ALLA วิ่ง 3 วันราคาพุ่ง 15% ขานรับผบห.แย้มผลงาน Q2 โต-ลุ้นคว้างานใหม่รวม 2.8 พันลบ.

ALLA วิ่ง 3 วันราคาพุ่ง 15% นิวไฮรอบกว่า 1 เดือน ขานรับผบห.แย้มผลงาน Q2 โต-ลุ้นคว้างานประมูลงานใหม่ มูลค่ารวม 2.8 พันลบ. ล่าสุด ณ เวลา 15.21 น. อยู่ที่ 1.81 บาท บวก 0.14 บาท หรือ 8.38% สูงสุดที่ 1.85 บาท ต่ำสุดที่ 1.64 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 29.64 ล้านบาท


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท ออลล่า จำกัด (มหาชน) หรือ ALLA ล่าสุด ณ เวลา 15.21 น. อยู่ที่ 1.81 บาท บวก 0.14 บาท หรือ 8.38% สูงสุดที่ 1.85 บาท ต่ำสุดที่ 1.64 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 29.64 ล้านบาท

ทั้งนี้ ราคาหุ้น ALLA ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง 3 วันติด นับตั้งแต่ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 1.58 บาท เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.2561 ปรับตัวขึ้น 0.23 บาท หรือคิดเป็น 14.56% และยังปรับตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 1 เดือน นับตั้งแต่ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 1.80 บาท เมื่อวันที่ 8 พ.ค.2561

ทั้งนี้ นายองอาจ ปัณฑุยากร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ALLA เปิดเผยว่า บริษัทกำลังมองการขยายธุรกิจอื่น จากธุรกิจหลักที่เป็นผู้ผลิต จำหน่าย และติดตั้งอุปกรณ์ขนถ่ายวัสดุที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม

โดยจะเป็นธุรกิจที่เข้ามาต่อยอดในส่วนธุรกิจบริการหลังการขาย ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ธุรกิจพลังงานทดแทน ประเภทพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในไตรมาส 3/61 ซึ่งจะเป็นรายได้ที่มั่นคงช่วยลดความเสี่ยงในธุรกิจผลิต จำหน่ายและติดตั้งเครนและรอกไฟฟ้า ที่มีข้อจำกัดเรื่องรับรู้รายได้ที่มีระยะเวลานาน 6 เดือน หรือ 1 ปี

ทั้งนี้ในเบื้องต้นบริษัทได้ดำเนินการผลิตและออกแบบแผงโซลาร์เซลล์ และได้ติดตั้งบนหลังคาคลังสินค้า (Warehouse) แห่งใหม่ของบริษัทที่อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ขนาดพื้นที่ใช้สอยภายในโรงงาน 6 พันตารางเมตร เพื่อนำร่องโมเดลการดำเนินธุรกิจ หากประสบความสำเร็จ บริษัทจะนำไปเสนอกับกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นฐานลูกค้าของบริษัทที่มีอยู่จำนวนมาก โดยจะติดตั้งให้ฟรี บนข้อตกลงต้องทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัทในระยะยาว ส่งผลทำให้บริษัทจะสามารถรับรู้รายได้จากการขายไฟฟ้าเข้ามาเพิ่มเติม

ขณะเดียวกันบริษัทตั้งเป้าหมายเป็นบริษัทที่มีความหลากหลายทางธุรกิจ ในธุรกิจที่มีความเกี่ยวเนื่องกัน และตั้งเป้าเป็นบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล จากการสร้างแบรนด์ของ ALLA ให้เป็นแบรนด์ระดับอินเตอร์เนชั่นแนล โดยมีแผนมุ่งขยายธุรกิจหลัก หรือ ธุรกิจผลิต จำหน่ายและติดตั้งเครนและรอกไฟฟ้า ออกไปสู่ต่างประเทศ โดยจะเริ่มจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อน

นอกจากนี้บริษัทมีแผนจะเข้าไปจัดตั้งสำนักงานขายในประเทศอินโดนีเซียเป็นที่แรก คาดว่าจะดำเนินการได้ภายในเดือนก.ค.นี้ ซึ่งจะใช้เงินลงทุนไม่เกิน 10 ล้านบาท และจะสามารถรับรู้รายได้เข้ามาในช่วงต้นปี 62 เป็นต้นไป หากประสบความสำเร็จก็จะพิจารณาก่อสร้างโรงงานผลิตที่ประเทศดังกล่าว อีกทั้งก็จะขยายการลงทุนไปยังประเทศอื่น ๆ เพิ่มเติมอีก เช่น ฟิลิปปินส์, เมียนมา และเวียดนาม เป็นต้น

โดยปัจจุบันบริษัทดำเนินธุรกิจใน 4 กลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจเป็นผู้นำเข้า ผลิต จำหน่ายและติดตั้งรอกไฟฟ้า และเครน จาก STAHL Crane Systems ประเทศเยอรมนี เพียงรายเดียวในประเทศไทย, ธุรกิจระบบขนถ่ายสินค้า (Loading Dock System) สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศไทย, ธุรกิจระบบคลังสินค้า (Warehouse System Providers) และธุรกิจบริการหลังการขาย

