TOP วอลุ่มแน่น-บวกคึก 8% รับค่าการกลั่นฟื้นตัวเหนือ 5 เหรียญ-แผนธุรกิจใหม่
TOP วอลุ่มแน่น-บวกคึก 8% รับค่าการกลั่นฟื้นตัวเหนือ 5 เหรียญ-แผนธุรกิจใหม่ โบรกฯแนะซื้อหุ้นถูก-ยีลด์สูง 5% โดยราคาหุ้นปิดวันนี้(10ก.ค.)ที่ระดับ 76.50 บาท บวก 6.00 บาท หรือ 8.51% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 1.01 พันล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP ปิดวันนี้(10ก.ค.)ที่ระดับ 76.50 บาท บวก 6.00 บาท หรือ 8.51% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 1.01 พันล้านบาท ราคาหุ้นฟื้นตัวรอบใหม่หลังร่วงหนักมานาน 6 เดือน และคาดนักลงทุนเข้าซื้อรอบใหม่หลังค่าการกลั่นฟื้นตัวเหนือระดับ 5 เหรียญ และแผนธุรกิจเข้าลงทุนโครงการพลังงานสะอาด Clean Fuel Project (CFP)ที่ได้ประกาศไปก่อนหน้า
บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ระบุในบทวิเคราะห์ว่า กลุ่มโรงกลั่นเกิด Technical rebound นำโดย TOP,SPRC, BCP ภายหลังค่าการกลั่นปรับขึ้นมายืนเหนือระดับ 5.0 เหรียญอีกครั้ง
บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ค่าการกลั่นสิงคโปร์พุ่งขึ้นแรง +36.1 % W-W(เทียบสัปดาห์ก่อนหน้า) มาอยู่ที่ US$5.5/บาร์เรล (เป็นบวกต่อโรงกลั่น TOP, SPRC, BCP, IRPC, PTTGC, ESSO)
บล.ฟินันเซีย ไซรัส แนะนำ “ซื้อ” TOP ที่ราคาเหมาะสม 88 บาท บนสมมติฐาน Market GRM ปีนี้ที่ US$5/บาร์เรล ขณะที่ค่าการกลั่นในครึ่งแรกปี 2561 เฉลี่ยอยู่ที่ US$6.5/บาร์เรล แม้ว่าปัจจุบันจะขยับลงเหลือ US$4/บาร์เรล (ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในระยะยาวถึง 40%) แต่เพราะเป็นช่วงเวลาที่โรงกลั่นจะเร่งกลั่นน้ำมันเพื่อเพิ่มปริมาณสินค้าคงคลังก่อนเข้าสู่ช่วงฤดูมรสุมและหยุดซ่อมบำรุงในช่วงปลายไตรมาส 3/61 ซึ่งจะทำให้ค่าการกลั่นกลับมาสูงขึ้นอีกครั้งตามฤดูกาล ประมาณการ EBITDA ในครึ่งแรกปี 61 ที่คาด 18,000 ล้านบาท ถือว่า Conservative เพราะคิดเป็น 63% ของประมาณการทั้งปี
ราคาหุ้นที่ปรับลงถึง 29% YTD เหลือ 73.75 บาทสะท้อน Market GRM เพียงแค่ US$4.5/บาร์เรล ซึ่งจะเกิดขึ้นในเฉพาะช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ และเป็นการปรับลงมากกว่า SETENERG ที่ปรับลงเพียง 3% YTD แม้ว่าเราจะไม่ได้ชอบ story ของธุรกิจโรงกลั่นมากนักแต่ราคาหุ้นปัจจุบันมี Valuations ถูกเกินไป โดยซื้อขายที่ PE เพียง 9.3 เท่า PBV 1.1 เท่า และคาดการณ์ Dividend yield 5%
บล.เคจีไอ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ตลาดโรงกลั่น GRM ในตลาดสิงคโปร์พุ่งขึ้นถึง 15% WoW(เทียบสัปดาห์ก่อนหน้า) เป็น US$4.7/bbl เนื่องจาก spread ของน้ำมันเบนซินและน้ำมันเครื่องบินเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำอยู่ (ต่ำกว่า US$5/bbl)
โดย spread ของน้ำมันเบนซินฟื้นตัวขึ้น 6% WoW(เทียบสัปดาห์ก่อนหน้า) เป็น US$8.7/bbl เนื่องจากอุปสงค์น้ำมันเบนซินแข็งแกร่งมากขึ้น ส่งผลให้สต็อกน้ำมันเบนซินลดลงทั้งในตลาดสหรัฐและสิงคโปร์ ในขณะที่ spread น้ำมันเครื่องบินก็เพิ่มขึ้น 9% WoW(เทียบสัปดาห์ก่อนหน้า) เป็น US$13.6/bbl แต่อย่างไรก็ตาม spread ของน้ำมันดีเซลยังลดลงเล็กน้อย 2% WoW(เทียบสัปดาห์ก่อนหน้า) เหลือ US$11.7/bbl
