เปิด 10 รายชื่อรับศึกหนัก! ดิ้นหนี“พ.ร.บ.ห้ามขาย-นำเข้าไขมันทรานส์”ก่อนดีเดย์ต้นปีหน้า

เปิด 10 รายชื่อรับศึกหนัก! ดิ้นหนี“พ.ร.บ.ห้ามขาย-นำเข้าไขมันทรานส์”ก่อนดีเดย์ต้นปีหน้า


สืบเนื่องจาก เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศของกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย โดยมีเนื้อหาว่า โดยปรากฏหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนว่า กรดไขมันทรานส์ (Trans Fatty Acids) จากน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partially Hydrogenated Oils) ส่งผลต่อการ เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 6 (8) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนและอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบ เป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย

ข้อ 2 ประกาศฉบับนี้ ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

สำหรับ“ไขมันทรานส์” คือไขมันที่ไม่อิ่มตัวเกิดขึ้นจากการสังเคราะห์ขึ้นผ่านวิธีการแปรรูปโดยกระบวนการเติมไฮโดรเจนในน้ำมันพืช ทำให้น้ำมันซึ่งเป็นของเหลวเกิดการเปลี่ยนแปลงไปอยู่ในรูปของของแข็ง ซึ่งเราเรียกว่ากระบวนการนี้ไฮโดรจีเนชั่น

ส่วนสาเหตุที่ผู้ประกอบการหลายรายเลือกที่จะนำเจ้าไขมันทรานส์นี้มาใช้ ก็เนื่องจากว่าไขมันชนิดนี้เป็นไขมันที่มีลักษณะไม่เป็นไข และสามารถทนกับความร้อนได้สูงมากๆ เลยทีเดียว แถมยังสามารถเก็บไว้นานโดยไม่มีกลิ่นเหม็นหืนใดๆอีกด้วย รวมทั้งให้รสชาติเหมือนกับไขมันที่ได้จากสัตว์ และที่สำคัญที่สุดเลยก็คือทำให้ผู้ประกอบการไม่ต้องลงทุนมากเพราะมีราคาถูก เรียกว่าลงทุนน้อยแต่ได้กำไรเน้นๆ จึงทำให้ผู้ประกอบการต่างๆ เลือกที่จะใช้ไขมันทรานส์นี้ในผลิตภัณฑ์หรืออาหารของตนนั่นเอง

สำหรับใครที่ชื่นชอบการรับประทานอาหารประเภททอดๆ ทั้งหลาย ที่มีกรดไขมันทรานส์มากเกินไปแล้วล่ะก็ จะส่งผลโดยตรงต่อระบบการทำงานของระบบเอนไซม์ในร่างกายของเรา สำหรับโรคหรืออันตรายจากไขมันทรานส์ อาทิ โรคอ้วนลงพุง, เสี่ยงต่อโรคภัยต่างๆ ทั้งโรคหัวใจ, เบาหวาน, ความดันโลหิตสูง ตลอดจนไขมันอุดตันในเส้นเลือดและหลอดเลือด เป็นต้น

ส่วนไขมันทรานส์มีในอาหารประเภทใดบ้าง อาทิ แฮมเบอร์เกอร์,โดนัทม,ขนมขบเคี้ยวต่างๆ,เฟรนซ์ฟรายส์,คุกกี้,เนยขาว,เนยเทียม,ครีมเทียม,เค้ก,แคร็กเกอร์,วิปครีม,นักเก็ต,ไก่ทอด,หมูทอด,อาหารประเภททอดๆ ที่ต้องใช้น้ำมันหรือไขมันทั้งหลาย

ดังนั้นทีมงาน“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์”ได้ตั้งข้อสังเกตว่าประเด็นดังกล่าวอาจส่งต่อกลุ่มธุรกิจในตลาดหุ้นไทย ดังนั้นทางทีมงานจึงทำการรวบรวมกลุ่มบริษัทที่คาดว่าจะใช้ไขมันทรานส์เป็นส่วนประกอบและอาจส่งผลต่อรายได้ปี 2562 มานำเสนอ โดยได้ทำการรวบรวมข้อมูลจากบทวิเคราะห์และข้อมูลการประกอบธุรกิจของบริษัทจากตลาดหลักทรัพย์ อาทิ MINT,AU,PB,TMILL,SNP,WINNER, LST,UPOIC,UVAN และ VPO ซึ่งประกอบธุรกิจดังนี้

บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT ซึ่งมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหารที่มีส่วนผสมของไขมันทรานส์ อาทิ เบอร์เกอร์ คิง (Burger King) , แดรี่ ควีน (Dairy queen), เดอะ พิซซ่า คอมปะนี (The Pizza Company)

บริษัท อาฟเตอร์ ยู จำกัด (มหาชน) หรือ AU ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจจำหน่ายขนมหวานภายใต้ชื่อ “ร้านอาฟเตอร์ ยู” และ “ร้านเมโกริ” ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ที่มีครีมเทียม วิปปิ้งครีม เป็นส่วนประกอบ

บริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน) หรือ PB ลักษณะธุรกิจผลิตและจำหน่ายขนมปัง และเบเกอรี่ ภายใต้แบรนด์ ฟาร์มเฮ้าส์ โดยมีสายธุรกิจแบ่งเป็น 1. ธุรกิจเบเกอรี่ค้าส่ง (Wholesale) 2. ธุรกิจค้าปลีก (Retail) 3. ธุรกิจฟาสต์ฟู้ด และร้านอาหาร / ภัตตาคาร (Fast food & Catering) 4. ธุรกิจส่งออก (Export)

บริษัท ที เอส ฟลาวมิลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TMILL ผลิตและจำหน่ายแป้งสาลี ได้แก่ แป้งบะหมี่สด แป้งขนมปัง แป้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แป้งบิสกิต แป้งเอนกประสงค์ แป้งอาหารสัตว์ เป็นต้น

บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) หรือ SNP ธุรกิจร้านอาหารและร้านเบเกอรี่ รวมทั้งจำหน่ายผลิตภัณฑ์ แบ่งเป็น 1) ร้านอาหารและร้านเบเกอรี่ในประเทศ 2) ร้านอาหาร ในต่างประเทศ 3) ผลิตและจำหน่ายสินค้าเบเกอรี่ อาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง ผ่านสาขาร้านอาหารและเบเกอรี่ และซุปเปอร์มาร์เก็ต รวมทั้งส่งสินค้าออกไปต่างประเทศ 4)ให้บริการที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ เช่น บริการจัดส่งอาหารถึงบ้าน และบริการรับจัดเลี้ยงนอกสถานที่

บริษัท วินเนอร์กรุ๊ป เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ WINNER ดำเนินธุรกิจนำเข้า ผลิต และจัดจำหน่ายวัตถุดิบ ส่วนผสม และเคมีภัณฑ์อาหารที่ใช้ในการแปรรูปอาหาร และเบเกอรี่อย่างครบวงจร ภายใต้ตราสินค้าชั้นนำระดับและภายใต้ตราสินค้าของบริษัทฯ เช่น ผลิตภัณฑ์แป้งมันฝรั่ง ตรา AVEBE ผลิตภัณฑ์ไข่ผง ตรา IGRECA และผลิตภัณ์โกโก้ ตรา JB Cocoa

อีกทั้งเป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อบริโภคภายใต้ตราสินค้าชั้นนำ เช่น ป๊อปคอร์นสำหรับไมโครเวฟ ตรา POP Secret ธัญพืชแท่ง ตรา Nature Valley และแป้งเบเกอรี่สำเร็จรูป ตรา Betty Crocker โดยบริษัทฯ มีสินค้าที่จัดจำหน่ายหลากหลายมากกว่า 500 รายการ ซึ่งผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ของบริษัทฯ จะนำเข้าจากผู้ผลิตในต่างประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมัน ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น เกาหลี และสิงคโปร์ เป็นต้น

บริษัท ล่ำสูง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ LST ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำมันปาล์ม น้ำมันพืช ไขมันพืชผสม และเนยเทียม ผักและผลไม้แช่แข็งหรือบรรจุกระป๋อง น้ำผลไม้ กาแฟ เครื่องดื่มต่างๆ และซอสปรุงรส โดยสินค้าที่เป็นที่รู้จักกันดีคือน้ำมันพืชตราหยก

บริษัท สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) หรือ UPOIC ผู้ดำเนินกิจการปลูกปาล์มน้ำมัน และมีโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันเมล็ดในปาล์มดิบ ซึ่งเป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น เช่น น้ำมันปรุงอาหาร เนยเทียม ไอศครีม สบู่ แชมพู ส่วนผสมอาหาร เคมีภัณฑ์ อาหารสัตว์ เป็นต้น และน้ำมันปาล์มยังเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตไบโอดีเซล ซึ่งเป็นพลังงานทางเลือก

บริษัท ยูนิวานิชน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) หรือ UVAN ดำเนินธุรกิจหลัก คือ สวนปาล์ม สกัดน้ำมันปาล์มดิบ และน้ำมันเมล็ดในปาล์มดิบ เพื่อจำหน่ายให้แก่โรงกลั่นน้ำมันปาล์มทั้งในและต่างประเทศ โดยมีผลิตภัณฑ์พลอยได้ คือ เมล็ดในปาล์ม กากเมล็ดในปาล์มและกะลาปาล์ม

บริษัท วิจิตรภัณฑ์ปาล์มออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ VPO ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบและผลพลอยได้จากการผลิตน้ำมันปาล์มดิบ รวมถึงธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากของเสียหรือสิ่งเหลือใช้จากกระบวนการสกัดน้ำมันปาล์มดิบ

