DTAC กลับลำยื่นประมูล 1800MHz วันนี้! ครวญคลื่น 900 MHz ความเสี่ยงสูง-ต้นทุนบาน

จับตา DTAC กลับลำยื่นประมูล 1800MHz วันนี้! หลังมองคลื่น 900 MHz เสี่ยงเจอต้นทุนบาน


บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC แจ้งว่า บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทจะทำการยื่นเอกสารเพื่อเข้าร่วมประมูลและเพื่อขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1800MHz ต่อสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในวันที่ 8 สิงหาคม 2561 โดยบริษัทจะแจ้งให้ทราบถึงผลและความคืบหน้าในเรื่องนี้ต่อไป

สำหรับการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ตามประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 890 -895 /935 -940 MHz ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2561 นั้น บริษัท (รวมถึงบริษัทในเครือ) จะไม่เข้าร่วมการประมูลและจะไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ตามประกาศฯ ดังกล่าว

ด้าน นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ DTAC เปิดเผยว่า บริษัทได้พิจารณากฎเกณฑ์การประมูลอย่างถี่ถ้วนและมีผลสรุปจะที่ยื่นเอกสารเพื่อเข้าร่วมประมูลและเพื่อขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1800 MHz หลังจากที่ กสทช. ได้ประกาศปรับเงื่อนไขกฎเกณฑ์การประมูลคลื่น 1800 MHz ให้มีความยืดหยุ่นสำหรับผู้เข้าประมูล และยังช่วยส่งเสริมการแข่งขันในการประมูลด้วย DTAC มีความพยายามที่จะจัดหาคลื่นความถี่ 1800 MHz มาใช้งานเพื่อให้บริการลูกค้าอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ DTAC ประกาศไม่เข้าร่วมการประมูลและจะไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ซึ่งก่อนหน้านี้ คณะผู้บริหารได้เคยชี้แจงเกี่ยวกับข้อกังวลในเงื่อนไขที่ระบุเพิ่มในประกาศหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ (IM) อันจะส่งผลต่อความเสี่ยงในการดำเนินงานและความไม่แน่นอนด้านงบประมาณค่าใช้จ่ายของผู้ชนะประมูลโดยประกาศหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าวที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ระบุให้ผู้ชนะการประมูลใบอนุญาตคลื่น 900 MHz จะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการรบกวนกันของคลื่นความถี่และการรบกวนระบบอาณัติสัญญาณของระบบคมนาคมขนส่งทางรางทั้งหมดที่จะสร้างขึ้นต่อไปในอนาคตแต่เพียงผู้เดียว

นอกจากนั้น กสทช. ยังขอสงวนสิทธิ์ที่จะปรับเปลี่ยนการใช้คลื่นความถี่เป็นช่วง 885-890/930-935 MHz ในกรณีที่จำเป็น โดยผู้ชนะการประมูลจะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการป้องกันการรบกวนคลื่นความถี่ ซึ่งในกรณีจะต้องติดตั้งวงจรกรองสัญญาณ (filter) ณ สถานีฐานของผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz เพิ่มเติมจากที่ต้องดำเนินการในกรณีแรก ทำให้เกิดผลกระทบต่อความเสี่ยงและความไม่แน่นอนในการดำเนินงานของผู้ชนะใบอนุญาตคลื่น 900 MHz

” DTAC ยังคงเดินหน้าเจรจากับ กสทช. เรื่องมาตรการคุ้มครองลูกค้าใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ร่วมกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการใช้งานของลูกค้า DTAC หลังจากสิ้นสุดสัมปทานระหว่าง DTAC และ CAT ในวันที่ 15 กันยายน 2561 DTAC ได้ปฏิบัติตามประกาศ กสทช. อย่างเคร่งครัดที่จะให้บริการอย่างต่อเนื่องสำหรับลูกค้าจำนวนมากที่ยังคงใช้งานอยู่บนคลื่น 850 MHz และ 1800 MHz เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของลูกค้า โดยถือเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบร่วมกันระหว่าง DTAC และ กสทช. ที่จะดำเนินตามแผนคุ้มครองลูกค้า ตามที่ กสทช. ได้เคยดำเนินการร่วมกับผู้ให้บริการรายอื่นในช่วงสิ้นสุดสัมปทานที่ผ่านมา โดยตามหลักการนั้น มาตรการคุ้มครองลูกค้าให้ใช้งานบนคลื่นความถี่จะมีผลอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะมีการจัดสรรคลื่นให้ผู้บริการรายใหม่” นายลาร์ส กล่าว

 

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ DTAC เปิดเผยว่า จะเข้าประมูลคลื่น 900MHz โดยมีเงื่อนไขว่า หาก DTAC เข้าร่วมประมูลคลื่น และชนะการประมูล DTAC มีความจำเป็นต้องขอใช้คลื่นทั้งหมด 10 MHz ตามสัมปทานเดิมไปก่อนเป็นเวลาประมาณ 2 ปี ระหว่างที่ยังไม่ได้มีคลื่นย่านนี้ไปใช้ในกิจการรถไฟความเร็วสูงของรัฐบาล เนื่องจากปัจจุบัน DTAC มีจำนวนอุปกรณ์สถานีฐานภายใต้ระบบสัมปทานอยู่ประมาณ 13,000 สถานี ที่จะต้องใช้เวลาในการปรับปรุงการใช้งานให้สอดคล้องกับคลื่นย่านใหม่ด้วย

ทั้งนี้ กสทช. ได้กำหนดวันประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ในวันที่ 18 ส.ค.61 โดยหากมีผู้เข้าร่วมประมูลคลื่นดังกล่าวเพียง 1 ราย กสทช. จะดำเนินการยืดระยะเวลาออกไปอีก 30 วัน นับจากวันประมูล เพื่อขยายโอกาสให้ผู้ประกอบการค่ายมือถือรายอื่นได้เข้าร่วมประมูล และจะเข้าสู่กระบวนการเยียวยาทันที ในกรณีที่ DTAC ต้องเข้าประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz เท่านั้น ซึ่งหาก DTAC ไม่เข้าร่วมประมูลก็จะไม่ได้รับสิทธิในการเยียวยา ซึ่งทาง DTAC จะต้องเร่งดำเนินการย้ายลูกค้าไปยังคลื่นที่มีอยู่ก่อนหมดสัมปทานคลื่น 850 MHz และ 1800 MHz ในวันที่ 15 ก.ย.61

สำหรับกรอบเวลาในการจัดการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz จะดำเนินการคู่ขนานกันไป ดังนี้

– วันที่ 5 ก.ค.61 จะนำร่างประกาศหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ทั้งย่าน 1800 MHz และ 900 MHz ทั้งสองฉบับไปประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา

– วันที่ 6 ก.ค.-7 ส.ค.61 ดำเนินการเชิญชวนและรับเอกสารคำขอผู้สนใจเข้าร่วมการประมูล

– วันที่ 8 ส.ค.61 เปิดให้ยื่นคำขอเพื่อเข้าร่วมการประมูล

– วันที่ 9-13 ส.ค.61 พิจารณาคุณสมบัติผู้มีสิทธิเข้าร่วมการประมูล

– วันที่ 15 ส.ค.61 ประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติ

– วันที่ 16-17 ส.ค.61 ชี้แจงกระบวนการประมูลและ Mock Auction

– วันเสาร์ที่ 18 ส.ค.61 กำหนดให้เป็นวันประมูลคลื่น 900 MHz

– วันอาทิตย์ที่ 19 ส.ค.61 กำหนดให้เป็นวันประมูลคลื่น 1800 MHz

 

Back to top button