เนื่องจากอุปสงค์ลดลงในช่วงฤดูมรสุม ในขณะเดียวกันเราเชื่อว่าค่าการกลั่นในปีนี้น่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในเดือนมิถุนายน และจะค่อยๆ ขยับสูงขึ้นเนื่องจากคาดว่าโรงกลั่นหลายแห่งที่อยู่ใน quartile สุดท้าย (ไม่มีประสิทธิภาพ) จะเริ่มลดอัตราการกลั่นลง
บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า TOP ได้จัดงานประชุมนักวิเคราะห์เกี่ยวกับแผนโครงการพลังงานสะอาด Clean Fuel Project (CFP)ที่ได้ประกาศไปก่อนหน้า เพิ่มกำลังการผลิตของโรงกลั่นอีก 125 KBD จากเดิม 275 KBD ทำให้กำลังการผลิตรวมของโรงกลั่นจะเป็น 400 KBD จะส่งผลดีในระยะยาว สามารถนำน้ำมันดิบหลากหลายชนิดที่มีคุณสมบัติหนักราคาถูกเข้ามากลั่น และไม่จำเป็นต้องใช้น้ำมันเบาที่มีต้นทุนสูง CFP จะเพิ่มผลผลิตน้ำมัน middle distillate และลดน้ำมันเตาทีเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าน้อย โดยจะขออนุญาตจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นก่อนในวันที่ 27 สค.ใช้เวลาก่อสร้างอีก 4 ปี เริ่มผลิตปี 2023 ยังไม่รวมอยู่ในประมาณการของเราในเวลานี้ คาดว่า TOP จะมีเงินลงทุนเพียงพอโดยไม่ต้องเพิ่มทุน ประเมินมูลค่าด้วย EV/EBITDA ปี 2018 ที่ 6.5x ได้ราคาเหมาะสมที่ 98 บาท แนะนำ “ซื้อ”
บล.ทรีนีตี้ ระบุว่า แนะนำ “ซื้อ” หุ้น TOP โดยกำหนดราคาเป้าหมาย 101 บาทต่อหุ้น (ยังไม่นับรวมโครงการ CFP) โดยจากกรณีที่คณะกรรมการ TOP อนุมัติลงทุนในโครงการ CFP มูลค่า 160,000 ล้านบาท ทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 4 แสนบาร์เรลต่อวัน จากเดิมอยู่ที่ 275,000 บาร์เรลต่อวัน และทำให้มีอัพไซด์ส่วนเพิ่มประมาณ 60-90 บาทต่อหุ้น
โดยการลงทุนในโครงการ CFP จะช่วยทำให้ราคาหุ้นของ TOP มีอัพไซด์เพิ่มขึ้นอีก 60-90 บาทต่อหุ้น จากการที่จะทำให้บริษัทสามารถใช้ Crude ได้หลากหลายมากขึ้น ทำให้มีความยืดหยุ่น และต้นทุนลดลง ซึ่งส่วนต่างราคา Light Crude กับ Heavy Crude จะอยู่ที่ระดับ 8-10 เหรียญสหรัฐต่อตัน
นอกจากนี้ บริษัทจะสามารถเพิ่มสัดส่วนการใช้ Heavy Crude 40-45% ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนได้ประมาณ 13,000-15,000 ล้านบาท ขณะเดียวกัน จะปรับปรุงผลิตภัณฑ์จากน้ำมันเตาให้เป็นน้ำมัน Jet และดีเซล ซึ่งส่วนต่างระหว่าง Jet กับน้ำมันเตา จะอยู่ที่ประมาณ 15-20 เหรียญสหรัฐต่อตัน โดยจะทำให้สามารถคิดเป็นกำไรส่วนเพิ่มจำนวน 4,500-4,600 ล้านบาท
ทั้งนี้ เมื่อประเมินผลประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นจะแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ
1. ส่วน CDU ที่เพิ่มขึ้น 125,000 บาร์เรลต่อวัน จะทำให้มีอัพไซด์ต่อหุ้นเพิ่มประมาณ 20-30 บาทต่อหุ้น โดยอิง EBITDA Margin ประมาณ 7-9 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และ
2. การเกิดประโยชน์ร่วมกันจากการใช้ Crude ที่หลากหลายมากขึ้น และการปรับปรุงการผลิตน้ำมันเตา ซึ่งประเมินส่วนเพิ่มดังกล่าวทุก 1 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลต่ออัพไซด์ประมาณ 44 บาท