BEM ควักเงิน 32 ลบ. ว่าจ้าง CK ซ่อมแซมโครงสร้างทางพิเศษศรีรัช รอบ 4 ระยะสัญญา 12 เดือน
BEM ควักเงิน 32 ลบ. ว่าจ้าง CK ซ่อมแซมโครงสร้างทางพิเศษศรีรัช รอบ 4 ระยะสัญญา 12 เดือน พร้อมอนุมัติเปลี่ยนแปลงคำสั่งว่าจ้าง CK เพื่อเร่งเปิดเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายให้เร็วกว่ากำหนด
นางพเยาว์ มริตตนะพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท มีมติอนุมัติให้บริษัทเข้าทำสัญญาว่าจ้าง บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK เพื่อดำเนินการซ่อมแซมโครงสร้างทางพิเศษศรีรัช รอบที่ 4 ระยะที่ 2 ในทางพิเศษส่วนซี (ประชาชื่น-แจ้งวัฒนะ) และบางส่วนในส่วนบี (อุรุพงษ์-พญาไท) เป็นจำนวนเงิน 31,920,642 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
โดยบริษัทจะชำระเป็นเช็คตามงวดงาน ซึ่งใช้เวลาดำเนินการ 12 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือน ก.ย.61 แล้วเสร็จในเดือน ส.ค. 62 ขณะที่ราคาดังกล่าวยังคงใช้ราคาต่อหน่วยของงานตามสัญญาจ้างเดิมในปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ อนุมัติให้บริษัทฯ ออกคำสั่งเปลี่ยนแปลงว่าจ้าง บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK เพื่อเร่งรัดการเปิดให้บริการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายให้เร็วขึ้นกว่ากำหนด และติดตั้งระบบโครงข่ายโทรคมนาคมสำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน รวมเป็นเงิน 898,565,440.18 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ทั้งนี้ บริษัทจะออกคำสั่งเปลี่ยนแปลงงานให้ CK ภายในเดือน มิ.ย. 61
ทั้งนี้ คำสั่งเปลี่ยนแปลงเพื่อเร่งรัดการเปิดให้บริการเดินรถให้เร็วขึ้นกว่ากำหนด โดยขอบเขตงานที่เพิ่มอัตรากำลังคน อัตราเครื่องจักร และเวลาการทำงาน ทั้งในขั้นตอนการผลิต ติดตั้ง และทดสอบ เพื่อลดระยะเวลาในการผลิต และการนำอุปกรณ์เข้าทำการติดตั้งและทดสอบ และปรับขั้นตอนการทดสอบรถไฟฟ้า
จากเดิมที่ทดสอบอุปกรณ์บางส่วนภายในโรงงานประกอบที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย แล้วจึงทำการส่งมายังประเทศไทย เพื่อทำการทดสอบระบบการเคลื่อนที่ของขบวนรถไฟฟ้า โดยใช้รางทดสอบ(Test Track) ภายในศูนย์ซ่อมบำรุง รวมถึงการทดสอบร่วมกับอุปกรณ์งานระบบที่ได้ทำการติดตั้งที่ทางวิ่ง (Track)
โดยเปลี่ยนแปลงเป็น การส่งขบวนรถไฟฟ้าขบวนแรกจากโรงงานประกอบที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ไปทำการวิ่งทดสอบในศูนย์ทดสอบที่ประเทศเยอรมนี เพื่อให้มั่นใจว่าระบบต่างๆ ของขบวนรถไฟฟ้าสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างถูกต้องซึ่งจะช่วยลดเวลาที่ต้องใช้ในการทดสอบหลังจากส่งมาถึงประเทศไทย
นอกจากนี้ยังเร่งรัดการฝึกอบรมการใช้งานอุปกรณ์งานระบบให้กับพนักงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้พนักงานเกิดความคุ้นเคย สามารถใช้งานอุปกรณ์งานระบบได้อย่างรวดเร็ว คล่องตัว และสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้งานได้อย่างถูกต้องและรวดเร็วต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อีกทั้งระยะเวลาดำเนินงานก็เร่งรัดการเปิดให้บริการเดินรถในช่วงสถานีหัวลำโพง ถึง สถานีหลักสองให้เร็วขึ้น เป็นวันที่ 14 ส.ค. 62 จากแผนเดิมกำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 30 เดือน นับตั้งแต่วันที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แจ้งให้เริ่มงาน คือภายในเดือน ก.ย.62
รวมถึงเร่งรัดการเปิดให้บริการเดินรถในช่วงสถานีเตาปูน ถึงสถานีสิรินธร ให้เร็วเป็นวันที่ 25 ธ.ค.62 จากแผนเดิมกำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 36 เดือนนับตั้งแต่วันที่ รฟม.แจ้งให้เริ่มงานคือภายในเดือนมี.ค.63 รวมทั้งเร่งรัดการเปิดให้บริการเดินรถในช่วงสถานีสิรินธร ถึง สถานีท่าพระ ให้เร็วเป็นวันที่ 2 มี.ค.63 จากแผนเดิมกำหนดให้แล้วเสร็จ ภายใน 36 เดือน นับตั้งแต่วันที่ รฟม. แจ้งให้เริ่มงานคือ ภายในเดือนมี.ค.63
ขณะเดียวกัน มีคำสั่งเปลี่ยนแปลงงานเพื่อติดตั้งระบบโครงข่ายโทรคมนาคมภายในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย จำนวน 4 สถานี โดยขอบเขตงาน ทำการออกแบบ จัดหา ติดตั้ง และทดสอบระบบโครงข่ายโทรคมนาคม ติดตั้งชุดอุปกรณ์รวมสัญญาณ (Point of Interface: POI) ภายในสถานี ติดตั้งเสากระจายสัญญาณและสายนำสัญญาณภายในบริเวณพื้นที่ใต้ดินของสถานี
โดยมีขอบเขตงานจากบริเวณส่วนปลายของสถานีหัวลำโพงถึงพื้นที่เปลี่ยนระดับจากใต้ดินขึ้นสู่ระดับพื้นผิว ซึ่งจะครอบคลุมพื้นที่สถานีวัดมังกรฯ สถานีสามยอด สถานีสนามไชย สถานีอิสรภาพ และปล่องระบายอากาศของแต่ละพื้นที่ดังกล่าว รวมงานติดตั้งระบบไฟฟ้าสำหรับอุปกรณ์ระบบโครงข่ายโทรคมนาคมเพื่อรองรับความต้องการของผู้ให้บริการระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ และงานติดตั้งอุปกรณ์จับยึดโครงข่ายโทรคมนาคมภายในอุโมงค์ งานติดตั้งระบบกระจายไฟฟ้าให้กับอุปกรณ์ และการปรับปรุงระบบสนับสนุนต่างๆภายในสถานี
ทั้งนี้ บริษัทเห็นควรให้ ช.การช่าง เป็นผู้ติดตั้งระบบโครงข่ายโทรคมนาคมภายในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายจำนวน 4 สถานีดังกล่าว ในวงเงินไม่เกิน 248,565,440.18 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยเป็นงานเพิ่มเติมของสัญญาว่าจ้าง ช.การช่าง เป็นผู้บริหารโครงการ จัดหา ติดตั้ง และทดสอบอุปกรณ์งานระบบโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย เพื่อให้การบริการสัญญาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถทำให้การวางระบบโครงข่ายโทรคมนาคมภายในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายแล้วเสร็จพร้อมการเปิดให้บริการเดินรถ