“NFC” สลัดถุงปุ๋ย! พลิกโฉมสู่ปิโตรเคมีฯ

“NFC” สลัดคราบบริษัทผลิตปุ๋ย! พลิกโฉมสู่ธุรกิจ "ปิโตรเคมีฯ" พร้อมรีซูมเทรด 15 มิ.ย. หลังพักการซื้อขายยาวนานถึง 15 ปี


บริษัท เอ็นเอฟซี จำกัด (มหาชน) หรือ NFC” ชื่อนี้อาจยังไม่คุ้นหูนักลงทุนเท่าไหร่นัก แต่หากพูดถึง บริษัท ปุ๋ยแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)” รับรองว่านักลงทุนรุ่นใหญ่ต่างเคยได้ยินผ่านหูกันมาบ้างไม่มากก็น้อย และยังมีคนอีกหลายกลุ่มที่อาจถือหุ้นตัวนี้มาตั้งแต่วันแรกที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น และรอวันที่จะได้ขายหุ้นออกมาเสียที หลังจากบริษัทแห่งนี้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ และพักการซื้อขายเป็นเวลานานถึง 15 ปี

ส่วนคนที่อยากเก็บหุ้นเอาไว้ หรือมีความต้องการเข้ามาลงทุนภายหลังจากบริษัทฯ กลับเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวันที่ 15 มิ.ย. 61 คงต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจใหม่ ซึ่งถือเป็นการสลัดคราบบริษัทผลิตปุ๋ยไปอย่างสิ้นเชิง

หากย้อนอดีตกลับไปจะพบว่า บริษัทแห่งนี้ เริ่มต้นมาจากบริษัทจำกัด ก่อตั้งครั้งแรกในปี 2526 ภายใต้โครงการปุ๋ยแห่งชาติของภาครัฐ โดยมีชื่อว่า “บริษัท ปุ๋ยแห่งชาติ จำกัด” ดำเนินธุรกิจปุ๋ยใต้ร่มเงาของภาครัฐบาลมานับ 10 ปี

โดยมีกระทรวงการคลัง และกลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ต่อมาในปี 2536 บริษัทฯ ได้เริ่มนำเข้าปุ๋ย N (ไนโตรเจน) P (ฟอสฟอรัส) K (โปรแตสเซียม) เข้ามาจำหน่าย เพื่อสร้างแบรนด์ก่อนนำบริษัทฯเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดย ณ ขณะนั้น บริษัทฯยังไม่มีโรงงานผลิตปุ๋ยเป็นของตัวเอง

จากนั้นได้เปลี่ยนสถานะจากบริษัทจำกัด เป็นบริษัทมหาชนจำกัด โดยใช้ชื่อว่า “บริษัท ปุ๋ยแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)” และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2539

 

หนี้เงินกู้-ต้นทุนก่อสร้างสูงลิบ ฉุดผลประกอบการย่ำแย่ เดินหน้าเข้าแผนฟื้นฟูฯ

ในปี 2541 บริษัทฯ ได้เริ่มเปิดดำเนินการโรงงานผลิตปุ๋ยเคมีเชิงประกอบ แต่ประสบปัญหาจากนโยบายการใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวของภาครัฐฯ ส่งผลให้ภาระหนี้เงินกู้และต้นทุนการก่อสร้างโรงงาน รวมถึงต้นทุนสินค้าสูงขึ้นเกือบเท่าตัว จนส่งผลให้การดำเนินนับตั้งแต่นั้นขาดทุนเรื้อรัง

โดยผลประกอบการที่ขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ในปี 2546 ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบในที่สุด บมจ.ปุ๋ยแห่งชาติ” จึงเข้าข่ายเหตุแห่งการเพิกถอนหลักทรัพย์ตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ และหยุดทำการซื้อขายนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และภายในปีเดียวกันนี้ บริษัทได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการผ่านศาลล้มละลายกลาง

หลังจากนั้นภายในระยะเวลาเพียง 1 ปี ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งให้ออกจากการฟื้นฟูกิจการภายหลังจากที่บริษัทได้ปรับโครงสร้างหนี้ และโครงสร้างทุนได้เป็นผลสำเร็จ พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ปุ๋ยเอ็นเอฟซี จำกัด (มหาชน)” โดยตัดคำว่า แห่งชาติ” ออกไป

