DTAC ยกเหตุ “ไฮสปีด เทรน” จีนใช้คลื่น 900MHz เลี่ยงประมูล ปูทางขอรับมาตรการเยียวยา!

DTAC ยกเหตุ "ไฮสปีด เทรน" จีนใช้คลื่น 900MHz เลี่ยงประมูล ปูทางขอรับมาตรการเยียวยา!


นายราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC เปิดเผยถึงเหตุผลที่ไม่เข้าร่วมประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) หลังมีความเห็นว่าต้นทุนในการบริหารจัดการค่อนข้างสูง โดยเฉพาะการที่หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูลคลื่นกำหนดให้ผู้ชนะประมูลต้องรับผิดชอบระบบป้องกันการรบกวนสัญญาณกิจการระบบราง

ทั้งนี้ เนื่องจากในทางปฏิบัติค่อนข้างลำบากที่จะเข้าไปติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันสัญญาณรบกวนในพื้นที่ของโอเปอเรเตอร์รายอื่นและพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยเฉพาะไม่ทราบจำนวนว่าจะต้องติดตั้งจำนวนมากแค่ไหน และกรณีที่ผู้ชนะประมูลต้องมีความรับผิดถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นเกิดขึ้นกับการเดินรถ ประกาศหลักเกณฑ์กำหนดให้ผู้ชนะต้องรับผิดชอบระบบป้องกันสัญญาณรบกวน

พร้อมยกตัวอย่างการเดินรถไฟฟ้าในประเทศจีนใช้คลื่นความถี่ย่าน 450 MHz บนเทคโนโลยี LTE-R หากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ย้ายให้ รฟท.ไปใช้คลื่น 450 MHz ก็สามารถทำได้ จากนั้นจึงเอาคลื่น 900 MHz นำมาประมูล ซึ่งหากทำได้ ถึงเวลานั้นดีแทคจะดูอีกครั้งว่า กสทช. จะมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการประมูลด้วยหรือไม่อย่างไร

ดังนั้น ดีแทคจึงเสนอทางออกต่อ กสทช. 3 แนวทาง คือ 1. ให้รฟท.ใช้ 450 MHz ในการเดินรถไฟฟ้า แล้วนำคลื่น 900 MHz จำนวน 10 เมกกะเฮิรตซ์ มาประมูล ส่วนหากกังวลเนื่องรบกวนสัญญาณ ให้ทำอุปกรณ์สำคัญอย่างเหมาะสม 2. ทุกฝ่ายที่ใช้คลื่น 900 MHz เหมือนเดิม โดยให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการใช้คลื่น ไปติดอุปกรณ์ป้องกันการรบกวนสัญญาณของตัวเอง แล้วเอาค่าใช้จ่ายไปเก็บกับ กสทช. และ 3.ใช้คลื่น 900 MHz แต่ย้ายสล็อตให้ รฟท. ไปใช้สล็อตที่อยู่ช่วงต้นของคลื่น 900 MHz แต่แนวทางนี้คนที่จะเกิดปัญหาคือผู้ให้บริการรายเดียวที่ต้องติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันการรบกวนสัญญาณ วิธีนี้โอเปอเรเตอร์รายนั้นอาจไม่เห็นด้วย

“ตอนที่ดีแทคเอาคลื่น 850 MHz ที่เคยมีสัมปทานไปคืนกสทช.ก็เคยบอกว่า ไม่ควรเอาคลื่น 850 MHz ไปใช้กับกิจการรถไฟ เราคิดว่าการให้ รฟท. ย้ายไปใช้คลื่นย่านอื่นที่ไม่ใช่ทั้ง 850 MHz และ 900 MHz ดีแทคสนับสนุนให้ กสทช.ทบทวนการใช้คลื่นของ รฟท.จะเป็นหนทางที่ดีที่สุด เมื่อ รฟท.ไม่ใช่คลื่น 850 MHz และ 900 MHz แล้วก็เอามาประมูลได้” นายราจีฟ กล่าว

ขณะที่ปัญหาอีกประเด็นคือ ดีแทคใช้คลื่นย่าน 850 MHz มาตลอด โดยมีเสาอากาศและสถานีฐาน 13,000 ต้น อุปกรณ์ของคลื่นย่าน 850 MHz ใช้กับคลื่น 900 MHz ไม่ได้ เมื่อกสทช.เอาคลื่น 850 MHz มาปรับปรุงเป็นคลื่น 900 MHz ดีแทคต้องติดตั้งสถานีฐานใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปี จึงต้องดูต่อไปว่า กสทช. มองปัญหานี้อย่างไร

ด้าน กสทช. ระบุว่า สาเหตุที่ทาง DTAC ไม่เข้าร่วมประมูลย่านความถี่ 900 MHz เนื่องจากเงื่อนไขของผู้ชนะประมูลที่จะต้องเป็นผู้ติดตั้งระบบป้องกันการรบกวนคลื่นความถี่ยังไม่มีความชัดเจน และคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ได้มีการจัดสรรให้กับกระทรวงคมนาคมเพื่อใช้ในกิจการรถไฟความเร็วสูงไปจำนวน 5 MHz จึงเห็นว่ายังมีความเสี่ยงอยู่ ซึ่งหากมีความชัดเจนก็มีความประสงค์จะนำคลื่นความถี่ดังกล่าวไปใช้งาน

โดยปัจจัยดังกล่าว กสทช.จะนำไปพิจารณาหลังจากไม่มีผู้ประสงค์เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ เนื่องจากคลื่นความถี่ดังกล่าวเป็นคลื่นความถี่ในย่านเศรษฐกิจ แต่เป็นความต้องการของรัฐบาล กสทช.ต้องให้กระทรวงคมนาคมเพื่อใช้ในกิจการรถไฟความเร็วสูง

สำหรับมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ 850 MHz ของ DTAC ยังคงยึดตามมติที่ประชุม กสทช. เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2561 ที่ระบุว่า DTAC จะต้องแสดงความประสงค์จะใช้คลื่นความถี่ 900 MHz ด้วยการเข้าประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าว แต่วานนี้ (8 ส.ค. 2561) DTAC ไม่ได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ดังนั้นจึงไม่ได้รับสิทธิเข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม หาก DTAC ทำหนังสือมายัง กสทช.ขอให้ทบทวนมติดังกล่าว กสทช.จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมเพื่อพิจารณาต่อไป ส่วนคลื่นความถี่ 1800 MHz ทาง DTAC จะได้รับสิทธิเข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการ เนื่องจากได้แสดงความประสงค์จะใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz ด้วยการเข้าประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าว

Back to top button