุนวงเงินสินเชื่อ และหลักฐานเงินสดและ รายการเทียบเท่าเงินสด ที่แสดงในงบแสดงฐานะการเงิน (Balance Sheet) ย้อนหลังไม่เกิน 6 เดือนรวมกัน เป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่า 120,000 ล้านบาท

สำหรับประสบการณ์ของผู้ยื่นข้อเสนอ ผู้รับจ้าง (ถ้ามี)ได้แก่

การพัฒนาโครงสร้างเกี่ยวกันรถไฟ ที่ผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีประสบการณ์ด้านงานออกแบบ โครงสร้างทางรถไฟยกระดับ หรือ โครงสร้างทางรถไฟใต้ดิน หรือโครงสร้างทางยกระดับ ที่มีมูลค่างานก่อสร้างในสัญญาเดียว หรือหลายสัญญารวมกันไม่  น้อยกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว โดยแต่ละสัญญาที่จะนำมารวมกันต้องมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว และผลงานดังกล่าวต้องแล้วเสร็จเป็นเวลาไม่เกิน 20 ปีนับถึงวันที่ยื่นข้อเสนอ

รวมทั้งต้องมีประสบการณ์ด้านงานก่อสร้าง โครงการรถไฟยกระดับ หรือโครงสร้างทางรถไฟใต้ดิน หรือโครงสร้างทางยกระดับ ที่มีมูลค่างานสัญญาเดียวหรือหลายสัญญารวมกันไม่น้อยกว่า 7,000 ล้านบาทรวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว และผลงานต้องแล้วเสร็จเป็นเวลาไม่เกิน 20 ปี นับถึงวันที่ยื่นข้อเสนอ  และต้องมีประสบการณ์ด้านการบูรณาการงานระบบเครื่องกลและไฟฟ้า (System Integration) ของรถไฟความเร็วสูง ประกอบด้วยงานอาณัติสัญญาณ งานโทรคมนาคม งานไฟฟ้า งานวางราง และงานศูนย์ซ่อมบำรุง ทุกระบบรวมกันมีมูลค่างานระบบ สัญญาเดียวหรือหลายสัญญารวมกันไม่น้อยกว่า 7,000 ล้านบาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ผลงานต้องแล้วเสร็จเป็นเวลาไม่เกิน 20 ปี นับถึงวันที่ยื่นข้อเสนอ

การให้บริการเดินรถและบำรุงรักษาโครงการเกี่ยวกับรถไฟ  ผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีประสบการณ์การให้บริการเดินรถไฟความเร็วสูง หรือเป็นผู้ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษาระบบรถไฟความเร็วสูง โดยมีระยะเลาดำเนินงานต่อเนื่องในสัญญาเดียวกันไม่น้อยกว่า 5 ปี

3.การพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการ ผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีประสบการณ์ทางด้านการเป็นผู้บริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ (Property Management) หรือการเป็นผู้พัฒนา (Developer) ของอาคารขนาดใหญ่พิเศษที่มีขนาดพื้นที่อาคารไม่น้อยกว่า 10,000 ตารางเมตร ทั้งอาคารสำนักงานประเภทอาคารสูง อาคารพักอาศัยประเภทอาคารสูง โรงแรม อาคารพาณิชย์กรรม อาคารอเนกประสงค์เพื่อการประชุม โรงพยาบาล  โดยต้องมีประสบการณ์บริหารกิจการอย่างน้อย 1 ประเภทและต้องมีอีกหนึ่งประเภทที่ไม่ซ้ำกัน

โดยมีระยะเวลาการบริหารกิจการอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5 ปี  หรือผู้ยื่นข้อเสนอเป็นผู้พัฒนา ต้องมีประสบการณ์การเป็นผู้พัฒนากิจการ อย่างน้อย 1 ประเภทและต้องมีอีกอย่างน้อย 1 ประเภทที่ไม่ซ้ำกัน โดยมีมูลค่าการลงทุน ไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาทซึ่งรวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว

ทั้งนี้ ประสบการณ์ของผู้ยื่นข้อเสนอ สามารถใช้ประสบการณ์ในหลายสัญญารวมกันของผู้ยื่นข้อเสนอรายเดียว หรือ กิจการร่วมค้าที่ที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ หรือจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ หรือ นิติบุคคลที่ควบรวมกิจการ

ในประกาศเชิญชวนฯ ระบุให้ผู้ยื่นข้อเสนอต้องยื่นเอกสาร หนังสือมอบอำนาจ หลักประกัน และหลักฐานการซื้อเอกสารการคัดเลือกเอกชน บรรจุลงในซองที่ไม่ปิดผนึกเดียวกันมี 4 ซอง ได้แก่

ซองที่ 1 คุณสมบัติทั่วไป ที่มีเอกสารข้อเสนอด้านคุณสมบัติทั่วไป ,เอกสารข้อเสนอด้านคุณสมบัติด้านการเงิน และเอกสารข้อเสนอด้านประสบการณ์

ซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค จะมีโครงสร้างองค์กรและความสามารถของบุคลากรในการบริหารงานรวมถึงแผนงานรวม , แนวทางและวิธีการดำเนินงาน และความสอดคล้องของซองเอกสารด้านเทคนิคงานโยธา , แนวทางและวิธีการดำเนินงาน และความสอดคล้องซองเอกสารด้านเทคนิคงานระบบเครื่องกลและไฟฟ้าและขบวนรถไฟ, แนวทางและวิธีการดำเนินงานและความสอดคล้องซองเอกสารด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีและกิจกรรมการฝึกอบรม และการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการและการดำเนินกิจการทางพาณิชย์

ซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน ได้แก่ บัญชีปริมาณงาน (รวมภาษีอากร ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายทั้งปวงแล้ว), แผนธุรกิจในการดำเนินโครงการ, แผนการเงิน, การจัดหาแหล่งเงินทุนที่ใช้ในการดำเนินโครงการ , ทรัพย์สินที่ใช้ในการดำเนินโครงการและกรรมสิทธิ์ของทรัพย์สินดังกล่าว, การคำนวณผลตอบแทนทางการเงินของโครงการตลอดอายุดของสัญญาร่วมทุน และการคำนวณผลประโยชน์ที่ภาครัฐจะได้รับและการขอรับเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการฯ

และซองที่ 4 ข้อเสนออื่นๆในการเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการ

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการในการพิจารณาคัดเลือกเอกชน จะพิจารณาข้อเสนอซองที่ 1 โดยการประเมินแบบผ่าน/ ไม่ผ่าน หากผ่านจะได้รับการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค โดยคะแนนแต่ละหมวดต้องไม่น้อยกว่า 75% และคะแนนรวมของทุกหมวดต้องไม่น้อยกว่า 80% จึงจะผ่านการประเมิน จึงจะได้รับการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน ซึ่งต้องมีความครบถ้วนและความถูกต้องของเอกสารตามที่กำหนดไว้ ขณะที่การพิจารณาข้อเสนอซองที่ 4 ซึ่งเป็นข้อเสนออื่นๆในการเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการนั้น คณะกรรมการคัดเลือกสงวนสิทธิ์ที่จะพิจารณาข้อเสนซองที่ 4 หรือไม่ก็ได้ ในกรณีที่เลือกพิจารณาจะพิจารณาข้อเสนอจากผู้อื่นข้อเสนอซองที่ 3 ที่ผ่านการพิจารณาเท่านั้นและจะเข้าสู่ขั้นตอนการเจรจา

ทั้งนี้ ผู้ยื่นข้อเสนอซองที่ 3 ที่ผ่านการพิจารณาและบรรลุข้อตกลงในการเจรจาแล้ว จะเป็นผู้ที่ได้รับคัดเลือก  ผู้ยื่นข้อเสนอที่เป็นผู้ที่ได้รับคัดเลือกต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเฉพาะกิจ (SPV) โดยนิติบุคคลที่จะจดทะเบียนขึ้นใหม่ต้องเป็นรายเดียวกับผู้ที่ได้รับคัดเลือก

รฟท.กำหนดเวลาการขายเอกสารการคัดเลือกเอกชนในวันที่18 มิ.ย.- 9 ก.ค.61 เวลา 9.00 -12 .00 น. และ เวลา 13.00- 15.00 น. ณ ห้องประชุมฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง  การรถไฟแห่งประเทศไทย โดยจะขายเอกสารในราคาชุดละ 1 ล้านบาท

รฟท.จะจัดประชุมชี้แจงจำนวน 2 ครั้ง ครั้งแรกในวันที่ 23 ก.ค.61 และ 24 ก.ย.61 ณ สโมสรรถไฟชั้น 2 การรถไฟแห่งประเทศไทย โดยรฟท.จะจัดให้ผู้ยื่นข้อเสนอไปดูสถานีที่ก่อสร้างของโครงการในวันที่ 24 ก.ค.61 และรฟท.จะเปิดให้มีการส่งข้อสังเกต ข้อเสนอแนะ หรือคำถามเกี่ยวกับเอกสารการคัดเลือกเอกชน ในวันที่ 10 ก.ค.- 9 ต.ค. 61 ในเวลาราชการ

รฟท.กำหนดเปิดให้มีการรับซองข้อเสนอในวันจันทร์ที่ 12 พ.ย.61 เวลา 9.00 -15.00น. โดยผู้ยื่นข้อเสนอต้องยื่นหลักประกันซองพร้อมกับการซื้อซองเอกสารข้อเสนอ มูลค่า 2,000 ล้านบาทและต้องชำระค่าธรรมเนียมการประเมินข้อเสนอให้แก่ รฟท. เป็นจำนวนเงิน 2 ล้านบาท ที่สำนักงานโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์มักกะสัน และกำหนดให้เปิดซองผู้ยื่นข้อเสนอวันที่ 13 พ.ย.61 เวลา 10.00 น. ณ สำนักงานโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ มักกะสัน

ทั้งนี้ ผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการประเมินข้อเสนอจะต้องวางหลักประกันสัญญาที่ออกโดยธนาคารให้กับรฟท.ในวันที่เข้าทำสัญญาร่วมทุนเป็นมูลค่าเท่ากับ 4,500 ล้านบาท เพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาร่วมลงทุนของเอกชนคู่สัญญา

Back to top button