สำหรับกลยุทธ์การดำเนินงานของธุรกิจผลิต จำหน่ายและติดตั้งเครนและรอกไฟฟ้าในปีนี้ บริษัทยังคงเข้าประมูลรับงานโครงการผลิตและติดตั้งเครนและรอกไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง หลังจากเมื่อต้นปีบริษัทได้รับงานก่อสร้างเครนของโรงไฟฟ้าบางปะกง และโรงไฟฟ้าเบิกไพร มูลค่ารวมราว 70-80 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถทยอยรับรู้รายได้ไปจนถึงปี 62

ขณะที่ปัจจุบันก็อยู่ระหว่างประมูลเข้ารับงานผลิตเครนในโครงการโรงไฟฟ้า และอุตสาหกรรมยานยนต์ มูลค่ารวมประมาณ 2.8 พันล้านบาท คาดว่าจะทยอยทราบผลอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม นอกจากการเข้าไปรับงานโครงการโรงไฟฟ้า และอุตสาหกรรมยานยนต์แล้ว บริษัทยังมองโอกาสขยายเข้าไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ๆ อีก เช่น อุตสาหกรรมน้ำตาล, คอนกรีต และวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวถือว่ายังมีความต้องการใช้เครนและรอกไฟฟ้าอีกมาก

ขณะเดียวกันยังมองโอกาสในการเข้าไปจำหน่ายเครน รอกไฟฟ้า และประตูอุตสาหกรรม ให้กับ Supply Chain ที่จะเข้าไปลงทุนในโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยจะมุ่งเน้นกลุ่มอุตสาหกรรมการบิน หรือโรงซ่อมเครื่องบินแอร์บัส, อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร, อุตสาหกรรมปิโตรเคมี Oil & Gas เป็นต้น รวมถึงจะต่อยอดไปยังธุรกิจคลังสินค้าด้วย

ส่วนธุรกิจระบบขนถ่ายสินค้า (Loading Dock System) ในปีนี้ยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการดำเนินธุรกิจแบบ One Stop Service ที่มีทั้งการขนถ่ายสินค้าและการจัดเก็บสินค้าโดยมองภาพอุตสาหกรรมดังกล่าวยังมีความต้องการที่ดีอยู่ จากการสนับสนุนของภาครัฐในด้านของโลจิสติกส์ นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการย้ายคลังสินค้าที่จ.ฉะเชิงเทรา มายังคลังสินค้าแห่งใหม่ (Warehouse) ที่อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบได้ในปลายเดือนก.ค.นี้ น่าจะส่งผลทำให้บริษัทมีพื้นที่รองรับการจัดเก็บสินค้าได้เพิ่มมากขึ้น

ด้านธุรกิจบริการหลังการขาย ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 20% โดยได้ให้บริการหลังการขายทั้งในธุรกิจผลิต จำหน่ายและติดตั้งเครน และรอกไฟฟ้า และธุรกิจระบบขนถ่ายสินค้า ซึ่งในอนาคตก็มีแนวคิดในการขยายไปสู่ในเรื่องของการจัดเก็บคลังแบบอัตโนมัติด้วย เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจของบริษัท

ทั้งนี้บริษัทยังคงเป้าหมายรายได้ปีนี้เติบโต 10% จากปีก่อน โดยมีรายได้มาจากธุรกิจหลักอย่างธุรกิจผลิต จำหน่าย และติดตั้งเครนและรอกไฟฟ้า และธุรกิจระบบขนถ่ายสินค้า ส่วนธุรกิจใหม่ๆ อย่างธุรกิจคลังสินค้า และธุรกิจพลังงานทดแทน ในปีนี้ยังอยู่ระหว่างเริ่มดำเนินการ ก็น่าจะเห็นความชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรมได้ในปี 62 โดยคาดหวังที่จะสัดส่วนรายได้ประมาณ 40% ของรายได้รวม

โดยปัจจุบันบริษัทมีงานในมือ (Backlog) ณ สิ้นไตรมาส 1/61 อยู่ที่ 453 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/60 ที่อยู่ที่ 277 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถทยอยรับรู้รายได้ในปีนี้บางส่วนประมาณ 70-80%

ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/61 น่าจะเติบโตดีกว่าไตรมาส 1/61 จากการรับรู้รายได้งานในมืออย่างต่อเนื่อง แต่คาดว่าน่าจะใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเป็นไปตามงานที่ส่งมอบให้กับลูกค้า

พร้อมกันนี้บริษัทจะยังรักษาระดับอัตรากำไรขั้นต้นปีนี้ให้อยู่ที่ 30% จากปีก่อนอยู่ที่ 30.35% และอัตรากำไรสุทธิให้ใกล้เคียงกับระดับ 9.27% ในปีก่อน แม้ว่ายังมีการแข่งขันที่สูงอยู่ และราคาเหล็กปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงลงทุนบุคลากรในการดำเนินธุรกิจคลังสินค้า แต่ก็เชื่อว่ายังสามารถควบคุมบริหารจัดการต้นทุนให้อยู่ในระดับที่ดีได้

Back to top button