CHAYO ส่งบ.ย่อยลุยปล่อยสินเชื่อ Q4/61 หวังขยายฐานลูกค้า-ผลักดันผลงานโตเข้าเป้า 10%
CHAYO ส่งบ.ย่อยลุยปล่อยสินเชื่อ Q4/61 หวังขยายฐานลูกค้า-ผลักดันผลงานโตเข้าเป้า 10% แย้มเจรจาสถาบันการเงิน 7 แห่ง หวังซื้อหนี้หรือสินทรัพย์ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหาร มูลค่าราว 10,000 ล้านบาท คาดชัดเจนไตรมาส 4/61
บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่าบริษัทย่อยแห่งใหม่ บริษัท ชโย เงินกู้ ดำเนินธุรกิจให้บริการปล่อยสินเชื่อบุคคล สินเชื่อนาโน และพิโก ไฟแนนซ์ จะเริ่มให้บริการได้ในช่วงไตรมาส 4/61 ซึ่งเป็นการเสริมบริการใหม่ให้ลูกค้าเดิมและขยายฐานลูกค้าใหม่ เพื่อให้บริการครบวงจรทางด้านการเงิน
ด้านนายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CHAYO เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคล ผ่าน บริษัท ชโย เงินกู้ จำกัด และการปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ ผ่านบริษัท ชโย พร็อพเพอร์ตี้ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด ในปีนี้รวมกันประมาณ 100 ล้านบาท และตั้งเป้าใน 2 ปีข้างหน้าหรือปี 63 จะปล่อยสินเชื่อได้ถึง 500 ล้านบาท
สำหรับการปล่อยสินเชื่อของทั้ง 2 บริษัทจะเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าที่ต้องการเงินทุน และเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันทางการเงินได้ไม่มาก โดยเฉพาะลูกค้าที่ต้องการเงินทุนและมีหลักประกัน รวมถึงลูกค้าที่ต้องการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และขายให้กับบริษัทหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยังมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ บริษัทเชื่อว่าการรุกธุรกิจสินเชื่อดังกล่าวจะสามารถผลักดันผลประกอบการในปีนี้ให้เติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 10% ตามเป้าหมาย เนื่องจากเห็นศักยภาพการเติบโตของตลาดสินเชื่อในประเทศในปีนี้ หลังจากเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งหลายหน่วยงานทางเศรษฐกิจได้เพิ่มคาดการณ์อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในปี 61 ไม่น่าจะต่ำกว่า 4% ทำให้ประเมินว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคน่าจะทยอยกลับมาอย่างต่อเนื่อง และน่าจะมีความต้องการใช้เงินเพื่อจับจ่ายใช้สอยอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
“กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของธุรกิจปล่อยสินเชื่อคือพนักงานประจำ ทั้งบริษัทเอกชนและรัฐบาล ลูกจ้างประจำ หรือลูกค้าเดิมที่มีธุรกรรมกับบริษัทเนื่องจากมองความต้องการและศักยภาพของลูกค้า ขณะที่จุดแข็งของบริษัทคือความชำนาญในการเก็บและปล่อยสินเชื่อ จึงมั่นใจว่าธุรกิจปล่อยสินเชื่อของบริษัทฯ ได้รับการตอบรับที่ดี” นายสุขสันต์ กล่าว
สำหรับในปี 63 บริษัทคาดว่าสัดส่วนรายได้จะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมค่อนข้างมาก โดยปีนี้คาดว่าสัดส่วนรายได้จากการซื้อหนี้เข้ามาบริหารจะอยู่ที่ 78-80% รับบริหารหนี้เสียประมาณ 17-18% ส่วนที่เหลือมาจากธุรกิจคอลเซ็นเตอร์ประมาณ 2%
นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับสถาบันทางการเงิน 7 แห่ง เพื่อซื้อหนี้หรือสินทรัพย์ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหาร มูลค่าราว 10,000 ล้านบาท คาดว่าจะทยอยเห็นความชัดเจนตั้งแต่ไตรมาส 4/61 ซึ่งบริษัทมั่นใจว่าจะเข้าซื้อหนี้ในปีนี้ได้ตามเป้าหมายที่ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาทแน่นอน โดยปัจจุบันสามารถซื้อหนี้มาได้แล้ว 8,600 ล้านบาท
สำหรับมูลหนี้คงค้างปัจจุบันอยู่ที่ 37,000 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน 35,000 ล้านบาท และหนี้ที่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ขณะที่บริษัทอยู่ระหว่างเตรียมการที่จะขออนุมัติที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อออกหุ้นกู้ รองรับการซื้อหนี้อย่างต่อเนื่อง แต่มูลค่านั้นยังต้องประเมินอีกครั้งว่ามีความจำเป็นต้องใช้เงินมากน้อยเพียงใด