“ไขมันทรานส์” สะเทือนวงการหุ้นอาหาร!
ย้อนรอยข่าวดัง “ไขมันทรานส์” กับบริษัทจดทะเบียน
อีกหนึ่งข่าวที่เป็นประเด็นให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) หายใจไม่ทั่วท้องเห็นทีคงหนีไม่พ้นประเด็นของ “ไขมันทรานส์” ซึ่งทันทีที่มีพ.ร.บ.ห้ามผลิต และนำเข้าไขมันประเภทดังกล่าวเข้ามา ส่งผลให้ผู้ถือหุ้นหลายๆ คนเกิดอาการแพนิกและทำการขายหุ้นที่มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบจากพ.ร.บ.ดังกล่าวออกมา
โดยกลุ่มธุรกิจของบริษัทฯ จดทะเบียนที่ใช้ไขมันทรานส์เป็นส่วนประกอบจะเป็นหุ้นในกลุ่มอาหาร ซึ่งมีการคาดการ์ณว่าหลังจากพ.ร.บ.มีผลบังคับใช้ในปี 2562 อาจจะส่งผลกระทบต่อรายได้ และต้นทุนอย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ เรื่องราวดังกล่าวเกิดกระแสพูดถึงอย่างแพร่หลาย นับตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 กรกฏาคม 2561 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศของกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย โดยมีเนื้อหาว่า โดยปรากฏหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนว่า กรดไขมันทรานส์ (Trans Fatty Acids) จากน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partially Hydrogenated Oils) ส่งผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
โดยจากการตรวจสอบข้อมูลของ “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” พบว่า ไขมันทรานส์ เป็นไขมันไม่อิ่มตัวซึ่งพบได้ไม่บ่อยในธรรมชาติ แต่สามารถสังเคราะห์ขึ้นได้ ไขมันทรานส์คือไขมันที่เกิดจากการแปรรูป จึงสามารถเก็บรักษาไว้ได้นาน
รวมถึงมีรสชาดที่ใกล้เคียงกับไขมันที่มาจากสัตว์ แต่จะมีราคาที่ถูกกว่า บรรดาผู้ประกอบกิจการอาหารต่างๆ มักนิยมนำไขมันทรานส์มาใช้ประกอบอาหารมากมาย เช่น กลุ่มอาหารฟาสต์ฟู้ด ซึ่งใช้เป็นน้ำมันสำหรับทอดไก่ มันฝรั่ง โดนัท หรือการนำมาใช้ในการประกอบกิจการเบเกอรี่ ขนมขบเคี้ยว ครีมเทียม และวิปปิ้งครีม เป็นต้น
นอกจากประเด็นดังกล่าว จะเกี่ยวข้องกับผู้บริโภคแล้ว ยังเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มอาหาร เพราะส่วนใหญ่จะมีการนำไขมันประเภทดังกล่าวเป็นวัตถุดิบหลัก
สำหรับอาหารที่มีการปนเปื้อนของกรดไขมันทรานส์จากข้อมูลสถาบันโภชนาการมหาวิทยาลัยมหิดลมีดังนี้
เปิดชื่อ 8 หุ้นอาหารเสี่ยงเจอผลกระทบพ.ร.บ.“ไขมันทรานส์”
สำหรับบริษัทที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจะเป็นกลุ่มอาหารประเภทของหวานที่ใช้ เนย วิปปิ้งครีม ชีส อยู่ในเมนูอาหารแทบจะทุกเมนู ซึ่งบริษัทจดทะเบียนที่มีอาหารประเภทดังกล่าวมากที่สุด ได้แก่ บริษัท อาฟเตอร์ ยู จำกัด (มหาชน) หรือ AU ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจจำหน่ายขนมหวานภายใต้ชื่อ “ร้านอาฟเตอร์ ยู” และ “ร้านเมโกริ” ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ที่มีครีมเทียม วิปปิ้งครีม เป็นส่วนประกอบ
รวมถึง บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT ซึ่งมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหารที่มีส่วนผสมของไขมันทรานส์ อาทิ เบอร์เกอร์ คิง (Burger King) , แดรี่ ควีน (Dairy queen), เดอะ พิซซ่า คอมปะนี (The Pizza Company) และเอส เอส พี (S&P) เป็นต้น
บริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน) หรือ PB ลักษณะธุรกิจผลิตและจำหน่ายขนมปัง และเบเกอรี่ ภายใต้แบรนด์ ฟาร์มเฮ้าส์ โดยมีสายธุรกิจแบ่งเป็น 1. ธุรกิจเบเกอรี่ค้าส่ง (Wholesale) 2. ธุรกิจค้าปลีก (Retail) 3. ธุรกิจฟาสต์ฟู้ด และร้านอาหาร / ภัตตาคาร (Fast food & Catering) 4. ธุรกิจส่งออก (Export)
บริษัท ที เอส ฟลาวมิลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TMILL ผลิตและจำหน่ายแป้งสาลี ได้แก่ แป้งบะหมี่สด แป้งขนมปัง แป้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แป้งบิสกิต แป้งเอนกประสงค์ แป้งอาหารสัตว์ เป็นต้น
บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) หรือ SNP ธุรกิจร้านอาหารและร้านเบเกอรี่ รวมทั้งจำหน่ายผลิตภัณฑ์ แบ่งเป็น 1) ร้านอาหารและร้านเบเกอรี่ในประเทศ 2) ร้านอาหาร ในต่างประเทศ 3) ผลิตและจำหน่ายสินค้าเบเกอรี่ อาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง ผ่านสาขาร้านอาหารและเบเกอรี่ และซุปเปอร์มาร์เก็ต รวมทั้งส่งสินค้าออกไปต่างประเทศ 4)ให้บริการที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ เช่น บริการจัดส่งอาหารถึงบ้าน และบริการรับจัดเลี้ยงนอกสถานที่
บริษัท วินเนอร์กรุ๊ป เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ WINNER ดำเนินธุรกิจนำเข้า ผลิต และจัดจำหน่ายวัตถุดิบ ส่วนผสม และเคมีภัณฑ์อาหารที่ใช้ในการแปรรูปอาหาร และเบเกอรี่อย่างครบวงจร ภายใต้ตราสินค้าชั้นนำระดับและภายใต้ตราสินค้าของบริษัทฯ เช่น ผลิตภัณฑ์แป้งมันฝรั่ง ตรา AVEBE ผลิตภัณฑ์ไข่ผง ตรา IGRECA และผลิตภัณ์โกโก้ ตรา JB Cocoa
นอกจากนี้ยังมี บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TKN ผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายสาหร่ายแปรรูปทั้งในและต่างประเทศภายใต้ตราสินค้า “เถ้าแก่น้อย” รวมถึงขนมขบเคี้ยว และผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพประเภทอื่นๆ และบริษัท ที.เอ.ซี. คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TACC ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ที่คาดว่ามีส่วนผสมของไขมันทรานส์ประกอบอยู่ด้วย อาทิ เช่น โดนัท และเครื่องดื่มประเภททรีอินวัน
ขณะที่ภายหลังจากพ.ร.บ.ดังกล่าวประกาศออกมาส่งผลให้ราคาหุ้นในกลุ่มดังกล่าวปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะราคาหุ้น AU ในวันที่ 16 ก.ค. ปรับตัวลดลง 0.55 บาท หรือ 6.04% ขณะที่ MINT ปรับตัวลดลง 1 บาท หรือ 2.88%
ด้านราคาหุ้น TKN ปรับตัวลดลง 0.40 บาท หรือ 2.68% อีกทั้งราคาหุ้น TACC ปรับตัวลดลง 0.06 บาท หรือ 1.43%
ทั้งนี้สาเหตุของการที่ราคาหุ้นปรับตัวลดลงอย่างหนักมาจากความกังวลว่ารายได้ของบริษัทดังกล่าวจะปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ยังไม่มีความชัดเจนว่า วัตถุดิบต่างๆ นั้น มีส่วนผสมของไขมันทรานส์หรือไม่ และหากมีส่วนผสมดังกล่าวจริง ผู้บริหารจะแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างไร?
