ส่องกำไร Q2/61 “กลุ่มแบงก์” KTB มาวิน! กระฉูดกว่าเท่าตัว ทะลุ 7.7 พันลบ.

ส่องกำไร Q2/61 "กลุ่มแบงก์" KTB มาวิน! กระฉูดกว่าเท่าตัว ทะลุ 7.7 พันลบ.


ทีมงาน ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์ ได้ทำการสำรวจและรวบรวมข้อมูลผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ทั้งหมด 11 แห่ง ภายหลังจากที่มีการประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2561 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2561 โดยเรียงลำดับตามเปอร์เซ็นต์เปลี่ยนแปลงของกำไรจากมาไปน้อย

ทั้งนี้ พบว่า ธนาคารที่ผลประกอบการเติบโตสูงที่สุดคือ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB โดยผลประกอบการไตรมาสดังกล่าวปรับตัวขึ้น 139% ขณะที่อันดับที่ 2 คือ บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ LHFG โดยผลประกอบการไตรมาสดังกล่าวปรับตัวขึ้น 30.80%

อย่างไรก็ตาม ธนาคารที่ผลประกอบการปรับตัวลดลง ได้แก่ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT โดยผลประกอบการไตรมาสดังกล่าวปรับตัวลดลง 46.3% รองลงมาคือ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB โดยผลประกอบการไตรมาสดังกล่าวปรับตัวลดลง 13%

อันดับที่ 1 ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB และบริษัทย่อย ประกาศผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 2/2561 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2561 มีกำไรสุทธิ 7.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 139% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไร 3.2 พันล้านบาท ขณะที่งวด 6 เดือนแรกปีนี้ มีกำไรสุทธิ 1.45 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% จากปีก่อนมีกำไร 1.18 หมื่นล้านบาท

โดยปัจจัยที่ส่งผลให้บริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้น มาจากการตั้งหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญลดลง 51.22% เหลือ 6.77 พันล้านบาท จากปีก่อน 1.39 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ยังมีรายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันปีก่อน แม้จะเริ่มชะลอตัวลงหลังประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านดิจิทัล

อันดับที่ 2 บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ LHFG รายงานผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 2/2561 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2561 มีกำไรสุทธิ 806.39 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.80% จากปีก่อนมีกำไร 616.50 ล้านบาท ขณะที่งวด 6 เดือนแรกมีกำไร 1.58 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.11% จากปีก่อนมีกำไร 1.20 พันล้านบาท

โดยปัจจัยที่ส่งผลให้บริษัทมีกำไรติบโต เนื่องจากมีรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 241.80 ล้านบาท โต 39% จากปีก่อนมีรายได้387.50 ล้านบาท ซึ่งมาจากรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ กำไรจากเงินลงทุนและรายได้เงินปันผล

อันดับที่ 3 ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) หรือ KKP รายงานผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 2/2561 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2561 มีกำไรสุทธิ 1.55 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.86% จากปีก่อน 1.19 พันล้านบาท ขณะที่งวด 6 เดือนแรกปีนี้มีกำไรสุทธิ 3.06 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.10% จากปีก่อนมีกำไร 2.71 พันล้านบาท

ปัจจัยที่ส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิเติบโต เนื่องจากมีรายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากการเติบโตของสินเชื่อ โดยรายได้ดอกเบี้ยของเงินให้สินเชื่อเพิ่มขึ้น 18.8% ขณะที่รายได้จากเช่าซื้อและสัญญาเช่าการเงินเพิ่มขึ้น 2.1% นอกจากนี้ รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการปรับตัวเพิ่มขึ้น 14.2% เทียบกับปีก่อนมาที่ 1.06 พันล้านบาท

อันดับที่ 4 บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TCAP รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2/61 (รวมบริษัทย่อย) สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.61 มีกำไรสุทธิ 2.05 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.45% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไร 1.67 พันล้านบาท ขณะที่งวด 6 เดือนแรกของปีนี้ มีกำไรสุทธิ 1.47 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 35.82% จากช่วงเดียวกันปีก่อนมีกำไร 1.08 พันล้านบาท

โดยปัจจัยที่ส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้จากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL Ratio) ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 2.35%

อันดับที่ 5 ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK และบริษัทย่อย ประกาศผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 2/2561 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2561 มีกำไรสุทธิ 1.1 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.48% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไร 8.99 พันล้านบาท ขณะที่งวด 6 เดือนแรกปีนี้ มีกำไรสุทธิ 2.17 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.18% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไร 1.92 หมื่นล้านบาท

โดยปัจจัยที่ส่งผลให้บริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย รวมถึงรายได้จากการรับประกันภัยที่ปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่นกว่า 70% มาที่ 1.7 พันล้านบาท

