DTACกัดฟันประมูล900MHz ครวญกสทช.ผลักภาระทำต้นทุนผู้ชนะพุ่ง ร้องเยียวยา850MHz

DTAC หวั่นต้นทุนคลื่น 900MHz สูงปรี๊ด เหตุกสทช.ผลักภาระป้องกันความเสี่ยงคลื่นให้ผู้ชนะ ร้องขอความชัดเจนเยียวยาคลื่น 850MHz


นายราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC เปิดเผยว่า DTAC เข้าร่วมการชี้แจงการประมูล (Information Session) โดยมีความกังวลต่อข้อกำหนดเงื่อนไขการประมูลใหม่ ในเงื่อนไขที่กำหนดให้ผู้ชนะการประมูลคลื่น 900 MHz จะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการรบกวนกันของคลื่นความถี่และการรบกวนระบบอาณัติสัญญาณของระบบคมนาคมขนส่งทางรางทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว รวมถึงรับผิดชอบแก้ไขให้แก่ผู้รับใบอนุญาตคลื่นความถี่ 850 MHz และ 900 MHz รายอื่นด้วย

ทั้งนี้ DTAC ชี้แจงประเด็นหลัก 2 ข้อที่กำหนดเพิ่มให้ผู้ชนะที่ได้รับใบอนุญาตคลื่น 900 MHz คือ

1. ค่าใช้จ่าย-จำนวนเงินที่ กสทช. ลดราคาขั้นต่ำของการประมูลให้จำนวน 2,000 ล้านบาท เชื่อว่าไม่ครอบคลุมงบประมาณในการดำเนินการสร้างระบบป้องกันคลื่นสัญญาณรบกวน (Filter) ให้กับผู้ที่ให้บริการโทรคมนาคมรายอื่น และระบบคมนาคมขนส่งทางราง แม้ขณะนี้จะยังไม่ได้มีผลวิเคราะห์งบประมาณอย่างแน่นอน DTAC ประเมินว่าค่าใช้จ่ายจะสูงกว่าการลดราคาขั้นต่ำของการประมูลมาก

2. ความเสี่ยงในการดำเนินงาน – นอกจากค่าใช้จ่ายแล้ว ผู้ชนะการประมูลจะต้องรับความเสี่ยงจากการเข้าไปดำเนินการติดตั้งระบบป้องกันคลื่นสัญญาณรบกวน (Filter) ในสถานีฐานของผู้รับใบอนุญาตรายเดิมทั้งหมดที่มีอยู่ซึ่งเป็นเรื่องยากมากในทางปฏิบัติ

นอกจากนี้ กสทช. ยังได้สงวนสิทธิ์ที่จะปรับเปลี่ยนช่วงคลื่นความถี่ในกรณีที่จำเป็น โดยผู้ชนะการประมูลยังจะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการในการป้องกันการรบกวนคลื่นความถี่ ณ สถานีฐานของผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz เพิ่มเติมจากที่ได้ดำเนินการไปแล้วในช่วงคลื่นความถี่เดิม ดังนั้น จึงทำให้มีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนด้านงบประมาณค่าใช้จ่ายและการดำเนินงานเพิ่มขึ้นอีกมาก

นอกจากนั้น ตามที่ DTAC ได้ส่งหนังสือถึง กสทช. เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยระบุว่า การเปลี่ยนเป็นคลื่น 900 MHz เพื่อให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศด้วยสถานีฐานประมาณ 13,000 สถานี จะต้องใช้เวลาในการติดตั้งอุปกรณ์ใหม่ประมาณ 24 เดือน ดังนั้น DTAC จึงขอความชัดเจนในการใช้งานคลื่น 850 MHz เพื่อให้บริการลูกค้าระหว่างการดำเนินการปรับเปลี่ยนดังกล่าว

อีกทั้ง ที่ประชุม กสทช. ยังมีหนังสือถึงเลขาธิการ กสทช.แจ้งความพร้อมจะเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 900MHz

 

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ DTAC เปิดเผยว่า จะเข้าประมูลคลื่น 900MHz โดยมีเงื่อนไขว่า หาก DTAC เข้าร่วมประมูลคลื่น และชนะการประมูล DTAC มีความจำเป็นต้องขอใช้คลื่นทั้งหมด 10 MHz ตามสัมปทานเดิมไปก่อนเป็นเวลาประมาณ 2 ปี ระหว่างที่ยังไม่ได้มีคลื่นย่านนี้ไปใช้ในกิจการรถไฟความเร็วสูงของรัฐบาล เนื่องจากปัจจุบัน DTAC มีจำนวนอุปกรณ์สถานีฐานภายใต้ระบบสัมปทานอยู่ประมาณ 13,000 สถานี ที่จะต้องใช้เวลาในการปรับปรุงการใช้งานให้สอดคล้องกับคลื่นย่านใหม่ด้วย

ทั้งนี้ กสทช. ได้กำหนดวันประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ในวันที่ 18 ส.ค.61 โดยหากมีผู้เข้าร่วมประมูลคลื่นดังกล่าวเพียง 1 ราย กสทช. จะดำเนินการยืดระยะเวลาออกไปอีก 30 วัน นับจากวันประมูล เพื่อขยายโอกาสให้ผู้ประกอบการค่ายมือถือรายอื่นได้เข้าร่วมประมูล และจะเข้าสู่กระบวนการเยียวยาทันที ในกรณีที่ DTAC ต้องเข้าประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz เท่านั้น ซึ่งหาก DTAC ไม่เข้าร่วมประมูลก็จะไม่ได้รับสิทธิในการเยียวยา ซึ่งทาง DTAC จะต้องเร่งดำเนินการย้ายลูกค้าไปยังคลื่นที่มีอยู่ก่อนหมดสัมปทานคลื่น 850 MHz และ 1800 MHz ในวันที่ 15 ก.ย.61

Back to top button