DTAC วิ่งแรง 7% รับโบรกฯเพิ่มคำแนะนำเป็น “ซื้อ” ลุ้นกสทช.คลอดแผนเยียวยาคลื่น 850-1800MHz

DTAC วิ่งแรง 7% รับโบรกฯเพิ่มคำแนะนำเป็น "ซื้อ" ลุ้นกสทช.คลอดแผนเยียวยาคลื่น 850-1800MHz โดยล่าสุด ณ เวลา 10.23 น. อยู่ที่ระดับ 39 บาท บวก 2.50 บาท หรือ 6.85% สูงสุดที่ระดับ 39 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 37.50 บาท มูลค่าซื้อขาย 140.30 ล้านบาท


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาหุ้น บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ณ เวลา 10.23 น. อยู่ที่ระดับ 39 บาท บวก 2.50 บาท หรือ 6.85% สูงสุดที่ระดับ 39 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 37.50 บาท มูลค่าซื้อขาย 140.30 ล้านบาท

โดยราคาหุ้น DTAC ปรับตัวขึ้นแรงวันนี้ หลังร่วงหนัก 2 วันติด นับตั้งแต่ราคาหุ้นปิดที่ระดับ 43.25 บาท เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 61

ด้าน บล.กสิกรไทย ระบุในบทวิเคราะห์ ปรับเพิ่มคำแนะนำเป็น “ซื้อ” หุ้น DTAC จากเดิม “ถือ” ด้วยราคาเป้าหมายเดิมที่ 43.53 บาทต่อหุ้น โดยมีมุมมองเชิงบวกมากขึ้นต่อ DTAC เนื่องจาก คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประกาศว่าจะมีการจัดประชุมในวันที่ 25 มิ.ย. 2561 เพื่อพิจารณาการจัดประมูลใบอนุญาตใหม่สำหรับคลื่น 900 MHz

ขณะเดียวกัน คาดว่า DTAC จะให้ความสนใจในการครอบครองใบอนุญาตคลื่น 900 MHz โดยทั้ง 2 ปัจจัยดังกล่าวทำให้สมมติฐาน Scenario 2 กลับมามีน้ำหนักอีกครั้ง

นอกจากนี้ ราคาหุ้นได้ปรับลดลง 26% ในช่วง 6 วันที่ผ่านมา ซึ่งสูงกว่ามูลค่าพื้นฐานกรณีที่แย่ที่สุดของเราที่ 35.10 บาทอยู่เพียง 4% ทั้งนี้ เชื่อว่าการประชุมของ กสทช. และความตั้งใจของ DTAC ที่จะเข้าร่วมประมูลใบอนุญาตคลื่น 900 MHz จะช่วยฟื้นฟูขีดความสามารถในการแข่งขันของ DTAC ขึ้นและจะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อหุ้นได้

ด้านนายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร DTAC กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีการประมูลคลื่นความถี่ที่หลังจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เตรียมจะจัดให้มีขึ้นและการขอเยียวยาว่า ดีแทคยังรอความชัดเจนในเรื่องการขอเยียวยา และกำลังปรึกษาหารือกับ กสทช.ในเรื่องการเปิดประมูลคลื่นความถี่ต่ำ 900MHz และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีการวางแผนจัดการประมูลอย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงสภาพเงื่อนไขการใช้งานคลื่นความถี่ 850 MHz ของดีแทคและสถานการณ์ทางการตลาดในปัจจุบันของดีแทคด้วย

ทั้งนี้ ดีแทคมีสิทธิในการให้บริการแก่ลูกค้าหลังจากสิ้นสุดสัมปทานคลื่น 1800 MHz และ 850 MHz ตามมาตรการเยียวยา จนกว่ากระบวนการจัดสรรคลื่นความถี่จะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ คือ มีผู้ได้รับอนุญาตรายใหม่ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของ กสทช. โดยข้อกำหนดดังกล่าวได้เคยถูกนำมาบังคับใช้ตามที่เคยมีกรณีสิ้นสุดสัมปทานคลื่นความถี่กับผู้ให้บริการอื่นๆ เช่น TRUE และ ADVANC ในปี 56 และ 58 ที่ผ่านมา

“ผมเชื่อมั่นว่าลูกค้าของดีแทคจะต้องได้รับการปกป้องดูแลสิทธิจาก กสทช ในฐานะผู้กำกับดูแลนโยบาย และดีแทคหวังว่าการจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่จะประสบความสำเร็จและเกิดขึ้นโดยเร็ว” นายนอร์ลิ่ง กล่าว

Back to top button