“บีทีเอส”เตรียมย้ายคลื่นความถี่ออกห่างจาก TOT-DTAC ด่วน! แก้ปัญหารถไฟฟ้าถูกสัญญาณรบกวน
กสทช.หารือ "บีทีเอส”-TOT-DTAC เตรียมย้ายคลื่นความถี่ออกห่างจาก 2300MHz ด่วน! แก้ปัญหารถไฟฟ้าถูกสัญญาณรบกวน
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยภายหลังการหารือกับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าบีทีเอส บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ว่า จากการหารือแนวทางแก้ไขปัญหาระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสขัดข้อง ได้ผลสรุปว่าให้บีทีเอสย้ายการใช้งานคลื่นความถี่สื่อสารระบบอาณัติสัญญาณที่ 2480-2495 เมกะเฮิร์ซ (MHz) ซึ่งอยู่ช่วงปลายๆของคลื่นความถี่ย่าน 2400 MHz จากที่บีทีเอสใช้งานอยู่ 2400-2495 MHz ให้ห่างออกไปจากคลื่น 2310-2370 MHz ที่ TOT ให้ DTAC ใช้มีอยู่ 3 slot จะได้ไม่ถูกรบกวนคลื่น ที่บีทีเอสใช้คลื่นไปใช้เป็นระบบวิทยุสื่อสารของระบบอาณัติสัญญาณ
ขณะเดียวกันบีทีเอสจะเร่งเปลี่ยนอุปกรณ์รับสัญญาณวิทยุสื่อสารที่ใช้ ของ MOXA ที่เป็นของบอมบาดิเอร์จากเดิมใช้โมโตโรร่า โดยจะเปลี่ยนให้แล้วเสร็จในเที่ยงคืนของวันศุกร์นี้ (29 มิ.ย.) รวมทั้งให้ติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันการรบกวนคลื่นด้วย
“คลื่นที่ใช้งานกับรถไฟฟ้าคือ คลื่น 2400 MHz ขึ้นไป ส่วนทีโอทีและดีแทคใช้งานในย่าน 2370- 2400 MHz จะเห็นว่ามีระยะห่าง อยู่ 30 MHz ทางเทคนิคเมื่อดูจากระยะห่างไม่น่าจะมีการรบกวนกัน แต่เมื่อเห็นว่าเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการรบกวน กสทช.จึงแนะนำบีทีเอสย้ายให้ย้ายช่องความถี่สื่อสารของระบบอาณัติสัญญาณไปใช้คลื่นความถี่ช่อง 2480 – 2495 MHz โดยระหว่างการย้ายทีโอทีจะปิดการใช้งานคลื่น 2300 MHz ตามแนวรถไฟฟ้าไว้ชั่วคราวจนกว่าบีทีเอสจะเปลี่ยนอุปกรณ์เสร็จ” นายฐากร กล่าว
ทั้งนี้ ในช่วง 2 วันนี้ทางทีโอทีจะให้ปิดการใช้งานสถานีฐานตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าไปก่อนเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบมากนัก
ด้าน นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BTSC กล่าวว่า บีทีเอสจะย้ายช่องความถี่ให้เสร็จภายในกลางดึกวันที่ 29 มิ.ย.หลังจากปิดให้บริการคาดว่าจะใช้งานได้สมบูรณ์ในวันที่ 30 มิ.ย.
“จะย้ายมาใช้คลื่น 2480-2495 MHz การย้ายช่องความถี่ให้ห่าง 15 MHz น่าจะเพียงพอรองรับการให้บริการ เชื่อว่าการเดินรถจะกลับมาตามปกติ ส่วนเรื่องการเยียวยาจะพิจารณากันต่อไป”
นายรังสรรค์ จันทร์นฤกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที กล่าวว่า การปิดการใช้งานคลื่น 2300 MHz ในช่วง 2 วันนี้ก็อาจมีผลกระทบกับผู้ใช้คลื่นดังกล่าว แต่ไม่ได้มีผลกระทบรุนแรงมากนัก
อนึ่งก่อนหน้านี้ ระบบอาณัติสัญญานเดินรถไฟฟ้าบีทีเอสเกิดเหตุขัดข้องนับตั้งแต่วันที่ 25 มิ.ย.2561 และในวันที่ 26 มิ.ย.2561 ส่งผลให้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างแพร่หลาย ว่าเกิดจากการที่คลื่น 2300MHz ของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ไปรบกวนระบบอาณัติสัญญาณรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งภายหลังจากการทดสอบ ปรากฏว่าคลื่นดังกล่าวไม่ได้เป็นสาเหตุของการขัดข้องในการให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส
ขณะที่ นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการกสทช. ระบุว่า สาเหตุระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสขัดข้อง เนื่องจากมีสัญญาณไวไฟ (wifi) เข้าไปรบกวน โดยทาง กสทช.จะต้องทำการตรวจสอบว่าเป็นไวไฟจากแหล่งไหนอีกครั้ง ทั้งนี้เนื่องจากไวไฟ ย่าน 2400MHz เป็นสัญญานที่คนทั่วไปสามารถใช้ได้ เนื่องจากคลื่นดังกล่าวเป็นคลื่นที่ กสทช.อนุญาตและจัดสรรไว้สำหรับให้ใช้แบบสาธารณะได้อยู่แล้ว จึงมีการใช้อย่างแพร่หลาย จึงมีความเป็นไปได้ว่าระหว่างที่รถไฟฟ้าบีทีเอสวิ่งผ่านจุดที่โดนกวน ทำให้ระบบการควบคุมและสั่งการไม่เสถียร
ทั้งนี้ เนื่องจากบีทีเอสใช้คลื่น 2400MHz ควบคุมระบบเดินรถ และสั่งการระหว่างกัน โดยที่บีทีเอสไม่ได้ทำการสร้างระบบป้องกันการโดนรบกวน ซึ่งคลื่นดังกล่าวจะไม่ได้รับการคุ้มครองการใช้จาก กสทช. โดยก่อนหน้านี้ทางบีทีเอสเคยสอบถาม กสทช. และ กสทช. มีหนังสือตอบกลับไปให้รับทราบแล้ว เพราะก่อนหน้านี้ ซึ่งทางบีทีเอสรู้ดีว่าความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น กสทช.เตือนไปก่อนหน้านี้ หลังจากบีทีเอสมีหนังสือแจ้งขอใช้งานอุปกรณ์โทรคมนาคม