หลังจากพ้นสภาพจากการเป็นบริษัทล้มละลาย ทางบริษัทฯ ยังคงประกอบธุรกิจปุ๋ยจนกระทั่งปี 2548 บริษัทฯจะต้องพบกับปัญหาขาดทุนอย่างหนักอีกครั้ง จากปัญหาด้านราคาปุ๋ยที่ไม่สามารถปรับราคาขึ้นอย่างภาคเอกชน อีกทั้งสภาพโรงงานที่ใช้ในการผลิตชำรุดและทรุดโทรมอย่างมาก ไม่คุ้มค่าที่จะลงทุนซ่อมแซมให้กลับสู่สภาพเดิมได้ จึงตัดสินใจหยุดการผลิตปุ๋ยเคมีตั้งแต่ช่วงต้นปี 2549

 

จนกระทั่งปี 2551 บริษัทได้กลับเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการของศาลล้มละลายกลางอีกครั้ง และในปี 2552 ศาลล้มละลายกลางเห็นชอบให้บริษัทฟื้นฟูกิจการ แต่มีเจ้าหนี้ยื่นคัดค้านโดยยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นไปยังศาลฎีกา เนื่องจากมองเห็นว่าบริษัทฯ ยังมีศักยภาพในการชำระหนี้ โดยที่ไม่ต้องเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ

อย่างไรก็ตามในระหว่างรอคำตัดสินศาล ผลประกอบการของบริษัทยังคงย่ำแย่ลงไปเรื่อยๆ จนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ประกาศเพิ่มเหตุแห่งการเพิกถอนหลักทรัพย์  เนื่องจากผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงิน 3 ปีติดต่อกัน  บริษัทจึงต้องทำการปรับโครงสร้างทุน และชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการมาในช่วงปี 2553-2558

ผลดังกล่าวทำให้ในปี 2558 เป็นอีกครั้งที่บริษัทได้หลุดพ้นจากการเป็นบริษัทล้มละลาย ภายหลังศาลฎีกาได้มีคำพิพากษายกคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัท ตามที่เจ้าหนี้ได้ยื่นคำร้องคัดค้านการฟื้นฟูกิจการ บริษัทฯ จึงได้ทำการเพิ่มทุนมาชำระหนี้ตามแผนส่วนที่เหลือ และได้รับการปลดหนี้จากเจ้าหนี้ตามแผนโดยที่ไม่ต้องเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ การเพิ่มทุนดังกล่าวหน่วยงานภาครัฐไม่ใช้สิทธิ์ในการเพิ่มทุน ส่งผลให้สัดส่วนการถือหุ้นลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ถือเป็นการเริ่มต้นบริษัทเอกชนอย่างเต็มตัวนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

 

สลัดคราบบริษัทผลิตปุ๋ย พลิกโฉมสู่ปิโตรเคมีภัณฑ์

จนกระทั่งเดือนกรกฏาคมของปี 2559 บริษัทได้เล็งเห็นว่าธุรกิจปุ๋ย ไม่สามารถสร้างรายได้และผลประกอบการให้บริษัทได้อีกต่อไป จึงได้ปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ ด้วยการขยายธุรกิจการนำเข้าและจัดจำหน่ายแอมโมเนีย เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าขั้นปลายอย่างครบวงจร โดยการซื้อและรับโอนกิจการบางส่วนจาก บริษัท เคมีคัลส์ แอนด์ อาโรเมติก (ประเทศไทย) จำกัด (C&A) ซึ่งเป็นบุคคลที่เกี่ยวโยงกับบริษัท เพราะมีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ นายณัฐภพ รัตนสุวรรณทวี” เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ร่วมกัน

โดยบริษัทฯ ได้ทำการออกหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ C&A เพื่อเป็นการชำระค่าตอบแทนการซื้อและรับโอนกิจการดังกล่าว ซึ่งจะทำให้ C&A และผู้ที่เกี่ยวข้องถือหุ้นใน NFC มากกว่า 50% เป็นผลให้ต้องทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท โดยภายหลังการทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมด ส่งผลให้ นายณัฐภพ และบริษัท C&A มีสัดส่วนการถือครองหุ้นใน NFC รวมกัน 55.84%

หลังจากทำการรับโอนกิจการจาก C&A ในเดือนพฤศจิกายนของปีเดียวกัน บริษัทฯ ได้แจ้งเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นรายใหญ่อีกครั้ง โดยบริษัท C&A ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับที่ 2 ของ NFC ได้ทำการจำหน่ายหุ้นให้กับ “นายณัฐภพ รัตนสุวรรณทวี” ทั้งจำนวน ส่งผลให้นายณัฐภพ มีสัดส่วนการถือหุ้นจาก 35.03% ขึ้นมาเป็น 55.84%