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) ระบุว่า เมื่อวันที่ 13 ก.ค.61 ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษา ประกาศกท.สาธารณสุขเกี่ยวกับเรื่องไขมันทรานส์ โดยกำหนดวัตถุห้ามใช้ในอาหาร คือ น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (ยกเว้นการผลิตเพื่อส่งออก) หรือที่เรารู้จักกันว่า ไขมันทรานส์ ได้แก่ เนยขาว เนยเทียม มาการีน โดยกำหนดให้มีผลภายใน 180 วันนับจากวันที่ประกาศ หรือตั้งแต่เดือนม.ค. 2562 เป็นต้นไป

ทั้งนี้มองว่า การที่ พรบ.ไขมันทรานส์ โดยห้ามใช้ไขมันทรานส์ เป็นวัตถุดิบในอาหาร ทั้งนี้อาหารที่มีส่วนผสมของไขมันทรานส์สูงได้แก่ ครีมเทียม เนยเทียม เนยขาว มาการีน คุ้กกี้ โดนัท พัฟ พาย ขนมเวเฟอร์ต่างๆ

โดย ไขมันทรานส์ในประเทศไทยมาจาก 1) นำเข้าสินค้ามาโดยตรง เช่น พวกขนมต่างๆ และ 2) ผลิตจากการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Hydrogenated) เข้าไปในน้ำมันพืช ซึ่งส่วนใหญ่จะมาจากน้ำมันปาล์มเป็นหลัก ผู้ประกอบการน้ำมันปาล์มบ้านเรา มักมีกระบวนการผลิตไขมันทรานส์แทบทุกราย ส่วนน้ำมันถั่วเหลือง นำมาทำไขมันทรานส์ได้ แต่ไม่ค่อยนิยมเท่าน้ำมันปาล์ม

ทั้งนี้ TVO ไม่มีการผลิตไขมันทรานส์ และไม่มีการขายไปยังลูกค้าที่นำไปผลิตไขมันทรานส์ ลูกค้าหลักของ TVO ในส่วนของน้ำมันถั่วเหลืองคือ ผู้ผลิตอาหารกระป๋อง เช่น ทูน่ากระป๋อง และผู้ที่ซื้อไปใช้ในกระบวนการทอด

โดยการทอดในน้ำมันที่ใช้ความร้อนสูง หรือการทอดซ้ำๆก็ทำให้เกิดไขมันทรานส์ได้เช่นเดียวกัน แต่ไม่ได้ถูกครอบคลุมอยู่ในพรบ.ฉบับนี้ เพราะเป็นกระบวนการที่เกิดทางอ้อมไม่ได้ตั้งใจผลิตหรือใช้ไขมันทรานส์โดยตรง

สำหรับหุ้นที่คาดว่าได้รับผลกระทบจาก พรบ. ไขมันทรานส์ คือ หุ้นในกลุ่มน้ำมันปาล์ม, WINNER (มีนำเข้าสินค้าที่มีส่วนผสมของไขมันทรานส์เข้ามา) และผู้ประกอบการเบเกอรี่ ทั้งนี้ภาครัฐยังให้เวลาในการปรับตัวปรับสูตร แต่หุ้นกลุ่มน้ำมันปาล์มน่าจะได้รับผลกระทบมากกว่าคนอื่น

ด้านราคาหุ้น MINT ปิดวานนี้(16 ก.ค.)ที่ระดับ 33.75 บาท ลบ 1.00 บาท หรือ 2.88% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 388.36 ล้านบาท ส่วน AU  ปิดวานนี้ที่ระดับ 8.55 บาท ลบ 0.55 บาท หรือ 6.04% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 48.77 ล้านบาท ส่วน PB ปิดวานนี้ที่ระดับ 61.50 บาท ราคาหุ้นไม่เปลี่ยนแปลงด้วยมูลค่าซื้อขาย 1.88 ล้านบาท

ส่วน TMILL ปิดวานนี้ที่ระดับ 2.96 บาท ราคาหุ้นไม่เปลี่ยนแปลงด้วยมูลค่าซื้อขาย 4.38 ล้านบาท ส่วน SNP ปิดวานนี้ที่ระดับ 20.50 บาท ลบ 0.10 บาท หรือ 0.49% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 0.41 ล้านบาท และ WINNER ปิดวานนี้ที่ระดับ 3.26 บาท ลบ 0.02 บาท หรือ 0.61% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 0.85 ล้านบาท

ด้าน LST ปิดวานนี้ที่ระดับ 4.78 บาท บวก 0.10 บาท หรือ 2.14% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 2.44 ล้านบาท ส่วน UVAN ปิดวานนี้ที่ระดับ 7.60 บาท ลบ 0.10 บาท หรือ 1.30% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 0.88 ล้านบาทส่วน UPOIC ปิดวานนี้ที่ระดับ 4.08 บาท ราคาหุ้นไม่เปลี่ยนแปลงด้วยมูลค่าซื้อขาย 0.61 ล้านบาท และ VPO ปิดวานนี้ที่ระดับ 0.64 บาท ลบ 0.02 บาท หรือ 3.03% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 0.11 ล้านบาท

*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button