เกมพลิก! DTAC ประกาศชัดไม่เอาคลื่น 1800 จับตา ADVANC ลุยเดี่ยวหรือไม่?
เกมพลิก! DTAC ประกาศชัดไม่เอาคลื่น 1800 จับตา ADVANC ลุยเดี่ยวหรือไม่?
บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC เปิดเผยว่า ตามที่ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 1740-1785 /1835-1880 MHz กำหนดให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ตามประกาศฯ ดังกล่าว ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามแบบคำขอรับใบอนุญาตต่อกสทช.ภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2561 โดยกำหนดวันประมูลเป็นวันที่ 4 สิงหาคม 2561 นั้น บริษัทขอแจ้งให้ทราบว่า บริษัทฯ (รวมถึงบริษัทใน เครือ) จะไม่เข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ตามประกาศฯ ดังกล่าว
ด้านนายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของดีแทค เปิดเผยว่า ดีแทคได้พิจารณาการเข้าร่วมประมูลอย่างรอบคอบ โดยมีข้อสรุปถึงการถือครองคลื่นย่านความถี่สูง (high-band spectrum) มีปริมาณมากพอที่จะรองรับการใช้งานดาต้าที่เติบโตขึ้นในอนาคต โดยการประมูลในครั้งนี้คงหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ไม่เอื้อประโยชน์ให้บริษัท สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับลูกค้าและผู้ถือหุ้นได้ในระยะยาว
“ดีแทคมั่นใจในการให้บริการอย่างต่อเนื่องจากจำนวนคลื่นความถี่ทั้งหมดที่ถือครองมากพอที่จะรองรับการเติบโตการใช้งานดาต้าของลูกค้า และเตรียมพร้อมสำหรับมาตรการคุ้มครองลูกค้าเพื่อไม่กระทบการใช้งานจากกรณีสิ้นสุดสัมปทานคลื่นความถี่” นายลาร์ส กล่าว
โดยปัจจุบัน ดีแทคได้ถือครองความถี่ย่าน 2100 MHz จำนวน 2×15 MHz และมีคลื่นใหม่ความถี่ 2300 MHz จำนวน 1x60MHz ซึ่งเป็นคลื่นความถี่เดียวที่กว้างที่สุดในประเทศไทย ซึ่งถ้าหมดสัมปทานคลื่น 1800 MHz และสิ้นสุดระยะเวลาเยียวยาแล้ว ดีแทคยังมีคลื่นย่านความถี่สูงเพิ่มมากกว่าอีกเดิม 10 MHz จากคลื่นใหม่ 2300 MHz ที่จะนำมาให้บริการสำหรับคลื่นย่านความถี่สูงอย่างพอเพียง
ทั้งนี้ คลื่น 2300 MHz ได้ถูกนำมาให้บริการ 4G TDD เพื่อตอบสนองการใช้งานดาต้าที่เน้นการดาวน์โหลด สอดคล้องกับพฤติกรรมลูกค้าที่หันมานิยมการรับชมวิดีโอผ่านสมาร์ทโฟนจำนวนหลายชั่วโมงต่อวัน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าดีแทคจะสิ้นสุดสัมปทานคลื่น 1800 MHz และ 850 MHz ดีแทคยังมีปริมาณคลื่นความถี่ที่จะให้บริการต่อจำนวนลูกค้ามากกว่าผู้ประกอบการรายอื่น (ดีแทคมีจำนวนคลื่นเฉลี่ย 2.75 MHz ต่อจำนวนลูกค้า 1 ล้านราย ในขณะผู้ให้บริการรายอื่นมีจำนวน 1.37 MHz และ 1.99 MHz)
ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่าย ดีแทคยังเร่งขยายสถานีฐานอย่างรวดเร็วกว่าที่ผ่านมา โดยมีการขยายเพิ่มสถานีฐาน 3G/4G บนโครงข่าย 2100 MHz จำนวน 4,000 แห่งต่อปีในช่วง 2560-2561 ซึ่งขยายรวดเร็วกว่าเดิมถึง 2 เท่าเมื่อเทียบกับปีก่อน ดีแทคยังรุกขยายสถานีฐานสำหรับการใช้งานบนคลื่นความถี่ 2300MHz dtac TURBO ด้วยเทคโนโลยี 4G TDD ให้ได้อีกอย่างน้อย 4,000 แห่งในปีนี้ตามข้อตกลงกับทีโอที และหากดีแทคสามารถทำได้เต็มกำลังการติดตั้งสถานีฐานคาดว่าจะขยายได้มากถึง 7,000 แห่งในปลายปีนี้
ขณะที่ วานนี้ (14 มิ.ย.61) บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC หรือ เอไอเอส เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทฯ ยังไม่ได้ตัดสินใจแน่นอนว่าจะเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ในครั้งนี้หรือไม่ หากพิจารณาความจำเป็นที่ต้องการคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ก็ไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม หากไม่เข้าประมูลก็เกรงว่าจะเสียโอกาสทางธุรกิจ
โดย ปัจจุบัน ADVANC มีคลื่นความถี่ในมือ 55 MHz จากใบอนุญาต 2100 MHz จำนวน 15 MHz ซึ่งประมูลมาด้วยราคา 14,625 ล้านบาท อายุ 15 ปีนับจากปี 55 , ใบอนุญาต 1800 MHz จำนวน 15 MHz ประมูลมาด้วยราคา 40,986 ล้านบาท อายุใช้งาน 18 ปีสิ้นสุดปี 76 ,ใบอนุญาต 900 MHZ จำนวน 10 MHz ประมูลในราคา 75,654 ล้านบาท อายุใช้งาน 15 ปีถึงปี 74 รวมคลื่น 2100 MHz จาการเป็นพันธมิตรกับ บมจ.ทีโอที จำนวน 15 MHz ใช้งานได้ถึงปี 68 โดยมีค่าใช้จ่ายปีละ 3,900 ล้านบาท ทั้งนี้ โครงข่ายมีทั้ง 4G/3G/2G ครอบคลุม 98% ของจำนวนประชากร
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ได้แจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า คณะผู้บริหารได้พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า บริษัทฯ ไม่ควรเข้าร่วมการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 1800 MHz ที่จะจัดโดยคณะกรรมการการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติในเดือนส.ค.2561
ตามการรายงานข่าวก่อนหน้านี้ : TRUE ประกาศชัดไม่เอาคลื่น 1,800MHz จับตา ADVANC ตามรอย! ส่อทำประมูลล่ม