ร้อนถึงผู้บริหารบริษัทต่างๆ ต้องออกมาชี้แจงว่า ผลิตภัณฑ์ของตนไม่ได้ใช้ไขมันทรานส์ และไม่มีไขมันประเภทดังกล่าวเป็นส่วนผสม
ไล่เลียงจาก บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TKN โดย นายอิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TKN เปิดเผยถึงกรณีที่กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partially Hydrogenated Oils) โดยมีผลบังคับใช้หลัง 180 วันนับแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ทั้งนี้ “เถ้าแก่น้อย” มีสินค้าสาหร่ายทอดที่ใช้น้ำมันปาล์มเป็นส่วนประกอบในกระบวนการผลิต บริษัทขอยืนยันว่าสินค้าดังกล่าวไม่ใช้น้ำมันที่มีการเติมไฮโดรเจนในกระบวนการผลิตแต่อย่างใด โดยมีการตรวจสอบและรับรองจากผู้ผลิตเพื่อระบุบนข้อมูลโภชนาการ Trans Fat 0% ในบรรจุภัณฑ์ต่างประเทศอยู่แล้ว เนื่องจากบริษัทมีการส่งออกสินค้าไปกว่า 50 ประเทศทั่วโลกและมาตรฐานดังกล่าวมีการบังคับใช้ในบางประเทศ โดยบริษัทอยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงข้อมูลบนบรรจุภัณฑ์ในประเทศต่อไป
ส่วนผลิตภัณฑ์อื่นของบริษัท เช่น สาหร่ายย่างไม่มีการใช้น้ำมันในกระบวนการผลิตแต่อย่างใด สาหร่ายอบใช้น้ำมันข้าวโพดซึ่งไม่มีการเติมไฮโดรเจนในการผลิตเช่นกัน อย่างไรก็ดีตามนโยบายบริหารความเสี่ยง บริษัทได้ดำเนินการตรวจสอบส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ทุกประเภทกับทางผู้ผลิต เพื่อยืนยันความถูกต้องอีกครั้ง
ด้าน บริษัท ที.เอ.ซี. คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TACC นายชนิต สุวรรณพรินทร์ กรรมการ TACC เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย กรดไขมันทรานส์ (Trans Fatty Acids) จากน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partially Hydrogenated Oils) นั้น บริษัทยืนยันว่า สินค้าโดนัท ภายใต้แบรนด์ “A Smile” ของบริษัทไม่ใช้น้ำมันที่มีการเติมไฮโดรเจนในกระบวนการผลิต หรือมีส่วนผสมของไขมันทรานส์แต่อย่างใด
ด้านบริษัทหลักทรัพย์เอเซียพลัส ออกบทวิเคราะห์โดยระบุถึงประเด็นดังกล่าวว่า จากการสำรวจบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์ พบว่ามีหลายบริษัทที่ผลิตและจำหน่ายขนมปังหรือเบเกอรี เช่น บริษัท เพรซิเด้นท์ เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน) หรือ PB เจ้าของแบรนด์ฟาร์มเฮ้าส์ มีรายได้หลักจากขายเบเกอรี 90% ของยอดขาย,บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) หรือ SNP รายได้จาก 42% ตามด้วย บมจ.อาฟเตอร์ยู (AU), บริษัทโรงแรมเซ็นทรัลพลาซา (CENTEL) และบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT)
โดยฝ่ายวิจัยได้สอบถามไปยัง CENTEL, MINT และ AU ได้รับคำตอบว่า การห้ามใช้ไขมันทรานส์ น่าจะกระทบกำไรเล็กน้อย และแต่ละรายมีแนวทางในการปรับสูตรให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งหากต้นทุนสูงขึ้นก็สามารถผลักภาระไปยังผู้บริโภค โดยการขึ้นโดยการขึ้นราคาขายหรือคงราคาเดิม แต่ปรับลดขนาดและปริมาณลง
อย่างไรก็ตาม คำชี้แจงต่างๆ ของบริษัทจดทะเบียนกลับไม่ได้ทำให้สถานการณ์ราคาหุ้นดีขึ้น เพราะราคาหุ้นที่ทรุดลงไปเนื่องจาก พ.ร.บ.ดังกล่าว นั้น เป็นแค่ปัจจัยหนึ่งที่กระทบราคาหุ้นในกระดานเท่านั้น
ส่วนความเชื่อมั่นในเรื่องผลประกอบการ และพื้นฐานของบริษัทยังไม่แข็งแกร่งต่างหากที่เป็นปัจจัยหลักส่งผลให้ราคาหุ้นยังอยู่ในช่วงขาลง จึงต้องย้อนกลับมาจับตามองผลประกอบการไตรมาส 2 ที่ว่าเป็นไตรมาสที่แย่ที่สุดสำหรับบจ. แล้วบจ.เหล่านี้จะทำผลงานได้หรือไม่ และจะดึงความเชื่อมั่นกลับมาได้มากน้อยแค่ไหน?