อันดับที่ 6 ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL และบริษัทย่อยประกาศผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 2/2561 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2561 มีกำไรสุทธิ 9.19 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.26% จากปีก่อนมีกำไร 8.05 พันล้านบาท ขณะที่งวด 6 เดือนแรกปีนี้ มีกำไร 1.82 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.30% จากปีก่อนมีกำไร 1.64 หมื่นล้านบาท

โดยปัจจัยที่ส่งผลให้บริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีรายได้ดอกเบี้ยและมิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ประกอบกับค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืมลดลงจากการไถ่ถอนหุ้นกู้ด้อยสิทธิ ครั้งที่ 1/2555 ก่อนวันครบกำหนดในเดือนธันวาคม 2560 และการไถ่ถอนหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีหลักประกันสกุลเงินต่างประเทศครบกำหนดในเดือนมีนาคม 2561

อันดับที่ 7 บริษัท บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2/61 (รวมบริษัทย่อย) สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.61 มีกำไรสุทธิ 1.71 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.57% จากปีก่อนมีกำไร 1.51 พันล้านบาท ขณะที่งวด 6 เดือนแรกปีนี้ มีกำไรสุทธิ 3.48 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% จากปีก่อนมีกำไร 3 พันล้านบาท

โดยปัจจัยที่ส่งผลให้ธนาคารมีกำไรสุทธิเติบโต เนื่องจากมีรายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 15% จากปีก่อน จากความสามารถในการรักษาอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อรวม และบริหารจัดการต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการรับโอนธุรกิจลูกค้ารายย่อยจากธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ไตรมาส 4/60

รวมทั้งมีรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 10.6% ซึ่งเป็นรายได้จากค่าธรรมเนียมจากธุรกิจธนาคารพาณิชย์ขยายตัวที่ระดับ 11.1% ตามการขยายตัวของธุรกิจนายหน้าประกันภัย รายได้ค่านายหน้าจากการขายหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น 16.4% และรายได้ค่าธรรมเนียมพื้นฐานของธุรกิจจัดการกองทุนเติบโต 15.7%

อันดับที่ 8 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2/61 (รวมบริษัทย่อย) สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.61 มีกำไรสุทธิ 6.27 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.85% จากปีก่อนมีกำไร 5.87 ล้านบาท ขณะที่งวด 6 เดือนแรกปีนี้ มีกำไรสุทธิ 1.25 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.44% จากปีก่อนมีกำไร 1.15 หมื่นล้านบาท

โดยปัจจัยที่ส่งผลให้บริษัทมีกำไรเติบโต เนื่องจากธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน

อันดับที่ 9 ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB และบริษัทย่อย ประกาศผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 2/2561 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2561 มีกำไรสุทธิ 1.11 หมื่นล้านบาท ลดลง 6.71% จากปีก่อนมีกำไร 1.19 หมื่นล้านบาท ขณะที่งวด 6 เดือนแรกปีนี้ มีกำไรสุทธิ 2.25 หมื่นล้านบาท ลดลง 5.66% จากปีก่อนมีกำไร 2.38 หมื่นล้านบาท

โดยปัจจัยที่ส่งผลให้บริษัทมีกำไรลดลง เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น รวมถึงรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยปรับตัวลดลง 6.2% จากการยกเลิกค่าธรรมเนียมการทำธุรการทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัล และการลดลงของรายได้สุทธิจากการรับประกันภัย

อันดับที่ 10 ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB และบริษัทย่อย ประกาศผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 2/2561 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2561 มีกำไรสุทธิ 2.03 พันล้านบาท ลดลง 13.02% จากปีก่อนมีกำไร 2.33 พันล้านบาท ขณะที่งวด 6 เดือนแรกปีนี้มีกำไร 4.31 พันล้านบาท ลดลง 2.71% จากปีก่อนมีกำไร 4.43 พันล้านบาท

โดยปัจจัยที่ส่งผลให้ธนาคารมีกำไรลดลง เนื่องจากบริษัทมีค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 3.4% จากไตรมาสก่อน และ 4.5% จากปีก่อนมาอยู่ที่ 2,600 ล้านบาท เป็นผลมาจากต้นทุนทางการเงิน (cost of fund) ที่สูงขึ้นและปริมาณเงินฝากที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งมีการตั้งสำรองเพิ่มขึ้น 3.6% จากปีก่อน

อันดับที่ 11 ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT รายงานผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 2/61 และงวด 6 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย. 61 มีกำไรสุทธิ 191.23 ล้านบาท ลดลง 46.38% จากปีก่อนมีกำไร 356.64 ล้านบาท ขณะที่งวด 6 เดือนแรกปีนี้ มีกำไร 360.12 ล้านบาท ลดลง 24.64% จากปีก่อนมีกำไร 477.84 ล้านบาท

โดยปัจจัยที่ส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิลดลง เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน อีกทั้งบริษัทตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน

Back to top button