สรุปภาวะตลาดต่างประเทศวานนี้
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 29 มิ.ย. 61
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (28 มิ.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการดีดตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มธนาคาร อย่างไรก็ตาม หุ้นกลุ่มธุรกิจดูแลสุขภาพร่วงลงอย่างหนัก หลังจากมีรายงานว่า อเมซอนได้เข้าซื้อกิจการพิลแพค ซึ่งเป็นบริษัทขายยาออนไลน์ ขณะเดียวกันนักลงทุนยังคงจับตานโยบายการค้าของสหรัฐอย่างใกล้ชิด หลังจากที่ปรึกษาทำเนียบขาวได้ออกมาส่งสัญญาณว่า สหรัฐยังคงเดินหน้าปกป้องอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของประเทศ
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 24,216.05 จุด เพิ่มขึ้น 98.46 จุด หรือ +0.41% ขณะที่ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 2,716.31 จุด เพิ่มขึ้น 16.68 จุด หรือ +0.62% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,503.68 จุด เพิ่มขึ้น 58.60 จุด หรือ +0.79%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (28 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และบรรดาประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนซึ่งมีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับสองของโลก
ดัชนี Stoxx Europe 600 ลดลง 0.8% ปิดที่ 376.87 จุด
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 12,177.23 จุด ลดลง 171.38 จุด หรือ -1.39% ขณะที่ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,275.64 จุด ลดลง 51.56 จุด หรือ -0.97% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,615.63 จุด ลดลง 6.06 จุด หรือ-0.08%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลบเมื่อคืนนี้ (28 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของสหรัฐ ขณะเดียวกันนักลงทุนยังคงกังวลเกี่ยวกับการไร้ความคืบหน้าในการเจรจาระหว่างอังกฤษและสหภาพยุโรป (EU) เกี่ยวกับการแยกตัวของอังกฤษจาก EU (Brexit)
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,615.63 จุด ลดลง 6.06 จุด หรือ -0.08%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (28 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงขานรับสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐที่ปรับตัวลดลงมากกว่าคาดการณ์ในสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ได้รับปัจจัยหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า ตลาดน้ำมันอาจประสบภาวะตึงตัว หากสหรัฐประกาศคว่ำบาตรอิหร่าน
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 69 เซนต์ หรือเกือบ 1% ปิดที่ 73.45 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 26 พ.ย. 2557
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 23 เซนต์ หรือ 0.3% ปิดที่ 77.85 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค.ปีนี้
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบติดต่อกันเป็นวันที่ 4 เมื่อคืนนี้ (28 มิ.ย.) เนื่องจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ยังคงเป็นปัจจัยที่สร้างแรงกดดันต่อภาวะการซื้อขายในตลาดทองคำ
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. ลดลง 5.1 ดอลลาร์ หรือ 0.41% ปิดที่ 1,251 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 19.6 เซนต์ หรือ 1.61% ปิดที่ 16.151 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 6.8 ดอลลาร์ หรือ 0.79% ปิดที่ 855.2 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. ร่วงลง 13.00 ดอลลาร์ หรือ 1.4% ปิดที่ 930.90 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (28 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงมีมุมมองเป็นบวกต่อภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐ แม้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐได้ปรับลดการประมาณการตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 1 ก็ตาม ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงเนื่องจากกังวลเกี่ยวกับการไร้ความคืบหน้าในการเจรจาระหว่างอังกฤษและสหภาพยุโรป (EU) ในประเด็นการแยกตัวของอังกฤษจาก EU (Brexit)
ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 110.62 เยน จากระดับ 110.20 เยน ขณะที่ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิสที่ระดับ 0.9986 ฟรังก์ จากระดับ 0.9969 ฟรังก์
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1555 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1557 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.3071 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3129 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7347 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7353 ดอลลาร์สหรัฐ