 

ลุยปรับโครงสร้างหนี้-ล้างขาดทุนสะสม รอวันรีซูมเทรด

ต่อมาในปี 2560 บริษัทได้ทำการล้างขาดทุนสะสมด้วยการลดมูลค่าหุ้น โดยปัจจุบันบริษัทมีมูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 0.75 บาท นอกจากนี้บริษัทได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “บริษัท เอ็นเอฟซี จำกัด (มหาชน)” ถือเป็นการเริ่มต้นธุรกิจใหม่นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ภายหลังจากที่ปรับโครงสร้างธุรกิจ บริษัทฯ ได้กลับมามีกำไรสุทธิ 3 ไตรมาสต่อเนื่อง โดยผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2560 มีกำไรสุทธิ 20.78 ล้านบาท และไตรมาส 4 ปี 2560 มีกำไรสุทธิ 131.13 ล้านบาท และล่าสุดไตรมาส 1 ปี 2561 มีกำไรสุทธิ  26.21 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์พ้นเหตุอาจถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ

ส่งผลให้ในวันที่ 6 มิถุนายน 2561 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้อนุมัติให้หลักทรัพย์ของ NFC พ้นเหตุอาจถูกเพิกถอน โดยปลดเครื่องหมาย SP (Suspension) และให้เริ่มทำการซื้อขายหลักทรัพย์ของ NFC ในตลาดหลักทรัพย์กลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าอุตสาหกรรม หมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ได้ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2561 เป็นต้นไป

โดยการกลับเข้ามาซื้อขายในครั้งนี้ ราคาหลักทรัพย์ที่กลับเข้ามาซื้อขายวันแรกจะไม่มีกำหนดเพดานสูงสุด (Ceiling) และต่ำสุด (Floor)  โดยราคาซื้อขายหุ้นครั้งสุดท้ายอยู่ที่ 1.36 บาท แต่ราคาดังกล่าวอาจไม่สะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของหุ้นในปัจจุบัน เนื่องจากบริษัทฯ ได้ทำการเปลี่ยนแปลงพาร์ในปี 2547 จาก 10 บาท มาเป็นพาร์ 1 บาท และลดพาร์มาเป็น 0.16 บาท เมื่อปี 2553

ต่อมาในปี 2559 บริษัทได้ทำการเปลี่ยนแปลงพาร์เป็น 0.50 บาท ด้วยสัดส่วน 3.125 หุ้นเดิม เป็น 1 หุ้นใหม่ และได้ทำการรวมพาร์จาก 0.50 บาท เป็น 1.25 บาท ด้วยสัดส่วน 2.5 หุ้นเดิม เป็น 1 หุ้นใหม่ ในปี 2560 เพื่อรองรับการลดทุนด้วยการลดพาร์ เพื่อชดเชยขาดทุนสะสม ซึ่งภายหลังจากการลดทุนลดพาร์ส่งผลให้ปัจจุบันบริษัทมีมูลค่าที่ตราไว้อยู่ที่ 0.75 บาท

จากข้อมูลทางการเงินของ NFC ณ ปัจจุบัน จะเห็นว่า บริษัทมีความมั่งคงมากจริงๆ เพราะมีส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ระดับ 986.53 ล้านบาท หนี้สินทั้งหมดมีเพียง 210.59 ล้านบาท และมีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่แค่ระดับ  0.21 เท่า ขณะที่ผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (ROA) 8.71% และผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) สูงถึง 22%

นอกจากนี้ยังมีจุดแข็งทำเลที่ตั้งของคลังสินค้าของบริษัทมีความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งเป็นฐานของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เอื้อต่อการเชื่อมต่อระบบโลจิสติกส์ครบวงจร

ขณะที่ในอนาคตประเทศไทยมีโอกาสนำเข้าก๊าซธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อธุรกิจการให้บริการคลังสินค้า และขนส่ง ซึ่งบริษัทสามารถให้บริการได้อย่างครบวงจร ส่งผลให้บริษัทฯมีศักยภาพพร้อมที่จะพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน จึงทำให้บริษัทมีโอกาสขยายตัวได้อีกมากจากโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)

ที่สำคัญคือภายใต้การบริหารงานของ “นายณัฐภพ รัตนสุวรรณทวี” ที่หวังฟื้นคืนชีพให้บริษัทกลับเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ และเติบโตต่อไปในระยะยาว ส่งผลให้ NFC เป็นหุ้นน้องใหม่ พื้นฐานแกร่ง ในกลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ที่น่าจับตามอง

Back to top button